xs
xsm
sm
md
lg

โครงสร้างระบบอำนาจกับการเคลื่อนไหวทางสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

หลังจากมีการปล่อยตัวกลุ่มนักศึกษาที่ถูกจับกุมจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ทำให้ความพยายามของบางกลุ่มที่จะใช้เงื่อนไขนี้สร้างกระแสต้องลดลง อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลคงยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง อันเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของการเมืองในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลหรือรัฐบาลมาจากไหนก็ต้องเผชิญหน้ากับการเคลื่อนไหวท้าทายจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมเสมอ

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มทางสังคมแต่ละกลุ่มมีองค์ประกอบและเป้าหมายของการเคลื่อนไหวแตกต่างกัน เดวิด สโนว์ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และซาราฮ์ โซล ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์การของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด มองการเคลื่อนไหวทางสังคมใน 5 องค์ประกอบ คือ 1) เป็นการท้าทายหรือการปกป้องโครงสร้างหรือระบบอำนาจที่ดำรงอยู่ 2) เป็นกิจกรรมการรวมหมู่ มากกว่าจะเป็นกิจกรรมของปัจเจกบุคคล 3) การเคลื่อนไหวมีการกระทำในหลากหลายรูปแบบ ที่อยู่นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ขององค์การและสถาบันที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น 4) มีการจัดตั้งในรูปแบบองค์การ และ 5) มีความต่อเนื่อง

อะไรบ้างคือโครงสร้างหรือระบบอำนาจที่ดำรงอยู่ของสังคมที่ถูกท้าทายหรือสนับสนุนจากการเคลื่อนไหวทางสังคม ปกติโครงสร้างระบบอำนาจในสังคมแสดงออกมาในหลากหลายรูปแบบทั้งเชิงรูปธรรม เช่น องค์การ สถาบัน และในเชิงนามธรรม เช่น ความเชื่อ และวัฒนธรรม โครงสร้างระบบอำนาจในรูปแบบองค์การและสถาบันมีทั้งในภาครัฐและและไม่ใช่ภาครัฐ องค์การและสถาบันภาครัฐ เช่น รัฐบาล รัฐสภา กระทรวง และกรมต่างๆ เป็นต้น ส่วนที่ไม่ใช่ภาครัฐก็คือ บริษัทที่แสวงหากำไร เช่น บริษัทซีพี บริษัทเชฟรอน เป็นต้น และองค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เช่น มหาวิทยาลัย และองค์การสาธารณะประโยชน์ เป็นต้น รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศด้วย เช่น ธนาคารโลก และ สหประชาชาติ เป็นต้น

นอกเหนือจากองค์การต่างๆแล้ว ความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมก็ยังทำหน้าที่และแสดงบทบาทออกถึงโครงสร้างระบบอำนาจที่ดำรงอยู่ในสังคมด้วย เช่น คัมภีร์ไบเบิ้ล พระไตรปิฎก เป็นต้น อำนาจของความเชื่อทางศาสนาที่มักจะถูกเคลื่อนไหวท้าทายอยู่เสมอคือ อำนาจในการกำหนดเพศสภาพ

โครงสร้างระบบอำนาจที่ดำรงอยู่ทำหน้าที่สำคัญสองประการคือ ประการแรก กำหนดองค์ประกอบการตัดสินใจ ว่าใครกลุ่มใดบ้างที่ได้รับการยอมรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ กำหนดกฎระเบียบ วิธีการ กระบวนการ และแนวทาง ซึ่งมีผลต่อวิถีชีวิตหรือการปฏิบัติของปัจเจกบุคคลและความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลที่อยู่ภายใต้อาณาบริเวณของระบบอำนาจนั้น เช่น แนวทางการจัดตั้งและดำเนินการพรรคการเมือง แนวทางการจัดตั้งและการดำเนินการองค์การสาธารณะประโยชน์ เป็นต้น

ประการที่สอง เป็นกรอบที่เชื่อมโยงค่านิยม ความเชื่อ และการตีความ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเป็นเหตุผลในการจัดสรรหรือการใช้อำนาจและยังเป็นการผลิตสร้างวาทกรรมที่มีพลังจูงใจ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความชอบธรรมให้แก่โครงสร้างระบบอำนาจที่ดำรงอยู่ ยังตอบโต้และวิพากษ์กลุ่มที่เป็นปรปักษ์อีกด้วย

โครงสร้างระบบอำนาจที่ดำรงอยู่มักจะเป็นเป้าหมายในการท้าทายของการเคลื่อนไหวทางสังคม ดังในสังคมไทยช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ท้าทายโครงสร้างระบบอำนาจที่ดำรงอยู่ของระบอบทักษิณโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่ม กปปส. ขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สนับสนุนการดำรงอยู่ในอำนาจของระบอบทักษิณด้วย ซึ่งกระทำโดย กลุ่มนปช. และกลุ่มเสื้อแดง

ผมคิดว่า สถานการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมของประเทศในระยะนี้สามารถจำแนกเป็น 3 ลักษณะ ลักษณะแรกคือ การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อการปฏิรูปประเทศและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงการพัฒนา การเคลื่อนไหวสำคัญที่มีเป้าหมายเช่นนี้คือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มภาคประชาชนด้านพลังงานที่มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานที่มีอยู่ในสังคมไทยเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุที่ว่าโครงสร้างระบบอำนาจเดิมที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดสรรประโยชน์จากทรัพยากรพลังงาน จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มบางกลุ่มซึ่งทำให้มีแนวทางการปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนต่างชาติ ภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวด้านพลังงานจึงพยายามเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบอำนาจการตัดสินใจและแนวทางการจัดสรรผลประโยชน์ด้านพลังงานเสียใหม่ เพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่ในสังคมไทยมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ลักษณะที่สอง การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อต้านการดำรงอยู่รัฐบาล การเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งคือกลุ่มนักเลือกตั้งและเครือข่ายหัวคะแนนของพวกเขาเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มอื่นๆของประเทศแทบไม่ได้ประโยชน์ใดๆ หรือหากได้ก็มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หัวหอกการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลเป็นกลุ่มนักศึกษาซึ่งมีเพียงสิบกว่าคนเท่านั้น แม้ว่ามีจำนวนน้อย แต่การเคลื่อนไหวของพวกเขาได้รับการกระพือโหมจากสื่อมวลชนทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวเกิดการพองตัวเสมือนลูกโป่งพองลม ครั้นพอลมหมดใกล้จะตกถึงพื้น ก็มีกลุ่มบางกลุ่มช่วยกันเป่าและกระพือให้ลอยขึ้นไปอีก

การช่วยกระพือและหนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษามีอย่างน้อยสองเหตุผล เหตุผลแรกคือความต้องการใช้การเคลื่อนไหวนักศึกษาเติมเต็มอารมณ์ของตนเอง ด้วยความที่คนบางกลุ่ม เช่น นักวิชาการบางส่วนอาจรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่ไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลด้วยตนเอง เพราะว่ากังวลต่อการตอบโต้กลับของรัฐบาลจะกระทบกระเทือนต่อสถานภาพของตนเอง เมื่อนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวจึงเท่ากับเป็นการก็ช่วยเติมเต็มอารมณ์ที่ขาดหายไปของพวกเขา

เหตุผลที่สอง หวังใช้การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นพลังกดดันและทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลกังวลต่อการดำรงอยู่ในอำนาจและเร่งรีบจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว รวมทั้งทำให้รัฐบาลไม่กล้าใช้อำนาจจัดการกับความผิดหรือการทุจริตที่พวกตนเคยทำไว้ในอดีต กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักการเมืองที่สูญเสียอำนาจและมีความผิดติดตัวจากอดีต

ลักษณะที่สาม เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่สูญเสียประโยชน์จากการตัดสินใจของรัฐบาล เช่น การตัดสินใจปรับปรุงการทำประมงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งทำให้กลุ่มประมงเถื่อนและกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการทำประมงเถื่อนสูญเสียประโยชน์อย่างมหาศาล กลุ่มนี้จึงเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการทำประมง โดยเรียกร้องให้พวกตนเองสามารถทำประมงแบบผิดกฎหมายและทำลายล้างทรัพยากรทางทะเลได้อย่างสะดวกต่อไป

การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้อาจได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนใหญ่ที่ต้องใช้ปลาป่นเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าของตนเอง เพราะปลาป่นจำนวนมหาศาลมาจากเรือประมงเถื่อนนั่นเอง การที่มีกลุ่มทุนใหญ่ให้การสนับสนุนเช่นนี้อาจส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลได้ หากรัฐบาลไม่หนักแน่นในหลักการและยึดผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาว

กล่าวโดยสรุป การเคลื่อนไหวทางสังคมนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าประเทศนั้นๆจะใช้ระบอบอะไรในการบริหารประเทศ เพราะว่าความปรารถนา อารมณ์ และผลประโยชน์ของผู้คนในสังคมมีความหลากหลาย เมื่อพวกเขารวมตัวกันและมีการจัดตั้งองค์กร การเคลื่อนไหวก็เกิดขึ้นและมักเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการยุติการเคลื่อนไหวของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้นมีหลายสาเหตุ สาเหตุหลักคือการได้รับในสิ่งที่พวกเขาต้องการ ถัดมาคือการตระหนักว่าไม่มีทางได้ในสิ่งที่ปรารถนาอย่างแน่นอน หรือบางกรณีเกิดการแตกแยกระหว่างกลุ่มแกนนำของการเคลื่อนไหวจนทำให้ขาดพลังและฝ่อไปในที่สุด หรือ เกิดการกดดันจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือผลกระทบจากการเคลื่อนไหว หรือ เกิดจากการมีพลังภายนอกบางอย่างเข้ามาคลี่คลายการเคลื่อนไหวให้ยุติลงไป

หากเข้าใจธรรมชาติของการเคลื่อนไหว และจัดการอย่างมีศิลปะ การเคลื่อนไหวทางสังคมก็จะเป็นพลังแห่งการพัฒนาสังคมได้ ในทางกลับกัน หากไม่เข้าใจ ปิดกั้น และจัดการความเคลื่อนไหวอย่างไม่เหมาะสม การเคลื่อนไหวทางสังคมก็จะนำไปสู่ความแตกแยก ความรุนแรง และอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้

ระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมาสังคมไทยมีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม ดังนั้นควรที่ผู้ขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวทางสังคมและรัฐบาลหรือระบบอำนาจต่างๆที่ดำรงอยู่ ศึกษา ทำความเข้าใจ และใช้ประสบการณ์เหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ เพื่อทำให้การเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นการเคลื่อนไหวที่มีคุณประโยชน์ เสริมสร้าง และพัฒนาประเทศต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น