xs
xsm
sm
md
lg

พรึบ! เครือข่ายเกษตรทั่วภาคเหนือหวั่นหายนะเกิดหากร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอผ่านสภาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบัญชา อรุณเขต ประธานสภาเกษตรกร จ.อุตรดิตถ์
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายเกษตรทั่วภาคเหนือรวมตัวยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าฯ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ (จีเอ็มโอ) ระบุมีข้อบกพร่องเพียบ

วันนี้ ที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.อุตรดิตถ์ นายบัญชา อรุณเขต ประธานสภาเกษตรกร จ.อุตรดิตถ์ และประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ 13 องค์กร จ.อุตรดิตถ์ พร้อมแกนนำเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ 6 คน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสุมิตร เกิดกล่ำ ปลัดจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อขอคัดค้านร่างกฎหมายพระราชบัญญัติจีเอ็มโอ หรือร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ผลักดันโดยกลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอและใกล้ชิดกับบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว กำลังถูกเสนอไปสู่คณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ และคาดว่าจะผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเร็วเช่นเดียวกัน

นายบัญชากล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะกับประเทศไทยอย่างยิ่ง ไม่มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกรไทย ที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ และมีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมแบบนี้มานาน หากปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านเป็นกฎหมาย อาชีพเกษตรกรรมของไทยจะค่อยๆ สูญหายไป เกษตรกรรมที่ใช้วิทยาศาสตร์ต่างชาติเข้ามาแทนที่ ผู้บริโภคก็จะได้บริโภคแต่สารเคมี และผลผลิตทางการเกษตรที่มีการดัดแปลงตัดต่อทางพันธุกรรมที่ต่างชาตินำมาใช้ ที่สุดผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทยจะไม่มีต่างชาติสั่งซื้อจะถูกยกเลิกหมด เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรมีสารเคมีปะปน อย่างไรก็ตาม จะยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องนี้ต่อ สนช.โดยตรงด้วย

ด้านจังหวัดกำแพงเพชร สภาเกษตรพร้อมด้วย 8 เครือข่ายเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชรถือป้ายต้านตัดแต่งพันธุกรรมพืชและสัตว์ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร คัดค้านร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ดูแลความสงบอย่างใกล้ชิด

โดยนายจรัน จันทะบุตร รองประธานสภาเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร คนที่ 1 เปิดเผยว่า ในฐานะตัวแทนของภาคเกษตรกรรมของจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับสถาบันเกษตรกร องค์กรต่างๆ รวมทั้งเครือข่ายของภาคประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชร ขอคัดค้านพร้อมทั้งขอให้ชะลอร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยให้มีการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทั้งกระบวนการและเนื้อหา เพื่อให้สามารถป้องกันกิจกรรมเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเกษตรกรรายย่อย

ผู้ประกอบการด้านการเกษตรและอาหาร ผู้บริโภค จึงขอเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งให้โอกาสเสนอร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวิภาพฉบับประชาชนประกอบการพิจารณาด้วย

สำหรับที่จังหวัดลำปาง 17 เครือข่ายประชาสังคมประมาณ 100 คนใช้กลองยาวนำหน้าขบวนเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อยื่นหนังสือถึงนายรัฐมนตรีเพื่อให้ชะลอและแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยมีนายสมชัย กมลเทพเทวินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ออกมารับหนังสือและจะได้นำส่งให้นายกรัฐมนตรีต่อไป

หลังจากนั้น นายเผ่าเทพ บำรุงกิจ ประธานเครือข่ายเกษตรกรอำเภองาวได้เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ว่า ทางองค์กรและเครือข่ายประชาสังคมของจังหวัดลำปางเห็นว่า พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับดังกล่าวมีข้อบกพร่อง 5 ข้อ คือ

1. ไม่กำหนดความรับผิดทางแพ่ง กรณีที่ “จีเอ็มโอที่ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม” แล้วเกิดความเสียหาย

2. เปิดช่องให้ผู้เกี่ยวข้องกับการทดลองจีเอ็มโอในสภาพที่ควบคุมจีเอ็มโอภาคสนามไม่ต้องรับผิดหากเกิดเหตุสุดวิสัย

3. ให้อำนาจหน่วยงานรับผิดชอบซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่วิจัยและส่งเสริมจีเอ็มโออยู่แล้วในการปลดปล่อยจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อมโดยปราศจากการถ่วงดุล

4. คณะกรรมการที่บริหารกฎหมาย การแต่งตั้งผู้ชำนาญการ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ และขาดการถ่วงดุล โดยเฉพาะจากสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบ

5. การสั่งให้ยุติการทดลองหรือยุติการปลูกพืชเชิงพาณิชย์ รวมถึงการรับผิดชอบและชดเชยความเสียหายต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด ไม่เป็นไปตามหลักการสากลหรือพิธีสาร

ดังนั้น ทางองค์กรฯ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาชะลอการส่งกฎหมายฉบับนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์และสามารถปกป้องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ สุขภาพและผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป

จังหวัดแพร่ เครือข่ายเกษตรกรรม หมอพื้นบ้าน สภาเกษตรกรส่งตัวแทนประท้วงกฎหมายจีเอ็มโอ นำโดยนายวิฑูรย์ สุรจิต เกษตรกรในตำบลสบสาย อ.สูงเม่น จ.แพร่ นำหนังสือคัดค้าน แถลงการณ์ และบัญชีรายชื่อลงนามคัดค้านการออกกฎหมาย พ.ร.บ.พันธุกรรมพืช (GMO) ส่งไปยัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่ ที่ห้องทำงานศูนย์ดำรงธรรม ภายในศาลากลางจังหวัดแพร่

เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายเปิดให้มีการตัดต่อพันธุกรรมพืชได้ในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมองว่าจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดีในการออกกฎหมายครั้งนี้ อีกทั้งในกฎหมายยังมีข้อบกพร่องมากมาย เช่น ถ้าปล่อยให้มีการตัดต่อแล้วแพร่ไปยังสิ่งแวดล้อมโดยผู้ทำให้เกิดปัญหาไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เคยมีข้อผิดพลาดมาแล้วถึง 2 ครั้งในการทดลองผลิตฝ้ายบีที และมะละกอจีเอ็มโอมาแล้ว

นอกจากนั้น ในร่างกฎหมายนี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การสั่งให้ยุติการทดลองหรือปลูกเชิงพาณิชย์ไม่ได้ยึดหลักสากล ซึ่งมีหลายหน่วยงานเคยท้วงติงมาแล้ว

เครือข่ายขอให้รัฐบาลทบทวนและชะลอการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และขอให้มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมพิจารณา มากกว่าการเร่งนำเข้าสู่สภาฯ ให้เป็นกฎหมายออกมา
นายจรัน จันทะบุตร รองประธานสภาเกษตรจังหวัดกำแพงเพชรยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร คัดค้านร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ


นายวิฑูรย์ สุรจิต  เกษตรกรในตำบลสบสาย อ.สูงเม่น จ.แพร่  นำหนังสือคัดค้าน แถลงการณ์ และบัญชีรายชื่อลงนามคัดค้านการออกกฎหมาย พ.ร.บ.พันธุกรรมพืช
นายวิฑูรย์ สุรจิต  เกษตรกรในตำบลสบสาย อ.สูงเม่น จ.แพร่  นำหนังสือคัดค้าน แถลงการณ์ และบัญชีรายชื่อลงนามคัดค้านการออกกฎหมาย พ.ร.บ.พันธุกรรมพืช
นายเผ่าเทพ  บำรุงกิจ ประธานเครือข่ายเกษตรกรอำเภองาวได้เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ว่า ทางองค์กรและเครือข่ายประชาสังคมของจังหวัดลำปางเห็นว่าพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ฉบับดังกล่าวมีข้อบกพร่อง

กำลังโหลดความคิดเห็น