นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ย้ำปฏิรูปในรัฐบาลนี้ให้เสร็จในปี 2560 ชี้ต้องปรับตัวทั้งภาคเอกชน และราชการ ร่วมมือทั้งกฎหมาย การศึกษา พร้อมตั้งคณะทำงานประชาสัมพันธ์แต่ละกระทรวง โอดที่ผ่านมาชี้แจงไม่เข้าใจ ประชาชนลุกฮือประท้วงทั้งเรื่องพลังงานและจีเอ็มโอ ทั้งที่ยังไม่ส่งไปยัง สนช.เลย
วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 3/2558 ว่า ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยมีปัญหาพอสมควรในเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลก ด้านเศรษฐกิจเราผูกติดการค้ากับต่างประเทศเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประเทศ ฉะนั้นวันนี้เราต้องปรับปรุงทั้งระบบ ทั้งการผลิต การค้าขาย การลงทุน อุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดย่อย ทั้งนี้ การแก้ปัญหาของเราค่อนข้างที่จะทำได้ช้า เพราะปัญหาเยอะเหมือนกับหนังที่ขาดตอน วันนี้พยายามเอาภาพยนตร์เหล่านั้นมาต่อกัน โดยเฉพาะการพัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันทั้งทางกฎหมาย กติกา ความยากง่ายในการเริ่มประกอบธุรกิจ การเสียภาษี การดูแลกฎหมายล้มละลาย ซึ่งเราจะต้องปรับปรุงทั้งหมด และมีการประเมินโดยหน่วยงานจากต่างประเทศ อย่าไปกังวลว่าจะได้อย่างไรเท่าไร เรากำลังจะทำทุกอย่าง ที่ผ่านมาไม่ได้ทำ ถึงทำก็ทำน้อย ข้าราชการก็ทำกันไป ผู้บริหารก็จะต้องเร่งรัดแบบที่ตนทำ
เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในเรื่องการศึกษา ที่เน้นการผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลิตแรงงานฝีมือให้สอดคล้องกับการลงทุน ทั้งหมดจะต้องบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป็นต้นไป ซึ่งจะเกิดขึ้นทุก 5 ปี เรียกว่า การปฏิรูป สิ่งใดก็ตามที่ตนใช้อำนาจที่มีอยู่ หรือใช้กฎหมายที่มีอยู่ทำได้เลย ทั้งการบูรณาการ คน แผนงาน งบประมาณ ก็จะทำในรัฐบาลนี้ และเราจะทำให้เสร็จในปี 2560 จะได้ไม่งง เราทำทุกอย่างก็เหมือนกับเราไม่ได้ทำ แต่ที่จริงแล้วมันเสร็จแล้ว แต่ทุกคนไม่ฟังเลยไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ปัญหาใหม่ สิ่งใดก็ตามที่จะต้องเกิดผลกับใคร คนนั้นจะต้องรู้ให้ได้ เกษตรกรได้อะไรไปแล้ว กฎหมายว่าอย่างไร มีสิทธิประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างการรับรู้ใหม่ เดิมที่เป็นกระทรวง หรือเป็นแอพพริเคชั่น เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ อาจจะมีการปรับใหม่ แบ่งเป็นกลุ่ม 1. เกษตรกร 2. นักธุรกิจ การค้า การลงทุน ซึ่งตนจะสั่งให้เลขา กพข. พิจารณาการตั้งคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ ให้เชื่อมต่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ทั้งนี้ เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มาประชุมในวันนี้มีความพอใจ และบอกมาว่าบางอย่างก็ยังไม่รู้ หมายความการรับรู้ยังมีปัญหาในหลายเรื่องที่ทำไปแล้ว การอำนวยความสะดวก จาก 1 ปีเหลือ 8 เดือน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องปรับตัวทั้งภาคเอกชน และราชการ ตนก็บอกว่าภาคราชการต้องมีการพัฒนา และจะพยายามทำให้เขาแข็งแรงขึ้น ทั้งรูปแบบการทำงานในเชิงรุก และความรู้ในทางวิชาชีพของเขา เพราะตนไม่เก่งอะไร แต่เรียนรู้ได้ไวและผ่านประสบการณ์มาเยอะพอสมควร งาน 20 กระทรวงในหลักการตนรู้หมด บริหารงานมาเป็นปีแล้ว งานหลายอย่างมีความก้าวหน้า นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องพัฒนาตัวเอง นอกจากนี้ตนได้เร่งรัดเรื่องภาษาอังกฤษ ที่ต้องฟังให้รู้เรื่อง ไม่จำเป็นต้องแถลงเป็นภาษาอังกฤษ เอาเท่าที่รู้ แต่ก็ต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อนักท่องเที่ยว คนไทยเป็นเจ้าบ้านที่ดีก็ต้องพอรู้ และภาษาอังกฤษสำหรับนักธุรกิจ ภาษาอังกฤษสำหรับแรงงาน ภาษาอังกฤษในสถานศึกษา ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคืออิเล็คทรอนิกส์อีเลิร์นนิง ถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็จะเป็นอยู่แบบนี้ จะขัดแย้งกันอยู่แบบนี้ พอออกกฎหมายอะไรก็ขัดแย้งกันหมด
“ผมหงุดหงิด ผมไม่เข้าใจ เพราะส่วนราชการชี้แจงไม่เข้าใจ แล้วก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยออกมาเยอะแยะไปหมด ทำเพื่ออะไรก็ไม่รู้ ในเมื่อผมบอกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัยทางชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ และร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยังไม่ผลส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เลย ในเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว ยังมีข้อขัดแย้ง ผมก็สั่งไปว่าจะทำได้ตรงไหน เพื่อที่จะรับประเด็นความขัดแย้งเข้าไปได้ด้วย นำไปแก้ในหลักการและเหตุผล ให้กว้างขึ้น ครอบคลุมสิ่งที่เขาเรียกร้องมา จะได้เอาทั้งหมดไปพิจาณาร่วมด้วย เพราะเดิมหากเขียนแค่นี้จะไปแปรญัตติอย่างอื่นไม่ได้ ผมให้โอกาสขนาดนั้น ไปแปรกันตรงนู้น ผ่านก็ผ่าน ไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน ก็แค่นั้น ถ้าไม่ผ่านปัญหาพลังงานก็เกิดขึ้นในวันหน้า ไม่ได้ขู่ขี้เกียจพูดแล้ว ส่วนเรื่องจีเอ็มโอก็ยังไม่ได้เกิด เขาก็ไปแก้หลักการและเหตุผลให้ครอบคลุม ผมยืนยันว่า ไม่เคยคิดให้มีจีเอ็มโอในประเทศไทย ใครคิดก็บ้าแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า การตั้งคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ในแต่ละกระทรวง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่ เขามีของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการสร้างการรับรู้ไม่ครอบคลุม อาจจะต้องเอาภาคเอกชนเข้ามาช่วยด้วย บริษัท ธุรกิจเขาพร้อมที่จะช่วยอยู่แล้ว เพราะคนรับรู้จากเขา แต่พอรัฐบาลพูดคนอาจจะไม่สนใจ ไม่เชื่อบ้าง ก็แล้วแต่