xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นหายนะ! เกษตรกรอีสานฮือต้านร่าง กม.GMOs จี้นายกฯ สั่งทบทวนเนื้อหาใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - หวั่นหายนะเยือนความมั่นคงทางอาหาร ซ้ำทำลายวิถีชีวิตเกษตรกรไทย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกฯ จี้หยุดนำร่างกฎหมาย GMOs เข้า ครม. พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรรายย่อย ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ฯลฯ เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดีขึ้น

เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันนี้ (9 ธ.ค.) ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดขอนแก่นเพื่อยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อคัดค้านและเสนอให้มีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพหรือการเปิดเสรีพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs)

ทั้งนี้ เพื่อต้องการหยุดยั้งการนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งยังคงมีความบกพร่องอย่างร้ายแรง อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร วิถีชีวิตเกษตรกร ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และจะทำลายเศรษฐกิจการส่งออกผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางอาหารอย่างไม่สามารถประเมินมูลค่าได้

โดยการยื่นหนังสือครั้งนี้มีนายสัมภาษณ์ ศรีหงส์ ป้องกันจังหวัดขอนแก่นลงรับหนังสือแทนผู้ว่าราชการจังหวัด

ก่อนยื่นหนังสือ นายถนัด แสงทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ได้อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว พร้อมกับแสดงข้อกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยมองว่าเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฯ มีเจตนาเพื่อเปิดเสรีพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) โดยไม่ได้นำหลักการที่ว่าด้วยความปลอดภัยไว้ก่อน ในอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีมาปรับใช้ในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการบริโภคพืชจีเอ็มโอ เช่น ปกป้องทรัพยากรชีวภาพ รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม

ที่สำคัญ เป็นการเปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์สามารถปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมได้อย่างเสรีและไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากพืชจีเอ็มโอ ซ้ำยังจะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของแผ่นดินไทยตกอยู่ในการผูกขาดของอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ ต้องซื้อใหม่ทุกรอบการผลิต ฯลฯ

นายถนัดกล่าวว่า ดังนั้น ทางเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฯ จึงมีข้อเสนอให้หยุดการนำร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพนี้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. จากนั้นมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำร่าง พ.ร.บ.นี้ไปจัดรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรรายย่อย ภาคประชาสังคม นักวิชาการอิสระ และภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดีขึ้น โดยนำหลักการป้องกันไว้ก่อน การป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม การชดเชยและเยียวยาความเสียหายตามหลักผู้ก่อมลภาวะเป็นผู้จ่าย

รวมไปถึงการป้องกันปัญหาการปนเปื้อน ซึ่งจะกระทบต่อการทำเกษตรกรรมอินทรีย์และทรัพยากรชีวภาพของชาติโดยภาพรวม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายมาบรรจุในกฎหมายฉบับนี้

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าวิตกไปกว่านั้น คือ การอนุญาตให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดและการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ มีโอกาสจะสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย เกษตรอินทรีย์ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและผลกระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของประเทศ ดังที่ประเทศในสหภาพยุโรปมากกว่า 16 ประเทศประกาศแบน และผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั้งในยุโรปและมากกว่าครึ่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาต่างปฏิเสธอาหารที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม

อย่างไรก็ตาม ภายหลังรับหนังสือข้อเรียกร้องจากตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกแล้ว นายสัมภาษณ์ได้กล่าวว่าจะนำประเด็นข้อเสนอดังกล่าวส่งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นพิจารณาเพื่อนำเรียนถึงนายกรัฐมนตรีต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น