xs
xsm
sm
md
lg

ฟังเสียงฝ่ายหนุน-ต้าน หลัง "พรบ.จีเอ็มโอ" ผ่าน ครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(REUTERS PHOTO/ BOGDAN CRISTEL)
ฟังความเห็นนักวิชาการฝ่ายหนุน-ต้านจีเอ็มโอ หลังคณะรัฐมนตรียุครัฐบาล คสช.พิจารณาเห็นชอบพระราชบัญญัติจีเอ็มโอฉบับตัดต่อพันธุกรรม ฝ่ายหนุนบอกเป็นโอกาสดีได้เริ่มทดสอบข้อดี-ข้อเสียแม้กฎเกณฑ์มาก ด้านฝ่ายต้านชี้ขาดเป็นความล้มเหลวของระบบเกษตรชาติที่รัฐบาลต้องเตรียมตัวรับผิดชอบ

หลังถกเถียงกันอยู่นาน ในที่สุด “ร่าง พรบ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....” หรือที่เข้าใจกันทั่วไปว่า “ร่าง พรบ.จีเอ็มโอ” ก็ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันอังคารที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ท่ามกลางทั้งเสียงคัดค้านและเสียงยินดี

โอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยังนักวิจัยผู้ที่ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างเกี่ยวกับการทำจีเอ็มโอ เพื่อสอบถามถึงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบ

ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรับปรุงพันธุ์พืช ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้สนับสนุนเทคโนโลยีจีเอ็มโอ กล่าวว่า หลังจากรับทราบว่าร่างพระราชบัญญัติผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีก็รู้สึกตื่นเต้นดีใจ หลังรอมานานกว่า 10 ปีแต่ก็ทราบดีว่ามีผู้คัดค้านและให้ข้อคิดเห็นโต้แย้งเป็นจำนวนมากซึ่งเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธ และกลับเห็นเป็นโอกาสดีที่จะได้เริ่มทดสอบเพื่อทำการพิสูจน์ว่าจีเอ็มโอในธรรมชาติมันดีหรือไม่ดีจริงๆ

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.พีระศักดิ์ ยังเผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ถึงจะมีพระราชบัญญัติออกมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำจีเอ็มโอได้โดยเสรี เพราะถ้าจะทำการทดสอบก็ยังจำเป็นต้องไปขอลงทะเบียน และขออนุญาตทดสอบกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก่อน ซึ่งเขาในฐานะนักวิจัยที่อดทนรอเพื่อทำการศึกษาอย่างถูกกฎหมายก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามเพื่อเป็นต้นแบบให้การทำวิจัยจีเอ็มโอเกิดระบบระเบียบ

“เหมือนสิ้นสุดการรอคอยสำหรับผมเลย แล้วก็เป็นนิมิตรหมายใหม่ให้คนที่ทำจีเอ็มโอแบบหลบๆซ่อนๆ ได้เปิดมุ้งเผยโฉมกันออกมาเสียที ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องดีเพราะเราจะได้รู้ไปเลย ว่าขณะนี้ใครมีอะไรอยู่ในมือบ้าง ซึ่งมันจะง่ายต่อการควบคุม และมันจะไม่หลุดเหมือนที่ผ่านมาด้วย ถ้ามีการจัดระบบระเบียบเสียที แล้วผมก็รู้นะว่ารัฐบาลและคนทั่วไปยังไม่มั่นใจ ซึ่งผมเชื่อว่าคนที่ต้องการทำวิจัยจีเอ็มโอยอมที่จะลงทะเบียน หรือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์แน่นอน แล้วผมก็จะทำวิจัยจีเอ็มโอในพืชที่ไม่ใช่พืชอาหารด้วย เลยไม่อยากให้ค้านกัน ” ศาสตราจารย์นักวิจัยฝ่ายสนับสนุนจีเอ็มโอ กล่าวแก่ทีมข่าวผปู้จัดการวิทยาศาสตร์

ด้าน ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักพฤกษศาสตร์ฝ่ายต้าน กล่าวว่า เป็นความน่าเสียดายที่ประเทศไทยจะถูกผลัดให้เป็นประเทศที่ต้องตั้งรับมากขึ้นกับระบบอุตสาหกรรมเกษตร เพราะการมีกฎหมายอนุญาตก็หมายถึงการยอมรับให้จีเอ็มโอเข้ามาในระบบเกษตรของประเทศ ซึ่งขัดแย้งกับความพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เป็นการทำลายสถานะความเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์ที่เคยเป็นภาพลักษณ์ของไทยในสายตาชาวโลกโดยตรง และยังจะทำให้ไทยตกอันดับการเป็นผู้ผลิตส่งออกผลิตผลทางการเกษตรไปโดยปริยาย เพราะเกือบทุกประเทศทั่วโลกไม่มีใครยอมรับผลิตภัณฑ์การเกษตรจากประเทศที่มีการอนุญาตให้มีการทำจีเอ็มโอ

“ผมพูดเรื่องข้อเสียของของจีเอ็มโอไปบ่อยแล้ว พูดในหลากหลายมิติด้วยแต่ในเมื่อพวกคุณไม่ฟัง ผมก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากจะต้องจับตา และอยากให้ประชาชนช่วยกันจดจำด้วยว่า หัวหน้ารัฐบาลและคณะรัฐมนตรีที่ตัดสินใจให้จีเอ็มโอผ่านมีใครบ้าง เพราะเขาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไหนว่าเราจะเป็นครัวของโลกไม่ใช่หรือ ? แต่ทำไมวันนี้เราสะดุดขาตัวเอง ? ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเราจะต้องมายอมเสียผลประโยชน์ทางการเกษตรซึ่งเป็นเม็ดเงินหลักของเราไปกับการเปิดช่องทางเล็กๆ ที่ดูแล้วไม่เห็นจะมีใครได้ประโชน์ ” ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรับปรุงพันธุ์พืช ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
ด้าน ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์  อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย









กำลังโหลดความคิดเห็น