ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสงขลา และพื้นที่ภาคใต้ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์ดำรงธรรม ขอชะลอการส่งร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ
วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา (หลังเก่า) อ.เมือง จ.สงขลา เครือข่ายภาคประชาชน จ.สงขลา และพื้นที่ภาคใต้ เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารภาคใต้ กว่า 100 คน ยื่นหนังสือ พร้อมอ่านแถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอการส่งร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา โดยมี นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่อง
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 นั้น เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารภาคใต้ พร้อมด้วยเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารคาบสมุทรสทิงพระ อ.จะนะ แนวเทือกเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ครัวใบโหนด ครัวชุมชน เพื่อคนทั้งหมด เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น เครือข่ายพ่อเฒ่าแม่เฒ่ากับสาวนุ้ย เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์คาบสมุทรสทิงพระ เครือข่ายฌาปนกิจตาลโตนด และเครือข่ายติดตามเฝ้าระวังภัยพิบัติธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
จึงได้รวมตัวกันยื่นหนังสือ และแถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรี เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคอย่างร้ายแรง จากการวิเคราะห์โดยนักวิชาการด้านกฎหมายจากหลายสถาบัน และองค์กรภาคประชาสังคมได้ติดตามปัญหาเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) เห็นว่าร่างกฎหมายนี้มีเจตนาในการเปิดให้มีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม เปิดช่องให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายโดยอ้างเหตุสุดวิสัย ไม่ได้บัญญัติให้ผู้ครอบครองจีเอ็มโอที่ได้รับอนุญาตให้ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมไม่ต้องรับผิดชอบ และชดใช้ความเสียหายในกรณีที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และผลทางเศรษฐกิจสังคม เป็นต้น
เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสงขลา ขอเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาชะลอการส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์
1.โดยขอให้แต่งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายก่อนเสนอสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยให้มีตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก GMO ตัวแทนจากเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเกษตรอินทรีย์ และนักวิชาการด้านกฎหมายที่ได้ติดตามประเด็นความปลอดภัยทางชีวภาพ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมาย
2.พิจารณานำข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ ไปใช้ประกอบในการปรับปรุงร่างกฎหมายนี้
3.นำหลักการป้องกันไว้ก่อน การคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และข้อเสนออื่นๆ ที่สำคัญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯในข้อ 1. เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น