xs
xsm
sm
md
lg

“มูลนิธิชีววิถี” รุกต่อ หลังล้ม กม.จีเอ็มโอ ฝันมีนโยบายเท่าเทียม-ทส.ย้ำหลักการคุมนำเข้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอฟเฟกต์ ล้ม กม. จีเอ็มโอ “มูลนิธิชีววิถี” รุกต่อเตรียมผลักดันต่อเนื่อง ออกแถลงการณ์ ฝันมี “กฎหมาย - นโยบาย” คุ้มครอง ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ระบบอาหารเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เน้นคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมระหว่าง “เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค” ให้กลายเป็นกระแสหลักของการพัฒนาประเทศ พอใจร่วมหยุด กม. เอื้ออำนวยบรรษัทข้ามชาติ ด้าน “ทส.” ย้ำ หลักการต้องการควบคุมลักลอบนำเข้า

วันนี้ (15 ธ.ค.) มีรายงานว่า ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ยกเลิกการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ ร่าง พ.ร.บ. จีเอ็มโอ ทำให้ช่วงค่ำวันนี้ มูลนิธิชีววิถี ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ และ แฟนเพจ BIOTHAI ต่อกรณีรัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ..... มีใจความว่า

มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ขอชื่นชมการเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพของภาคประชาชนและผู้ประกอบการเกษตรและอาหาร 125 องค์กร การเคลื่อนไหวของประชาชนและองค์กรท้องถิ่นใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ การรวมตัวกันรณรงค์ในสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มนักวิชาการด้านการเกษตร กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ได้แสดงออกเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายร่วมกันอย่างเข้มแข็ง จนนายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุติการผลักดัน พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว โดยมีมติให้ส่งเรื่องกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาในมุมที่มีข้อทักท้วงเพิ่มเติมให้รอบคอบเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม แรงผลักดันหลักเพื่อให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอนั้น มาจากกลุ่มบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ อุตสาหกรรมวัตถุดิบอาหารสัตว์ และบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะยังคงไม่ลดความพยายามจนกว่าจะบรรลุผล ทั้งนี้ เชื่อว่า กลุ่มผลประโยชน์จากจีเอ็มโอจะหาช่องทางอื่น ๆ เช่น การผลักดันให้มีการทดลองจีเอ็มโอผ่านมติคณะรัฐมนตรี 25 ธันวาคม 2550 ไปจนถึงการผลักดันผ่านความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เป็นต้น

เครือข่ายภาคประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องร่วมกันเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับจีเอ็มโอ ทั้งมิติทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง และผลกระทบต่อสุขภาพ/สิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำเสนอทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในการตัดสินใจนโยบายเกี่ยวกับเกษตรกรรมและอาหารของประเทศ โดยไม่ปล่อยให้กลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่เกษตรและอาหารเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศผ่านรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา

เป้าหมายของการขับเคลื่อนของเรามิได้อยู่ที่การหยุด พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่เอื้ออำนวยต่อบรรษัท หรือการต่อต้านจีเอ็มโอซึ่งไม่เป็นประโยชน์และไม่เหมาะสมกับประเทศไทยเท่านั้น แต่อยู่ที่การผลักดันให้มีกฎหมายและนโยบายที่คุ้มครองและส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ และระบบอาหารเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมระหว่างเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ให้กลายเป็นกระแสหลักของการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รออยู่เบื้องหน้า

มูลนิธิชีววิถีจะเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวดังกล่าว จนกว่าเป้าหมายนั้นจะบรรลุผล 15 ธันวาคม 2558

ด้าน นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ต้องรอข้อมูลเชิงนโยบายและข้อสั่งการชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ ยืนยันว่า โดยหลักการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องการควบคุมการลักลอบการนำเข้า และผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอที่ไม่ถูกกฎหมายเข้ามาภายในประเทศไทย และกำหนดบทลงโทษ และเป็นการออกกฎหมายรองรับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ และหากนายกฯยกเลิกไม่เดินแล้วหน้าต่อก็คงไม่สามารถทำอะไรต่อได้ โดยอาจต้องเตรียมเชิญคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น