xs
xsm
sm
md
lg

สภาเกษตรฯ นำ 13 เครือข่ายจี้รัฐฯ ชะลอร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอเข้า สนช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาเกษตรฯ นำ 13 เครือข่ายฯ-เอกชน-สมาคม เตรียมยื่นข้อเสนอรัฐฯ สัปดาห์หน้า ชะลอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ) เข้า สนช. จี้ดูข้อท้วงติง “สภาพัฒน์-พาณิชย์” ให้ชัดเจน หวั่นกระทบยุทธศาสตร์ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เชื่อจะเกิดผลกระทบอย่างประเมินค่าไม่ได้ ต่อความมั่นคงทางอาหารในทุกมิติ ย้ำตัวแทน 22 บอร์ดความปลอดภัย เป็นตัวแทนภาครัฐ-ตัวแทนบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ

วันนี้ (1 ธ.ค.) มีรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “วิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ...” และทำความเข้าใจต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อภาคธุรกิจ เครือข่ายภาคเกษตร และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ จากทั่วประเทศ เช่น สมาคมแป้งมันสำปะหลัง สมาคมอาหารแปรรูป สมาคมผู้ส่งออกข้าว กลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย กลุ่มฮาร์ดคอร์ออร์แกนิก กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ สมาชิกเครือข่ายสภาเกษตรกรทั่วประเทศ เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร

การสร้างความเข้าใจกลุ่มตัวแทนเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกทั่วประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือร่างกฎหมายจีเอ็มโอ ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีจุดยืนตรงกันคือคัดค้านการผลักดันร่างกฎหมายจีเอ็มโอ เพราะเห็นว่าเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้ ร่างขึ้นโดยปราศจากข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มโอ สาระสำคัญจึงไม่ได้คุ้มครอง ปกป้องเกษตรกรรายย่อย และขัดต่อแนวทางที่มีความพยายามผลักดันเกษตรอินทรีย์

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ร่างกฎหมายจีเอ็มโอ มีช่องว่างหลายประเด็น เช่น การกำหนดคณะกรรมการความปลอดภัย 22 คน เพื่อกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นตัวแทนภาครัฐ และตัวแทนบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ โดยไม่เปิดโอกาสให้มีตัวแทนภาคการเกษตรเข้าไปมีบทบาทที่สำคัญคือไม่มีแนวทางปกป้องคุ้มครอง การปลดปล่อยพืช สัตว์ จีเอ็มโอ สู่สิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน โดยไม่ระบุความผิด ความรับผิดชอบ หากเกิดผลกระทบขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ต่อระบบชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และระบบเกษตรกรรมของไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการส่งร่างกฎหมายจีเอ็มโอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยขอให้มีการตั้งว่า คณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ พร้อมนำความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ และเกษตรกรผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบการการปรับปรุงด้วย โดยประเด็นที่ควรมีการปรับปรุงเร่งด่วน คือ กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ แทนการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องสิทธิของเกษตรกร ปกป้องผู้ประกอบการ รวมถึงปกป้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ การปนเปื้อนทางพันธุกรรม เพราะกฎหมายฉบับนี้เปิดช่องโหว่ไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะมีคำว่า เหตุสุดวิสัย

“หลังจากนี้ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติจะรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการ และเกษตรกรที่เกี่ยวข้องเสนอต่อรัฐบาล คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้า” นายวิฑูรย์กล่าว

นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรอินทรีย์เป็นความมั่นคงทางอาหาร จึงอยากให้รัฐบาลตระหนักผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎหมายจีเอ็มโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย

ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากรัฐบาลตัดสินใจเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ นอกจากทุบทำลายหม้อข้าวแล้วยังเผาบ้านตัวเอง ความมั่นคงของชาติต้องยึดโยงความมั่นคงด้านอาหารประกอบด้วย ดังนั้น อยากให้รัฐบาลกลับไปพิจารณาและตัดสินใจผลักดันร่างฎหมายนี้อย่างรอบคอบอีกครั้ง

ขณะที่ ตัวแทนสมาคมแป้งมันสำปะหลังฯ กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยร่างกฎหมายจีเอ็มโอ เพราะจะกระทบการค้า การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ภาคเกษตรที่ปราศจากจีเอ็มโอจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย

มีรายงานว่า หลังเสวนา กลุ่มฯ ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอเร่งด่วน เรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ชะลอการผลักดันร่างกฎหมายจีเอ็มโอ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการผ่านร่างกฎหมาย ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมขอให้พิจารณาแนวทางคัดค้านจากทั้ง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ ที่ท้วงติงเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าจะกระทบต่อยุทธศาสตร์ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเกิดผลกระทบอย่างประเมินค่าไม่ได้ต่อความมั่นคงทางอาหารในทุกมิติ

เมื่อวานนี้ (30 พ.ย.) ผู้ใช้งานเว็บไซต์ Change.org เริ่มรณรงค์เพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอเสรี ซึ่งทางรัฐบาลเพิ่งให้การอนุมัติภายใต้หัวข้อ “หยุด พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ก่อนซ้ำเติมเกษตรกรไทยให้ตายคาแผ่นดินเกิด” ซึ่งหลังจากการอนุมัติของรัฐบาลในครั้งนี้ ได้สร้างประเด็นร้อนที่วิพากษ์กันในโซเซียลเน็ตเวิร์กอย่างมากมาย

ทั้งนี้ เจ้าของเรื่องยังกล่าวถึงประเด็นด้านสุขภาพผู้บริโภคในกรณีที่รับประทานอาหารที่มีกระบวนการผลิตจากการตัดต่อพันธุกรรมหรือ จีเอ็มโอ ว่า แม้ผู้บริโภคจะคิดว่าไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ในทางกลับกันผู้บริโภคต่างหากที่จะเป็นผู้จ่ายต้นทุนด้วยสุขภาพของตนเองโดยไม่มีใครมาชดเชย

ขณะเดียวกัน เรื่องดังกล่าวยังถูกพูดถึงในเฟซบุ๊กเพจ เกี่ยวกับการทำเกษตรทางเลือกหรือออแกนิกส์ฟาร์ม รวมไปถึงมูลนิธิและผู้ที่มีบทบาทด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสิทธิผู้บริโภค

ในแง่กฎหมาย พ.ร.บ. มีประเด็นหลักสำคัญ 9 ประการที่ละเลยและเพิกเฉย ได้แก่ ประเด็นที่ 1 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ยึดหลักความปลอดภัยไว้ก่อน ประเด็นที่ 2 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้คำนึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ประเด็นที่ 3 ร่างกฎหมายฉบับนี้โดยหลักการคือการเปิดเสรีจีเอ็มโอ ประเด็นที่ 4 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้ต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่ 5 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้การขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

ประเด็นที่ 6 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากจีเอ็มโอในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ประเด็นที่ 7 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทคุ้มครองเกษตรกรที่พืชผลถูกจีเอ็มโอปนเปื้อน ประเด็นที่ 8 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุหลักประกันทางการเงินกรณีเกิดความเสียหายจากจีเอ็มโอ และประเด็นที่ 9 ร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างรุนแรง

โดยมีข้อเรียกร้องในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พิจารณายกเลิก พ.ร.บ.การให้เสรีการตัดต่อพันธุกรรม จีเอ็มโอ เพื่อเกษตรกรไทยไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือของผู้ผลิตปุ๋ยเคมีและเมล็ดพันธุ์

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะใช้ดูแลสิ่งมีชีวิตที่มีการตัดต่อ ตัดแต่ง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม หรือผสมผสานสารพันธุกรรมใหม่ ที่ได้จากวิธีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ หรือวิธีการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทั้งพืชและสัตว์ แต่ไม่รวมถึงการทดลองสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นยาสำหรับมนุษย์ หรือสัตว์ตามที่มีกฎหมายเฉพาะควบคุมอยู่

นอกจากนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งมีปลัด ทส.เป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง 12 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 10 คน มีเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมมิให้ปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมใดๆ สู่สิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เว้นแต่สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าวได้ผ่านการควบคุม และทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพภาคสนามแล้ว การประเมินความเสี่ยงอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์และได้ขึ้นบัญชีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้แล้ว

ในส่วนของบทลงโทษ กำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้ หากผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของหน่วยงานรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ และผู้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 3 แสนบาท จำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 3 ปี

อย่างไรก็ตาม มีส่วนราชการได้ทำความเห็นประกอบวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยได้แสดงความวิตกกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นว่า ควรบัญญัติให้ชัดเจนในการห้ามมิให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกจีเอ็มโอ เว้นแต่รัฐมนตรีเห็นชอบโดยคณะกรรมการความปลอดภัยฯ จะได้ประกาศยกเว้น

นอกจากนั้น ยังเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวข้องกับนโยบายจีเอ็มโอที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์ หากส่งเสริมจีเอ็มโอจะเป็นการจำกัดตลาดของไทยให้แคบลง และยังต้องแข่งกับผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศและเกษตรกรในทุกมิติ

สศช.เสนอแนะอีกว่า หากเกิดความเสียหายจากการดำเนินการ ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบและต้องมีมาตรการคุ้มครองระบบเกษตรกร กรณีทำให้เกิดการปนเปื้อนกับเกษตรกร และหากจำเป็นต้องพัฒนาควรเป็นสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร เช่น กล้วยไม้ ปลาสวยงาม และระยะแรกควรทดลองในห้องทอดลองของส่วนราชการก่อน

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์เสนอความเห็นว่า ที่ผ่านมามีการอนุญาตให้นำเข้ามาทดลองเป็นรายกรณี แต่ก็ยังมีการปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศซึ่งจะกระทบต่ออาหาร พืชผลทางการเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ และจะสร้างความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้

ขณะเดียวกัน ยังกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยและภาพลักษณ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันไทยมีนโยบายยกระดับสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการออกกฎหมายลูกจะต้องรัดกุม หรือกำหนดแนวปฏิบัติในการขนย้าย การเก็บรักษา การบรรจุ การปิดฉลาก และการทำเอกสารกำกับ เพราะการบังคับใช้กฎหมายควบคุมจีเอ็มโอทำได้ยากหากไม่มีแนวทางบังคับที่ชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น