xs
xsm
sm
md
lg

TPP ข้อตกลงผูกขาดทรัพยากรชีวภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ในการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ของนายสมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายนนี้ คือ จะขอให้ญี่ปุ่นช่วยไทยให้ได้เข้าร่วมกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ทีพีพี ด้วย

ญี่ปุ่นนั้น ถือว่าเป็นผู้นำร่วมกับสหรัฐฯ ในกลุ่มทีพีพี ซึ่งมีสมาชิก 12 ประเทศ และเพิ่งบรรลุข้อตกลงการตั้งเขตเสรีการค้าเสรี เอเชีย แปซิฟิก ซึ่งจะเป็นเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นอกจากญี่ปุ่น กับสหรัฐฯ ชาติสมาชิกอื่น ๆได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม ชิลี เปรู และเม็กซิโก

เช่นเดียวกับ ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ทั้งหลาย ที่ผู้ได้ประโยชน์คือ ภาคธุรกิจ ส่วนผู้ที่จะต้องได้รับผลกระทบคือ ภาคเกษตรกรรมและประชาชน

บทความเรื่อง “ทำไมประเทศไทยไม่ควรร่วม TPP ความตกลงผูกขาดทรัพยากรชีวภาพ” ของ มูลนิธิชีววิถี (Bio Thai Foundation) เห็นว่า วัตถุประสงค์ของสหรัฐ ฯ ที่เข้าร่วม TPP คือ การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร และการเปิดเสรีสินค้าและบริการที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำ เช่น จีเอ็มโอ และผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปลงพันธุกรรม ที่หลายประเทศไม่ยอมรับ

การเข้าร่วม TPP จะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับภาคเกษตรกรรมและทรัพยากรชีวภาพใน 2 ประเด็นสำคัญคือ

1. การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิต (patent on life) และการยอมรับระบบกฎหมายพันธุ์พืช UPOV1991

ภายใต้ความตกลง TPP ประเทศสมาชิกต้องให้สัตยาบันในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ และสนธิสัญญา UPOV1991 (International Convention for the Protection of New Varieties of Plants) (Article QQ.A.8) และต้องให้การคุ้มครองสิทธิบัตรในทุกประเภทเทคโนโลยี ถ้าเข้าเงื่อนไข 3 ประการของการคุ้มครองสิทธิบัตร

ภายใต้ความตกลงนี้ครอบคลุมการให้สิทธิบัตรในจุลินทรีย์ พืช และนวัตกรรมที่ได้จากพืช แต่ยกเว้นสัตว์ในสัตว์

ประเทศไทยจะต้องแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร และกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งจะส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพโดยไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์

การเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านจะกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การผูกขาดเมล็ดพันธุ์จะขยายจาก 12 ปีเป็น 20 ปี เมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงขึ้นตั้งแต่ 2-6 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย

จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรายงานการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) พบว่า ผลกระทบของระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานของสหรัฐฯจะทำให้

เกษตรกรต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงเพิ่มขึ้น จาก 28,542 ล้านบาท/ปี เป็น 80,721-142,932 หรือเพิ่มขึ้น 52,179-114,390 ล้านบาท/ปี

การสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10,740 - 48,928 ล้านบาท/ปี

ผลกระทบระยะยาวจากการถูกกีดกันการพัฒนายาสมัยใหม่สมัยใหม่ที่มาจากสมุนไพรซึ่งมี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 59,798 ล้านบาท/ปี

รวมมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 122,717 - 223,116 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการสูญเสียอธิปไตยเหนือทรัพยากรซึ่งไม่อาจประเมินค่าได้

2 . การเข้าร่วมเป็นภาคีใน TPP อาจทำให้ไทยต้องถูกบีบบังคับให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ และอาจต้องยกเลิกการติดฉลากหรือมาตรการอื่นๆที่เป็นการปกป้องสิทธิผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารดัดแปรพันธุกรรม ทั้งๆที่กระแสผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มต่อต้านพืชและผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ดังที่เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สกอตแลนด์ เวลส์ และประเทศต่างๆในอียูรวมกัน 16 ประเทศประกาศแบนพืชจีเอ็มโอเมื่อเร็วๆนี้ เช่นเดียวกับรัสเซีย นอรเวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

การอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอจะทำให้ระบบเกษตรกรรมของประเทศไทยต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติสหรัฐ เกิดปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับทรัพยากรชีวภาพซึ่งเป็นรากฐานของระบบเกษตรกรรมและอาหารในอนาคต การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเรื่องความปลอดภัยทางอาหารจะยิ่งเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมกำลังหดแคบลง ไม่เฉพาะในยุโรปเท่านั้น แต่รวมถึงตลาดสหรัฐเองด้วย เนื่องจากผู้บริโภคอเมริกันมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ปฏิเสธผลิตภัณฑ์ที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น