ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายเกษตรกรเชียงใหม่และนักศึกษา ม.แม่โจ้รวมตัวบุกศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ยื่นหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ชี้ขาดความชอบธรรม ทำลายภูมิปัญญาบรรพบุรุษ และผลักไสให้เกษตรกรต้องตกเป็นเบี้ยล่างบริษัทเอกชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ จี้เร่งทบทวนด่วน
วันนี้ (9 ธ.ค. 58) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายไสว สุทธนิล ตัวแทนเกษตรกรอินทรีย์ จังหวัดเชียงใหม่, นายโจน จันใด ตัวแทนเกษตรกรรายย่อยจังหวัดเชียงใหม่ และนายอโนชา ปารมีสัก ผู้ประสานงานชมรมผู้บริโภคอาหารอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนจากองค์กรเกษตรกร เครือข่ายภาคประชาชน ผู้ประกอบการเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวมกว่า 80 คน เข้ายื่นหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งมีการนัดเคลื่อนไหวพร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีนายประจวบ กันธิยะ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนรับมอบ
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวขอให้ชะลอ และแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อความเป็นธรรม พร้อมขอให้ทบทวนการออก พ.ร.บ.ฉบับใหม่ พร้อมการปรับปรุง เพื่อให้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งจะสามารถป้องกันกิจกรรมเกี่ยวกับจีเอ็มโอ (GMO) ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการด้านการเกษตรและอาหาร ผู้บริโภค ทั้งอธิปไตยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ รวมไปถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของรัฐบาล
นายโจน จันใด ตัวแทนเกษตรกรรายย่อยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เหตุผลที่ได้มีการรวมกลุ่มกันในวันนี้เนื่องจากทุกคนต่างไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับนี้เนื่องจากมีหลายอย่างที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม ทั้งยังเห็นว่าประโยชน์จะเอื้อแก่เพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือบริษัทรายใหญ่บางรายเท่านั้น
นอกจากนั้น โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัย และประโยชน์ที่ประชาชนหรือเกษตรกรจะได้รับนั้นยังค่อนข้างเคลือบแคลง ขณะที่รัฐอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้เป็นการเพิ่มผลผลิตมากขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เนื่องจากปัญหาความยากจนและผลผลิตทางการเกษตรทุกวันนี้ไม่ใช่ปัญหาผลผลิตตกต่ำ ตรงกันข้ามผลผลิตมีมากเกินพอและมีคุณภาพ แต่ปัญหาอยู่ที่กลไกราคาตลาด ทำให้ผลผลิตราคาตกต่ำ
นอกจากนั้น เห็นว่าการทำจีเอ็มโอเป็นการผลักดันให้เกษตรกรไทยไปอยู่ใต้อำนาจของบริษัทเพียงไม่กี่บริษัท เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้สนับสนุนให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง แต่กลับผลักดันให้ไปพึ่งพาบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอนั้นไม่ใช่ของฟรี หากต้องการเพาะปลูกก็ต้องจ่ายซื้อกับบริษัทที่มีการผลิต และไม่ใช่ว่าชาวบ้านธรรมดาหรือว่าใครก็ทำได้ ต้องอาศัยเงินทุนและเทคโนโลยีสูง
ดังนั้น หากเปิดฟรีจีเอ็มโอ คนที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเมล็ดพันธุ์ทั้งหลายที่บริโภคในท้องตลาดนั้นจะกลายเป็นของบริษัทรายใหญ่ทั้งหมด โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกัน ระบุว่าผลผลิตพืชพันธุ์ของไทยทุกวันนี้เกิดจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษของเราที่สืบทอดต่อกันมา หากปล่อยให้ พ.ร.บ.นี้ผ่าน ปล่อยให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตัดต่อพันธุกรรมพืชพันธุ์ของไทย แล้วจดสิทธิบัตรเป็นของตนเองนั้น คงเป็นการย่ำยีมรดกของชาติไทยอย่างยิ่ง
สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์คือสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แล้วเหตุใดเราจึงจะต้องนำตัวเองไปเป็นหนูทดลองเพื่อความร่ำรวยของบริษัทเพียงไม่กี่บริษัท และหากมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในอนาคต ก็คงไร้การรับผิดชอบจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแน่นอน