xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อุบลฯ ยื่นค้าน พ.ร.บ.เปิดช่องพืชจีเอ็มโอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์และเครือข่าย 15 กลุ่มในจังหวัดอุบลราชธานียื่นหนังวสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพที่ ครม.เห็นชอบในหลักการ โดยฝ่ายคัดค้านเกรงสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในประเทศไทย จี้รัฐบาล “ประยุทธ์” ตั้งเกษตรกร นักวิชาการ ผู้บริโภคเข้าเป็นกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. และให้ทำประชาพิจารณ์ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมาย

ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อุบลฯ รวม 15 กลุ่ม ประมาณ 50 คน นำโดย น.ส.คนึงนุช วงศ์เย็น เกษตรกรปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ มายื่นหนังสือให้ชะลอการแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่ง ครม.ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เนื่องจากทางกลุ่มเกษตรกรมีความเป็นห่วงพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืช ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคในประเทศไทย เนื่องจากในร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพมิได้มีการพูดถึงหลักการป้องกันตามหลักสากลมาบัญญัติไว้ในร่าง

จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) รวมทั้งยังไม่มีการบัญญัติให้ผู้ครอบครองสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอต้องรับผิดชอบ หากปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อมจนได้รับความเสียหาย

ทางเครือข่ายจึงต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งชะลอการนำร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. และต้องการให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายที่มีกลุ่มองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้

เช่น กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ กลุ่มเกษตรกรทั่วไป กลุ่มผู้บริโภค นักวิชาการอิสระ และกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายด้วย เพื่อพิจารณาออกบทบัญญัติป้องกันความเสียหายที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรมนี้

น.ส.คนึงนุชกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้พืชที่ตัดต่อพันธุกรรมก็ได้ และการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ก็ทำเพื่อกลุ่มทุนที่ประกอบธุรกิจข้ามชาติ จึงไม่เห็นด้วยและต้องการป้องกันไว้ก่อน

จึงเรียกร้องให้มีการตั้งกรรมการจากกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในอนาคต และมีการทำประชาพิจารณ์ ก่อนเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ นอกจากจะมีจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ยังมีอีก 7 จังหวัดภาคอีสานร่วมกันยื่นคัดค้านในครั้งนี้ด้วย

ต่อมา นายเจษฎา ปานะถึก หน.กลุ่มงานอำนวยการ สำนักงานจังหวัด ได้ลงมารับหนังสือจากกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลในวันเดียวกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น