ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะของการเมืองช่วงปี ๒๕๕๘ ดูเหมือนจะสงบพอสมควรเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในปีก่อนๆ ภาพของความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมดูเหมือนถูกกดทับให้เลือนรางไปชั่วคราว ทว่า รากเหง้าของความขัดแย้งดั้งเดิมยังมิได้รับการจัดการให้คลี่คลายลงไป อีกทั้งร่องรอยของเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่ก็เริ่มอุบัติขึ้นมา ความขัดแย้งที่ถูกกดทับเอาไว้มีทั้งความขัดแย้งเชิงความเชื่อ และความขัดแย้งเชิงอำนาจ
ความขัดแย้งเชิงความเชื่อเป็นความขัดแย้งระหว่างความเชื่อในการให้คุณค่าต่อการดำรงอยู่และสถานภาพของสถาบันตามประเพณีดั้งเดิมของสังคมไทย กับความเชื่อในลักษณะที่ตรงกันข้ามซึ่งแสดงออกโดยการวิพากษ์วิจารณ์และการโจมตีอย่างรุนแรงต่อสถาบันดั้งเดิม
การกระทำของฝ่ายที่มีความเชื่ออันเป็นปรปักษ์ต่อสถาบันดั้งเดิมของสังคมไทยดำรงอยู่อย่างเป็นขบวนการซึ่งกระทำต่อเนื่องมายาวนานพอสมควร และมีการขยายตัวมากขึ้นในช่วงการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เป็นต้นมา กลุ่มดังกล่าวได้ผสานเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเสื้อแดง อาศัยมวลชนเสื้อแดงเป็นเป้าหมายในการขยายความเชื่อ และใช้ทรัพยากรของกลุ่มนายทุนนักการเมืองเสื้อแดงเป็นเครื่องมือและช่องทางในการเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของพวกเขา
วลีที่พวกเขาใช้เรียกผู้ที่ถูกเปลี่ยนความคิดและความเชื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับพวกเขาคือ “ตาสว่าง”
เมื่อกลุ่มทุนการเมืองเสื้อแดงครองอำนาจรัฐช่วงปี ๒๕๕๔ ถึง ๒๕๕๖ การขยายความเชื่อก็ยิ่งเป็นไปอย่างกว้างขวางและก้าวร้าวยิ่งขึ้น เพราะดูเสมือนว่าผู้ครองอำนาจรัฐในยุคดังกล่าวมิได้แสดงออกให้เห็นถึงการสร้างความเข้าใจและยับยั้งการโจมตีประการใด กลับมีแนวโน้มปล่อยปละละเลยและหลับตาไว้ข้างหนึ่ง ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์ต่างๆมีประสิทธิภาพและสามารถเข้าถึงได้ง่าย จึงทำให้การผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ทางโลกออนไลน์เป็นไปอย่างง่ายดายโดยไม่มีข้อจำกัดทั้งในกาละและเทศะอีกต่อไป
ขณะเดียวกันกลุ่มที่ยึดถือคุณค่าดั้งเดิมอย่างเข้มข้นก็ได้ออกมาปกป้องสิ่งที่พวกเขาเชื่ออย่างแข็งขัน และเรียกร้องให้รัฐจัดการกับอีกกลุ่มอย่างเด็ดขาด โดยการใช้มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างเข้มข้น ต่อมาเมื่อมีการรัฐประหารเมื่อต้นปี ๒๕๕๗ รัฐบาลที่มีฐานอำนาจจากรัฐประหารก็ได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มต่อต้านสถาบันดั้งเดิมอย่างเข้มงวดและรุนแรงยิ่งขึ้น ผลที่ตามมาคือกลุ่มต่อต้านจำนวนไม่น้อยได้หลบหนีออกไปจากประเทศ ส่วนผู้ที่อยู่ภายในประเทศจำนวนไม่น้อยก็ถูกจับกุมและตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมด้วยอัตราโทษที่สูง
แต่ดูเหมือนว่ามาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดมิอาจเปลี่ยนแปลงความคิดและความเชื่อกลุ่มต่อต้านได้ หากแต่เป็นการบีบให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการลงสู่ใต้ดินมากยิ่งขึ้น และทำให้ผู้ต่อต้านบางคนกลายเป็นวีรบุรุษภายในกลุ่มเดียวกัน อีกทั้งการต่อต้านสถาบันดั้งเดิมก็มิได้ลดลงแต่ประการใด เพียงแต่ฐานการต่อต้านได้ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ
กล่าวได้ว่ากระแสความคิดของสังคมสมัยใหม่ในปัจจุบันและอนาคต การใช้มาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงเกินไปต่อกลุ่มที่มีความเชื่อและค่านิยมที่แตกต่างมิใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่ดี ทั้งยังอาจสร้างผลกระทบที่คาดไม่ถึงขึ้นมาได้ เพราะว่าแนวโน้มกระแสความคิดและความเชื่อของสังคมสมัยใหม่ทั้งระดับนานาชาติและภายในประเทศนั้นให้น้ำหนักกับความสมเหตุสมผลของกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักคิดประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
การรักษาสถาบันดั้งเดิมอันทรงคุณค่าของสังคมไทยให้มีความยั่งยืน จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลนี้และรัฐบาลต่อๆไปในการทำความเข้าใจกับสถานการณ์และแนวโน้มในเรื่องนี้อย่างละเอียด และกำหนดมาตรการจัดการความขัดแย้งอย่างสมเหตุสมผล เป็นธรรม และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย แต่หากรัฐบาลไร้ความสามารถในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการทำอย่างหย่อนยานเกินไป หรือทำอย่างแข็งตึงเกินไป ล้วนสร้างโอกาสที่ทำให้ความขัดแย้งในเรื่องนี้ขยายตัวและปะทุออกมาอย่างรุนแรงมากขึ้นทั้งสิ้น
ด้านความขัดแย้งในเชิงอำนาจการเมืองมีตัวละครเกี่ยวข้องหลายกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มอำนาจหลักในปัจจุบันคือรัฐบาลทหารและเครือข่ายราชการ กลุ่มที่สองคือกลุ่มระบอบทักษิณ กลุ่มที่สามคือกลุ่มการเมืองที่ไม่อยู่ในเครือข่ายของระบอบทักษิณ กลุ่มที่สี่คือกลุ่มทุน กลุ่มที่ห้าคือกลุ่มนักวิชาการและปัญญาชน และกลุ่มที่หกคือกลุ่มการเมืองภาคประชาชน
แต่ละกลุ่มมีปัญหาและความต้องการแตกต่างออกไป และอาจมีจุดเน้นหรือให้ความสำคัญกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ประเด็นร่วมที่จะทำให้ความปรารถนาของกลุ่มเหล่านั้นเข้ามาปะทะผสานกัน ซึ่งอาจมีผลลัพธ์ออกมาในทางที่สงบราบรื่นหรืออาจเป็นชนวนที่ทำให้ความขัดแย้งปะทุออกมาก็ได้มี ๓ ประเด็นหลัก คือ การลงประชามติรัฐธรรมนูญ การพิจารณาคดีต่อกลุ่มระบอบทักษิณ และความสามารถของรัฐบาลในการบริหารประเทศและจัดการความขัดแย้ง
การลงประชามติรัฐธรรมนูญจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้กลไกการกดทับความขัดแย้งหย่อนประสิทธิภาพลงไป ด้วยรัฐบาลมีความจำเป็นต้องเปิดให้กลุ่มต่างๆในสังคมแสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง มิฉะนั้นก็อาจถูกตำหนิและครหาได้ว่าปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและทำให้การตัดสินใจของประชาชนไม่สมบูรณ์
การเปิดให้แสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลก็จะอาศัยเงื่อนไขนี้วิพากษ์วิจารณ์ ยั่วยุและโจมตีรัฐบาลมากขึ้น หากรัฐบาลตอบสนองต่อการโจมตีในลักษณะที่เกินเลยก็อาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้
ศักยภาพของความขัดแย้งนอกจากจะมาจากตัวของกระบวนการลงประชามติแล้ว ยังมาจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอีกด้วย เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในเชิงขั้วความคิดขึ้นมามีหลายประเด็น เช่น ประเด็นการสืบทอดอำนาจ (สว.มาจากการสรรหาทั้งหมด และนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจาก ส.ส.) ประเด็นการเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมือง (สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และนายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.)
หากกลุ่มการเมืองทั้งกลุ่มระบอบทักษิณและไม่ใช่กลุ่มระบอบทักษิณเห็นร่วมกันว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปลงประชามติสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงและการใช้อำนาจในการบริหารประเทศของพวกเขามากจนเกินไป ก็มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจรณรงค์ให้ประชาชนลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญ
หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ รัฐบาลและ คสช.ก็คงไม่อาจปัดความรับผิดชอบได้ เพราะว่าเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง ซึ่งอาจทำให้เส้นทางการดำรงอยู่ในอำนาจของรัฐบาลอาจสั้นลงไป หรือ อาจเกิดเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายอื่นทางการเมืองขึ้นมา เช่น เกิดการรัฐประหารโดยทหารกลุ่มใหม่
ประเด็นการพิจารณาคดีของเครือข่ายระบอบทักษิณ โดยเฉพาะคดีจำนำข้าวซึ่งมียิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นตัวละครสำคัญก็เป็นประเด็นที่ทำให้อุณหภูมิการเมืองสูงขึ้นในช่วงปลายปี ๒๕๕๙ เพราะว่าเป็นช่วงที่คดีใกล้สิ้นสุด ทักษิณ ชินวัตร ย่อมไม่ต้องการให้น้องสาวตนเองถูกพิจารณาตัดสินจำคุกอย่างแน่นอน และเพื่อให้บรรลุความต้องการดังกล่าว เขาต้องดำเนินการต่อรองกับฝ่ายคุมอำนาจรัฐในช่วงเวลานั้น
การสร้างเงื่อนไขการต่อรองจึงเป็นสิ่งที่ระบอบทักษิณจะกระทำเป็นเบื้องแรก และเมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมในอดีตของแกนนำระบอบทักษิณ โอกาสการสร้างเงื่อนไขและสถานการณ์อันพิสดารที่จะสร้างความเสียหายแก่สังคมไทยย่อมมีสูง เพื่อทำให้มีอำนาจต่อรองสูงขึ้น เรียกว่าแนวโน้มของปฏิบัติการณ์ “นำสังคมไทยเป็นตัวประกัน” เพื่อให้ได้ในสิ่งที่พวกเขาปรารถนา เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ในอีกทางหนึ่งหากระบอบทักษิณประเมินแล้วว่าจะไม่ได้รับในสิ่งที่ปรารถนาอย่างแน่นอน วิธีคิดแบบ “พังพินาศกันทั้งหมด” อาจเป็นสิ่งที่พวกเขาเลือกใช้ก็เป็นได้ สิ่งนี้จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลว่าจะมีความสามารถในการจัดการระงับหรือจัดการเงื่อนไขได้มากน้อยเพียงใด
ความผิดพลาดในการตัดสินใจและการไร้ความสามารถบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้ ประเด็นที่มีศักยภาพในการสร้างความขัดแย้งคือ ปัญหาความตกต่ำของเศรษฐกิจ ปัญหาการไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติในด้านพลังงานและทรัพยากร ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาการจัดการเรื่องที่ดินแบบเลือกปฏิบัติ ปัญหาการทุจริตของกลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายอำนาจรัฐปัจจุบัน และปัญหาการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพจนเกินขอบเขต
ประเด็นที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่อ่อนไหว เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของกลุ่มในสังคมหลายกลุ่มและเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาว หากรัฐบาลมีการตัดสินใจไม่ดี ไม่รอบคอบ ไม่เป็นธรรม และไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ ย่อมเป็นชนวนในการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาได้ทั้งสิ้น
กล่าวได้ว่าในปี ๒๕๕๙ เป็นปีที่รัฐบาลจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากความต้องการของกลุ่มพลังทางการเมืองหลากหลายกลุ่ม และเผชิญกับปัญหาหลากหลายด้าน การใช้ภูมิปัญญาและวุฒิภาวะในการบริหารประเทศจึงเป็นหัวใจหลักในการฝ่ามรสุมที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต