นครศรีธรรมราช - สภาเกษตรกรนครศรีธรรมราช และเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ชี้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคอย่างร้ายแรง
วันนี้ (9 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช สภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช นักวิชาการ เครือข่ายนักศึกษา นักวิทยาศาสตร์สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคมได้ร่วมเดินขบวนคัดค้านพระราชบัญญัติฉบับนี้เช่นเดียวกัน เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคอย่างร้ายแรง เนื่องจากมิได้นำเอาหลักการป้องกันไว้ก่อน และหลักผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และมีการอ่านแถลงการณ์
ขณะที่ นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช มารับหนังสือ และรับว่าจะดำเนินการส่งหนังสือไปตามเจตนารมณ์ของผู้คัดค้านต่อไปยังรัฐบาล
ส่วนเนื้อหาของหนังสือคัดค้านระบุว่า จากการวิเคราะห์โดยนักวิชาการด้านกฎหมายจากหลายสถาบัน และองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งได้ติดตามปัญหาเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) เห็นว่า ร่างกฎหมายนี้มีเจตนาในการเปิดให้มีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม เปิดช่องให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายโดยอ้างเหตุสุดวิสัย ไม่ได้บัญญัติให้ผู้ครอบครองจีเอ็มโอที่ได้รับอนุญาตให้ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ต้องรับผิดและชดใช้ความเสียหายในกรณีที่ทำให้เกิดผลกระทบ ทั้งที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และผลทางเศรษฐกิจสังคม เป็นต้น
องค์กร และเครือข่ายของภาคประชาสังคมในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเด็น : เกษตรที่เป็นธรรมปลอดภัยและความมั่นคงทางอาการ จึงขอเสนอต่อ ฯพณฯ ได้พิจารณาชะลอการส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์ และสามารถปกป้องสิ่วแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ สุขภาพ และผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังต่อไปนี้
1.ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายก่อนเสนอสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยให้มีตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการจีเอ็มโอ ตัวแทนจากเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ และนักวิชาการด้านกฎหมายที่ได้ติดตามประเด็นความปลอดภัยทางชีวภาพ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมาย
2.พิจารณานำข้อเสนอและของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ไปใช้ประกอบในการปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ 3.นำหลักการป้องกันไว้ก่อน การคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และข้อเสนออื่นๆ ที่สำคัญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ในข้อ 1 เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น