ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน “ร่าง พ.ร.บ. GMO” หรือ “พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. …...” ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชนจำนวนมาก เพราะถูกผลักดันโดยกลุ่มสนับสนุน GMO ผู้ใกล้ชิดกับบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ซึ่งสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้เปิดช่องโหว่ให้มีการลิดรอนประชาธิปไตยทางอาหาร (Food Democracy)อย่างมีนัยสำคัญ
ด้วยเหตุดังกล่าว สภาเกษตรกรฯ รวมทั้ง 13 เครือข่าย จึงออกมาแสดงจุดยืนคัดค้าน พ.ร.บ. GMO ทันที โดยเรียกร้องรัฐบาลชะลอการนำร่างฯ เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. จนกว่าจะมีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างละเอียดรอบคอบ สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ พูดคุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Biothai) พลังขับเคลื่อนคนสำคัญของภาคประชาชนผู้จับตาประเด็น พืชGMO อย่างใกล้ชิด และเข้าร่วมคัดค้าน พ.ร.บ. GMO ฉบับนี้ ซึ่งในต่างประเทศอย่างพลเมืองในสหรัฐอเมริการวมทั้งกลุ่มประเทศในยุโรปเริ่มปฏิเสธ GMO เพราะเล็งเห็นปัญหาด้านความปลอดภัยซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยไม่มีผลการทดลองรองรับว่าปลอดภัยไม่ก่อสารพิษต่อร่างกาย รวมทั้งสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมทำลายความหลายหลายทางชีวภาพและสินค้าเกษตรของท้องถิ่นนั้นๆ
เครือข่ายฯ ออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. GMO ฉบับนี้ด้วยเหตุผลใด
โดยหลักใหญ่เลยนะครับก็คือว่า พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ แทนที่จะร่างเนื้อหาให้เป็นไปตามเหตุผล ที่ปรากฏอยู่ในต้นของ พ.ร.บ.หลักการและเหตุผลที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ปกป้องเรื่องสิ่งแวดล้อมความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องของสุขภาพ เรื่องของมนุษย์และสัตว์ สิทธิต่อผู้บริโภค และให้สอดคล้องกับสากล แต่เมื่อเรากลับมาวิเคราะห์เนื้อหา พ.ร.บ. ทั้งหมดปรากฏว่ากลับไปในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งแทนที่จะใช้หลักการสากลอันมีสาระในต่างประเทศอยู่แล้ว ทั่วโลกจะเข้าเป็นภาคีเป็นการป้องกันเอาไว้ก่อนตามหลักการที่เรียกว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยที่มาวิเคราะห์มาตราต่างๆ แล้วเรากลับเห็นว่าได้เปิดช่องหลากหลาย เอื้ออำนวยให้บริษัทที่เป็นเจ้าของ GMO ดำเนินการให้เอา GMO ไปปลูกในภาคสนามและการปลูกในเชิงพาณิชย์ก็ดี โดยที่เปิดช่องไม่ให้เกิดความรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายเกิดขึ้น นี่เป็นหัวข้อใหญ่เลย
การที่ GMO อยู่ในสภาพควบคุมภาคสนาม เขียนข้อความเหมือนกับว่าต้องมีความผิดทางแพ่ง แต่เขียนข้อยกเว้นว่ายกเว้นกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย คำว่าเหตุสุดวิสัยในพิธีสารกำหนดไว้ 2 อย่าง คือสิ่งที่เป็นภัยธรรมชาติ และสงคราม แต่เหตุสุดวิสัยในกรณีของ GMO อันตรายมาก เพราะว่าธรรมชาติของมันจะสามารถปลิวไปผสมข้ามกับพืชทั่วไปได้โดยง่าย ถามว่าถ้าเกิดกรณีการผสมอย่างที่เขาว่า ข้าวโพดสามารถปลิวไปผสมข้ามได้ไกลถึง 4.5 กม. ถึงตรงนั้นใครจะรับผิดชอบ และกรณีข้าวโพดผลกระทบใหญ่มาก อุตสาหกรรมข้าวโพดเขาลุกขึ้นมาต่อต้านกฎหมายนี้เลย เพราะว่ามูลค่าตลาดของเขาตั้งแต่ 7,000 ล้าน ถึง 10,000 ล้านเลย แล้วก็เราส่งออกเป็นอันดับต้นของโลกเลย เขาจะเสียหายมากนะครับถ้าเกิดการผสมข้ามไป
อีกเรื่องหนึ่ง ร่างฯ เขียนว่าหลังจากมีการทดสอบภาคสนามแล้วเขามีการปลดปล่อย GMO ออกสู่สิ่งแวดล้อม ความหมายก็คือว่าปล่อยสู่เชิงพาณิชย์ แต่ไม่ได้เขียนบัญญัติให้ผู้ครอบครองรับผิดทางแพ่งเลย หมายความว่า เปิดช่องโหว่ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง GMO ไม่ต้องมีความรับผิด ทั้งในการทดลองภาคสนามโดยอ้างเหตุสุดวิสัย และเมื่อมีการปลูกเชิงพาณิชย์ ประเด็นสำคัญ GMO ที่ตกสู่สิ่งแวดล้อมนี่แหละจะสร้างความเสียหายร้ายแรง ในกรณีของสหรัฐอเมริกามี 3 กรณีใหญ่ๆ เสียหายหมื่นล้านบาท ยกตัวอย่าง ข้าวโพด Stalinkเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ปี 2001 สร้างความเสียหายทำให้เกิดการแพ้ในมนุษย์เขาเลยอนุมัติให้เป็นอาหารสัตว์ ทีนี้ การผสมปนเปื้อน ทำให้ไปผสมปนเปื้อนข้าวโพดที่เป็นอาหารมนุษย์ ปนเปื้อนขั้นตอนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม สร้างความเสียหายเป็นหมื่นล้าน
ร่าง พ.ร.บ. GMO ของประเทศไทยเขียนเอาไว้โดยไม่ได้ใช้หลักพิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพเลย ดันไปยึดหลักของสหรัฐฯ ที่ไม่ยอมเข้าเป็นภาคีพิธีสารเพราะประเด็น TPP ระบุให้ใช้หลักการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดและมีผลกระทบชัดเจนเท่านั้น ถึงจะสั่งห้ามควบคุมยุติในบรรษัทนั้น กฎหมายไทยก็เขียนล้อเรื่องนี้ GMO ที่ปลูกในภาคสนามก็ดี หรือปล่อยสู่ภาคสนาม เราไม่สามารถสั่งเขาหยุดได้จนกว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แน่ชัด ซึ่งมันต้องใช้เวลาบางทีเป็น 10 ปี หรือมากกว่านั้นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ว่า พ.ร.บ. ไปเขียนเอื้ออำนวยให้บริษัท อันนี้เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ใน พ.ร.บ.
ประเด็นสำคัญ ร่าง พ.ร.บ. GMO ฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนใช่ไหม
มีหลายจุดมากครับ 9 จุดใหญ่ๆ ผมขอพูดเรื่องหนึ่งที่คนยังพูดน้อย คณะกรรมการภายใต้กฎหมายนี้เราก็วิพากษ์วิจารณ์กัน ณ วันนี้ มาจากหน่วยงานของรัฐ 12 คน แล้วมี่ผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 10 คน รวมเป็น 22 คน คือไม่มีระบบหาคนที่จะเป็นตัวแทน เช่น ภาคเกษตรอินทรีย์ ตัวแทนสมาคมทั้งหลาย หรือกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคไม่มีเลย ใครก็ได้ที่เขาจะแต่งตั้งก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ร่างกฎหมายนั้นแหละ ก็เลวร้ายพอแล้ว ผิดหลักการความปลอดภัยทางชีวภาพ ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ปราศจากการมีส่วนร่วมโดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ ร่างมันเลยออกมาอัปลักษณ์อย่างที่เราเห็น
แต่มันมีมากไปกว่านั้น กรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่สำคัญแค่เพียงหลักใหญ่ๆ กำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบเป็นคนดำเนินการ เรื่องของการทดลอง เรื่องความปลอดภัย ไปจนถึงการประกาศปลดปล่อย GMO สู่สิ่งแวดล้อม อำนาจใหญ่อยู่ที่นี่
นั่นหมายความว่าเป็นการมอบถ่ายอำนาจให้กับองค์กรที่ทำหน้าที่ ซึ่งในเมืองไทยตอนนี้มีแค่ 2 องค์กรหลัก ที่จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ คือ กรมวิชาการเกษตร กับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (Biotec) ถ้าแบบนี้เสร็จเลย! เพราะ 2 หน่วยงานนี้เป็นองค์กรหลักในการทำวิจัยเรื่องGMO และที่ผ่านมากรมวิชาการก็ผิดพลาดถึง 2 ครั้ง ทั้งกรณีข้าวและปล่อยมะละกอ GMO สู่สิ่งแวดล้อมทำให้เกิดปัญหา กลายเป็นว่าเราเอาหน่วยงานที่ทำเรื่อง GMO มาเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพแทบจะทั้งหมด เมื่อไปดูโครงสร้างแล้วปรากฏว่าที่ปรึกษาฯ หน่วยงานผู้รับผิดชอบก็กลุ่มเดียวกัน
ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสมาคมของบริษัทเอกชนที่ได้ประโยชน์จาก GMO ทำงานมาด้วยกันตลอด รวมถึงการร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย แล้วก็เจ้าหน้าที่และข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานที่ว่า ในขณะที่มีการร่างกฎหมายเป็นข้าราชเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ แต่วันนี้มาเป็นฝ่ายบริหารของบริษัทเอกชนที่ได้ประโยชน์จากพืช GMO เห็นความเชื่อมโยงไหมครับ? เพราะฉะนั้นเราจะหวังอะไรกับกลุ่มคนที่เป็นคนวิจัย GMO เสียเอง และเป็นกลุ่มเดียวกับที่มีบทบาทการร่างกฎหมายที่จะมาควบคุมร่างความปลอดภัยทางชีวภาพให้ประเทศ
ฉะนั้น การยกอำนาจนี้คือการยกอำนาจให้กับกลุ่มสนับสนุน GMO นะครับ ยกให้บริษัทเอกชนข้ามชาติและบริษัทยักษ์ด้านเกษตรของประเทศไทย เป็นโครงสร้างของกลุ่มล็อบบี้ทางนโยบายที่มาจาก 2 บริษัทนี้
เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่และต้องเปิดเผยออกมาให้เห็น การออกแบบกฎหมายออกมาแบบรวบรัด ท้ายที่สุดเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับผู้ผลิตพืช GMO
ความปลอดภัยในมนุษย์ของพืช GMO ยังไม่มีผลการทดลองรองรับชัดเจนเป็นสิ่งที่น่ากังวล
ทั่วโลกยังไม่มีข้อยุติ ในประชาคมวิทยาศาสตร์อาจจะได้ยินนักวิทยาศาสตร์บางคนซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยบอกว่าเขายุติแล้ว มันไม่เป็นความจริง หาไม่แล้วประเทศในยุโรป เวลล์ สกอตแลนด์ ไม่ประกาศแบน GMO ยังไม่นับอีกหลายประเทศนะครับ ผมคิดว่าตรงนี้มันชัดเจนอยู่แล้วว่ายังไม่มีข้อยุติในเรื่องของความปลอดภัย ยังมีความกังวลอยู่ แล้วในทางปฏิบัติการประชุมที่เป็นฟอร์รั่มใหญ่ที่มีนักวิทยาศาสตร์จากหลากสาขามารวมกัน ประเมินเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก็ออกมาสรุปตรงกันว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า GMO ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย ฉะนั้น ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้สิ่งที่เราจะต้องทำ คือการใช้หลักป้องกันเอาไว้ก่อนเป็นสำคัญ
ที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง มันไม่ได้มีประเด็นความปลอดภัยอยู่ด้านเดียว แต่ว่า GMO ปลูกมาแล้ว 19 ปี ในสหรัฐฯ 10 เปอร์เซ็นต์ ปลูกในประเทศ ส่วนอีก 90 เปอร์เซ็นต์ ปลูกในทั่วโลก เพราะฉะนั้นมันมีผลเกิดขึ้นแล้ว เช่น มันไม่ได้ทำให้เกิดผลผลิตมากกว่าทั่วๆ ไปเลย และที่บอกว่าจะไม่ต้องใช้สารเคมีกำจักศัตรูพืชก็ไม่ใช่เรื่องจริง ความเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชใช้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไกลโฟเสท ก็ถูกสกัดโดยมีข้อมูลว่าเป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง ผมคิดว่ามันน่าจะชัดมากกว่าในแง่ที่ว่ามันไม่น่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศไทย เรามองยุทธศาสตร์ว่าการที่เราจะทำเกษตรอินทรีย์ การตัดสินใจเดินหน้า GMOกับแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นทิศทางตรงกันข้ามที่จะทำลายยุทศาสตร์ของประเทศเสียเอง
กำลังบอกว่าหากมีการเดินหน้า GMO ในประเทศ อนาคตเราอาจจะตกในเผด็จการทุนและเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่คาดคิดมาก่อน
ครับ ผมอยากใช้คำว่า ระบบอาหารของประเทศมันตั้งอยู่บนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยเรามีฐานทรัพยากรประเภทนี้ ซึ่งเป็นแหล่งสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก ฐานผลิตเป็นแบบ NON-GMO ฉะนั้น GMO จะทำลายสิ่งที่ว่าทั้งหมด ทำลายฐานทรัพยากรของประเทศเอง และเปลี่ยนไปใช้เมล็ดพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การปลูกฐานของบริษัทเดียวบวกกับหยิบมือหนึ่งเท่านั้น ทำลายตลาดฐานทรัพยากรของประเทศ เฉพาะฐานทรัพยากรอย่างเดียวก็เป็นหมื่นล้านแล้วครับ กระทบกับผู้คนจำนวนมาก และยังทำลายอนาคตของการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเรากำลังจะเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมแต่กลับทำลายเสียเอง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้พูดค่อนข้างรุนแรง ว่า 'อย่าว่าแต่ปลูกเชิงพาณิชย์เลยที่ผ่านมาเราอนุญาตให้ปลูกเป็นรายกรณียังทำให้เกิดความเสียหายมากขนาดนั้น' ฉะนั้น ถ้าส่งเสริมผลกระทบอาจจะประเมินค่าไม่ได้ ผลสุดท้ายเกษตรกรจะกลายเป็นทาสของบริษัทซึ่งอาจจะเป็นยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่อาจจะร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่อยู่ตรงสีลมก็ได้ ผูกขาดมากขนาดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ขนาดสหรัฐฯ เขายังครอบครองตลาดทั้ง 90 เปอร์เซ็นต์ของพืชหลักสำคัญโดยบริษัทเดียว คือจะเป็นการเปลี่ยนย้ายฐานระบบทรัพยากรอาหารของประเทศไปขึ้นกับบริษัทบริษัทเดียว มันไม่ควรเป็นแบบนั้น ขนาดประเทศเขาประชาชนยังลุกขึ้นมาต่อต้าน คือคนในยุโรปต่อต้าน GMO มากขึ้น คนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ 54 เปอร์เซ็นต์ ต่อต้าน GMO นะครับ แต่ว่าเรากลับไปทิศทางตรงกันข้าม ตรงนี้เป็นเรื่องยากที่เราจะยอมรับนะ ที่น่าสนใจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีรัฐบาลที่เอื้ออำนวยหรือจะเปิดเสรีเรื่อง GMO ขนาดนี้มาก่อน ขณะนี้เรากำลังใกล้จุดที่ว่านั้นมาก ตรงกันข้ามกับสถานการณ์ของโลก
ได้ยินทางฝั่ง NGO วิพากษ์ว่าวิทยาศาสตร์อยู่ภายใต้การครอบงำของอาหาร
ครับ คืออย่างนี้ ที่เสนอเข้าไปสู่การขอรับการรับรองอาศัยงานทดลองของบริษัทเหล่า GMO เป็นหลักในการเสนอ ฉะนั้น บริษัทเหล่านี้ก็จะเลือกงานวิจัยที่ดูดีเพื่อนำเสนอ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นข้อดีของมัน ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ผลิตโดยบริษัทพวกนี้เป็นหลักไง หรือบางทีก็จ้างมหาลัยทำอยู่ภายใต้งบประมาณของบริษัท อีกอันนึงในประเทศที่มีปัญหามาก ในสหรัฐฯ ผู้บริหาร FTA ของเขาก็เป็นอดีตผู้บริการของ บ.มอนซานโต้ ไม่ใช่แค่คนเดียวนะการอนุมัติเหล่านี้ก็อยู่ในบริษัทเหล่านี้ ฮิลลารี คลินตัน ก็ทำงานอยู่ในบริษัทที่ปรึกษามอนซานโต้มาก่อน นักวิทย์บางท่านที่พูดถึง GMO ก็เขียนหนังสือโดยใช้ข้อมูลของสมาคม GMO แล้วจัดพิมพ์โดยงบประมาณที่มาจากกลุ่มบริษัทดังกล่าว ตรงนี้ก็เห็นชัดอยู่แล้วข้อมูลขององค์กรวิทยาศาสตร์ถูกครอบงำองค์กรนี้อย่างไร ขนาดงานวิจัยที่เกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังทำได้ลำบากมาก เพราะบริษัทเหล่านี้จดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ของตัวเองเอาไว้ นักวิทยาศาสตร์นักวิจัยสิ่งแวดล้อมไม่สามารถเข้าถึงตัว GMO เพื่อนำมาทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพได้
มองทิศทางเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพในประเทศไทยอย่างไร
เราต้องเข้าใจระบบนิเวศเกษตรด้วย นักวิทยาศาสตร์นักวิชาการบางท่านยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ที่เป็นแนวโน้มใหญ่ของโลก การที่รัฐบาลที่ตัดสินใจเดินหน้าไปสู่ทิศทางนี้ต้องรับ พร้อมรับผลความเสียหายความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การผลักดันนโยบายของรัฐบาลให้เป็นกฎหมาย มีกลุ่มผลประโยชน์บริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรของไทยอยู่ข้างหลังถึงออกมาลักษณะนี้ได้ เบื้องหน้าไม่พูดแต่เบื้องหลังผลักออกมาเป็นประเด็นจนจะเป็นกฎหมายได้ขนาดนี้ เสนอไปที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ถูกตีกลับ และครั้งนี้ก็คือเข้า ครม.แบบเงียบเชียบมาก ไม่ยอมเปิดเผย ข้อมูลรวบรัด แล้วก็ในความเห็นผมหน่วยงานระดับสภาพัฒน์ และกระทรวงพาณิชย์ ใช้ถ้อยคำรุนแรงท้วงติงขนาดนั้นต้องกลับไปทบทวนแล้วไม่ใช่เดินหน้าเห็นชอบ กฎหมายฉบับนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง และไม่มีรัฐบาลไหนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาจะเปิดเสรี GMO