xs
xsm
sm
md
lg

40 จังหวัด 115 ผู้ประกอบการเกษตร-อาหารยื่น “บิ๊กตู่” ชะลอร่าง กม.จีเอ็มโอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) ได้นำเครือข่ายทั่วประเทศ 40 จังหวัด และภาคเอกชนเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.  (ภาพแฟนเพจไบโอไทย)
ยื่นค้านร่างกฎหมายจีเอ็มโอทั่วประเทศ เครือข่ายภาคประชาชน 40 จังหวัด และผู้ประกอบการเกษตรและอาหาร 115 องค์กร เข้าชื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ แจง “นายกฯ-ผู้ว่าฯ” แสดงสัญลักษณ์ขอให้ชะลอ และแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมาย ก่อนเสนอ สนช.



วันนี้ (9 ธ.ค.) มีรายงานว่า ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายภาคประชาชน 40 จังหวัด และผู้ประกอบการเกษตรและอาหาร 115 องค์กร คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... นำโดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ได้นำเครือข่ายทั่วประเทศ 40 จังหวัด และภาคเอกชนเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ขณะที่พื้นที่ 40 จังหวัดได้มีตัวแทนเข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ศาลากลางจังหวัดในเวลาเดียวกัน

ที่กรุงเทพฯ หน้าทำเนียบรัฐบาล นายวิฑูรย์ได้อ่านแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ชะลอ และแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีใจความว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 นั้น องค์กรและเครือข่ายด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรและอาหารเครือข่ายผู้บริโภค กลุ่มองค์กรประชาชนในจังหวัดต่างๆ และองค์กรภาคประชาสังคม เห็นว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค อย่างร้ายแรง เนื่องจากมิได้นำเอาหลักการป้องกันไว้ก่อน และหลักการผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพซึ่งเป็นหลักการสากลมาบัญญัติไว้

จากการวิเคราะห์โดยนักวิชาการด้านกฎหมายจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามปัญหาเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) มามากกว่า 20 ปี เห็นว่า ร่างกฎหมายนี้ขาดความชอบธรรม ขาดหลักการสำคัญ และมีข้อบกพร่องอย่างสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. กระบวนการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ดำเนินการโดยกลุ่มสนับสนุนจีเอ็มโอ ซึ่งประกอบไปด้วย
หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่วิจัยเรื่องจีเอ็มโอและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบรรษัทข้ามชาติที่ได้ประโยชน์จากจีเอ็มโอ โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ กฎหมายนี้ถูกตีกลับจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ อีกทั้งประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบไม่มีโอกาสได้เห็นเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะเพิ่งมาเผยแพร่หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

2. การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพอันเนื่องมาจากจีเอ็มโอนั้น มีพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ซึ่งประเทศไทยและประเทศต่างๆ รวม 196 ประเทศได้ให้สัตยาบัน) แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับมิได้นำเอาหลักการป้องกันเอาไว้ก่อน และการคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมของพิธีสารมาใช้แต่ประการใด ในทางตรงกันข้าม กลับไปรับเอาแนวทางของสหรัฐอเมริกาในองค์การค้าโลกที่ให้ใช้การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดก่อนเท่านั้นมาใช้เกี่ยวกับจีเอ็มโอ ไม่สอดคล้องกับหลักการสากล เพราะแนวทางตามกฎหมายนี้อาจต้องใช้เวลานานหลายปีจึงจะสามารถพิสูจน์ได้ซึ่งไม่ทันการณ์ต่อการคุ้มครองสุขภาพและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจสังคม

3. เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความบกพร่องในสาระสำคัญหลายประการ เช่น

3.1 เปิดให้มีการทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอได้อย่างเสรียกเว้นที่ประกาศห้ามเท่านั้น

3.2 เปิดช่องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายในกรณีอยู่ระหว่างการทดลองโดยอ้าง “เหตุสุดวิสัย”

3.3 ไม่ระบุความรับผิดชอบในกรณีที่จีเอ็มโอซึ่งปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมแล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรอินทรีย์ เกษตรทั่วไป ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

3.4 ไม่กำหนดให้จีเอ็มโอที่ทำการทดลองในสภาพควบคุมและจีเอ็มโอในภาคสนามต้องทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ถอยหลังมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 ธันวาคม 2550

3.5 ให้อำนาจ “หน่วยงานผู้รับผิดชอบ” ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกรม หรือสถาบัน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิจัย/ส่งเสริมเทคโนโลยีจีเอ็มโอเป็นผู้ตัดสินใจ “ปลดปล่อยจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นการอนุญาตให้มีการปลูกเชิงพาณิชย์ ทั้งๆที่การดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงทางเศรษฐกิจสังคม และด้านอื่นๆ ขาดการถ่วงดุล บทบาททับซ้อนและอาจนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนในกรณีที่หน่วยงานดังกล่าวร่วมดำเนินการวิจัยกับธุรกิจเอกชน

3.6 คณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ และคณะกรรมการชำนาญการ ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มิได้กำหนดให้ภาคประชาชนและผู้ประกอบการมีส่วนร่วมอย่างที่ควรจะเป็น และไม่สอดคล้องกับหลักการระหว่างประเทศ

4. หน่วยงานสำคัญของประเทศ 2 หน่วยงานได้ท้วงติงต่อร่าง พ.ร.บ.นี้ว่าอาจทำให้เกิดผลกระทบดังนี้

4.1 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นว่า อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เป็นการจำกัดตลาดของไทยให้แคบลง และยังต้องแข่งกับผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศและเกษตรกรในทุกมิติ

4.2 กระทรวงพาณิชย์เห็นว่า ที่ผ่านมามีการอนุญาตให้นำเข้ามาทดลองเป็นรายกรณี แต่ก็ยังมีการปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศ ซึ่งจะกระทบต่ออาหาร พืชผลทางการเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพและจะสร้างความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ นอกจากนี้ยังกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยและภาพลักษณ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันไทยมีนโยบายยกระดับสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เครือข่ายของประชาชนและผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆ ที่ร่วมลงนาม จึงขอเสนอต่อ ฯพณฯ ได้พิจารณาชะลอการส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์ และสามารถปกป้องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ สุขภาพ และผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังต่อไปนี้

1. ขอให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเอาไว้ก่อน โดยให้แต่งตั้งตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากจีเอ็มโอ ตัวแทนจากเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเกษตรอินทรีย์ และนักวิชาการด้านกฎหมายที่ได้ติดตามประเด็นความปลอดภัยทางชีวภาพ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายอย่างน้อยกึ่งหนึ่งในคณะกรรมการปรับปรุงร่างฯ

2. นำหลักการป้องกันไว้ก่อน การคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดเชยความเสียหาย มาเป็นหลักการสำคัญในการปรับปรุงร่างกฎหมาย และให้นำความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งปรับปรุงเนื้อหาที่บกพร่อง (หัวข้อ 3 ด้านบน) ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

เครือข่ายของประชาชนและผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆที่ร่วมลงนามเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีนั้นไม่สามารถควบคุมผลกระทบของจีเอ็มโอที่มีต่ออธิปไตยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ อีกทั้งขัดต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งสู่ความมั่นคง และยั่งยืนโดยประการทั้งปวง จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
จ.พัทลุง เป็น 1 ในพื้นที่ 40 จังหวัด ที่ได้มีตัวแทนเข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ศาลากลางจังหวัดในเวลาเดียวกัน (ภาพแฟนเพจไบโอไทย)









































จ.เชียงใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น