xs
xsm
sm
md
lg

สภาเกษตรเมืองจันท์-แปดริ้ว รวมตัวหน้าศาลากลางค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาเกษตร จ.จันท์รวมตัวหน้าศาลากลางค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอ
ศูนย์ข่าวศรีราชา - สภาเกษตรเมืองจันท์-แปดริ้ว รวมตัวยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ผ่านไปถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้าน พ.ร.บ.GMO หวั่นทำลายสายพันธุ์ต้นตำรับดั้งเดิม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียงของไทย

ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี นายณรงค์ สุทธาทิพย์ ตัวแทนสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยสถาบันเกษตรกร องค์กรต่างๆ และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดจันทบุรี ได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ (GMO) โดยมีนาวาเอกจาริก พัวพานิช รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดจันทบุรี เป็นผู้รับหนังสือคัดค้านในครั้งนี้

สำหรับการเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งหากร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ ชีวิตเกษตรกร และเศรษฐกิจการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทยอย่างประเมินค่ามิได้

เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดหลักการเพื่อควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ แต่รายละเอียดที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฯ กลับไม่สอดคล้องต่อหลักการที่วางไว้โดยขาดหลักการป้องกันเอาไว้ก่อน รวมทั้งมิได้นำเอาหลักการของพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งเป็นหลักการสากลมาบัญญัติไว้ ทำให้ประเทศไทยต้องรับความเสี่ยงจากการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายเกี่ยวกับการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร และระบบเกษตรกรรมของประเทศอย่างร้ายแรงในอนาคต

ดังนั้น สภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี ในฐานะตัวแทนของภาคเกษตรกรรมของจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับสถาบันเกษตรกร องค์กรต่างๆ รวมทั้งภาคีเครือข่ายของภาคประชาชนในจังหวัดจันทบุรี ขอคัดค้าน และขอให้ชะลอร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยให้มีการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ทั้งกระบวนการเนื้อหาเพื่อให้สามารถป้องกันกิจกรรมเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการด้านการเกษตรและอาหาร ผู้บริโภค อำนาจอธิปไตย และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

รวมทั้งเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของรัฐบาลจึงขอให้มีการดำเนินการ คือ 1.ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ 2.พิจารณานำข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ ไปใช้ประกอบในการปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ และ 3.นำหลักการป้องกันไว้ก่อน การคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และข้อเสนออื่นๆ ที่สำคัญตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ในข้อ 1.เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นต่อไปอีกด้วย

ส่วนที่หน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่มประชาชนจำนวนประมาณกว่า 100 คน ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ที่ผ่านมติการพิจารณาเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 พ.ย.58 ที่ผ่านมา ไปยัง สนช.ให้ออกเป็นกฎหมาย ได้ออกมายืนชูถือแผ่นป้ายการคัดค้าน และต่อต้านการเตรียมออกกฎหมายฉบับนี้

พร้อมเรียกร้องให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งร่วมอยู่ในงานกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชัน พร้อมด้วย นายไพศาล วิมลรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และหัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน บนศาลาไทย ได้ออกมารับฟังการอ่านแถลงการณ์ และรับหนังสือจากตัวแทนเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรแบบดั้งเดิมที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เพื่อส่งไปถึงยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการคัดค้านการออก พ.ร.บ.ฉบับ ดังกล่าว

หลังจากนั้น นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย นายไพศาล วิมลรัตน์ จึงได้เดินลงมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมได้รับหนังสือจากตัวแทนเกษตรกรไว้ ก่อนที่นายอนุกูล จะรีบขอตัวกลับออกไปก่อน โดยระบุว่า บิดาของตนกำลังป่วยอยู่ในห้องไอซียู นอนพักรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล จึงไม่สะดวกที่จะรอรับฟังการอ่านแถลงการณ์ได้ จึงได้มอบหมายให้ นายไพศาล วิมลรัตน์ รองผู้ว่าฯ เป็นผู้ยืนรับฟังการอ่านแถลงการณ์แทน

หลังยื่นหนังสือคัดค้านแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ยอมสลายตัวกันกลับไปในที่สุด ท่ามกลางบรรยากาศที่เกือบจะตึงเครียดขึ้น เมื่อช่วงก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองฉะเชิงเทรา นำโดย พ.ต.ท.นพพร อานโพธิ์ทอง สวป.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา ได้พยายามกดดันให้กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวยุติการชุมนุม โดยอ้างว่าผิด พ.ร.บ.การชุมนุม ที่จะต้องทำหนังสือขออนุญาตจากทาง ผกก.สถานีตำรวจท้องที่ก่อน จึงจะทำการชุมนุมได้

แต่โชคดีผู้ว่าราชการจังหวัดได้เสร็จสิ้นกิจกรรมก่อน จึงได้ลงมารับหนังสือ และรับฟังการอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวจากกลุ่มผู้ชุมนุม เหตุการณ์จึงสงบลงด้วยดี
ผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจ
สภาเกษตรกร จ.แปดริ้ว ร่วมค้านพ.ร.บ.จีเอ็มโอ
ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯแปดริ้ว ผ่านถึงนายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น