ถึงคิว! “ไบโอไทย” ร่วมมือภาคประชาชน เคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ 40 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ (ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ) ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ย้ำกฎหมายนี้มีความสุ่มเสี่ยง ควรต้องผ่านการทดลองวิจัยให้ถี่ถ้วนก่อน “สารี” ย้ำ สธ.สั่ง อย.ติดฉลากเตือน ไม่ใช้แก้ปัญหาทั้งหมด
วันนี้ (7 ธ.ค.) มีรายงานว่า แฟนเพจ BIOTHAI ได้ออกหนังสือเตรียมร่วมการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ) ที่กำลังจะมีการผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม สนช. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 9 ธันวาคม นี้ โดยมีข้อความระบุว่า “ด่วน! ขณะนี้มีจังหวัดต่างๆ ที่แสดงความจำนงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์แล้ว 40 จังหวัดทั่วประเทศ โอกาสสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่จะร่วมกันปกป้องอธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty) ร่วมกัน! ท่านสามารถเข้าร่วมคัดค้าน พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพได้ตามรายชื่อของจังหวัดต่างๆ #ThailandNoGMO #NoGMOsDay”
โดยสามารถติดต่อกับผู้ประสานงานในแต่ละภาค (รายชื่อเบอร์โทร.ในแฟนเพจ) เพื่อวางแผนดำเนินการในจังหวัดดังกล่าวได้เพิ่มเติม เพื่อให้ครบ 77 จังหวัดในวันที่ 9 ธันวาคม นี้ต่อไป ภาคเหนือ 7 จังหวัด-จังหวัดเชียงใหม่-จังหวัดน่าน-จังหวัดพะเยา-จังหวัดลำพูน-จังหวัดนครสวรรค์-จังหวัดลำปาง-จังหวัดเชียงราย ภาคใต้ 8 จังหวัด-จังหวัดกระบี่-จังหวัดสงขลา-จังหวัดพัทลุง-จังหวัดสตูล-จังหวัดสุราษฎร์ธานี-จังหวัดนครศรีธรรมราช-จังหวัดปัตตานี-จังหวัดตรัง
ภาคอีสาน 7 จังหวัด-จังหวัดสุรินทร์-จังหวัดร้อยเอ็ด-จังหวัดมหาสารคาม-จังหวัดยโสธร-จังหวัดขอนแก่น-จังหวัดอุบลราชธานี-จังหวัดอุดรธานี ภาคกลาง/ภาคตะวันออก/ภาคตะวันตก 17 จังหวัด-จังหวัดสุพรรณบุรี-จังหวัดนครปฐม-จังหวัดฉะเชิงเทรา-จังหวัดปราจีนบุรี-จังหวัดประจวบคีรีขันธ์-จังหวัดเพชรบุรี-จังหวัดกาญจนบุรี-จังหวัดชลบุรี-จังหวัดระยอง-จังหวัดจันทบุรี-จังหวัดตราด-จังหวัดสระแก้ว-จังหวัดนครนายก-จังหวัดอ่างทอง-จังหวัดปทุมธานี-จังหวัดอุทัยธานี-จังหวัดสิงห์บุรี
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ มพบ.และเครือข่ายภาคประชาชนจะร่วมกับมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ (ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ) ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
“เรามองว่ากฎหมายนี้มีความสุ่มเสี่ยง ที่สำคัญเรื่องเหล่านี้ควรต้องผ่านการทดลองวิจัยให้ถี่ถ้วนก่อน ซึ่งในอดีต ครม.เคยมีมติให้ทดลองวิจัยจีเอ็มโอได้ ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้น แต่มติ ครม.ล่าสุดกลับอนุมัติผ่านร่างกฎหมาย ซึ่งจะมีผลวงกว้างมาก โดยเฉพาะมีผลเชิงการค้า ทั้งนี้พืชจีเอ็มโอกับพืชที่ไม่ใช่จีเอ็มโอจะอยู่รวมกันไม่ได้ เพราะมีโอกาสปนเปื้อนทุกขั้นตอน”
น.ส.สารีกล่าวว่า มีตัวอย่างให้เห็นตลอด เช่นตั้งแต่ปี 2543 ในสหรัฐอเมริกา กรณีข้าวโพดจีเอ็มโอสตาร์ลิงค์ ที่อนุญาตให้ใช้ในข้าวโพดอาหารปนเปื้อนกับข้าวโพดอาหารคน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดที่ไม่ใช่จีเอ็มโอที่ได้รับการปนเปื้อน คิดเป็นมูลค่าราว 26-288 ล้านเหรียญ ปี 2549 สหรัฐอเมริกามีการทดสอบปลูกข้าวจีเอ็มโอซึ่งพันธุกรรมจีเอ็มโอเกิดปนเปื้อนกับข้าวที่ปลูกทั่วไป พบข้าวที่ปลูกในอเมริกาแต่ส่งออกไปอาฟริกา ยุโรป และอเมริกากลางปนเปื้อนจีเอ็มโอ ในปี 2554 จีนตรวจพบการปนเปื้อนจีเอ็มโอของข้าวที่ส่งออกจากจีนไปสวีเดน เยอรมนี นิวซีแลนด์ ทำให้จีนส่งออกลดลงมาก เป็นต้น
ส่วนกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขมอบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและหามาตรการเตรียมพร้อม อาทิ ติดฉลากจีเอ็มโอนั้นตนเห็นด้วยเพราะเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค แต่ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาทั้งหมด เพราะร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นี้จะส่งผลกระทบวงกว้างกว่า ถ้าหากพืชจีเอ็มโอกระจายปะปนกับพืชทั่วไป อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดขอเรียกร้องให้ ครม.ชะลอร่างกฎหมายนี้ออกไปก่อน และรับฟังความคิดเห็นให้หลากหลายมากกว่านี้ และหากมีเวทีระดมความคิดเห็น หรือเปิดโอกาสให้ถกเถียงเรื่องผลกระทบจีเอ็มโอ ก็พร้อมและถือเป็นเรื่องดี