xs
xsm
sm
md
lg

"รถเข็นอนามัยไร้มลพิษ" นวัตกรรมเปลี่ยนโลก เพื่อผู้บริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มุมทำความสะอาด
อาหาร “รถเข็น” สะดวกซื้อ สะดวกขาย หาได้ง่ายทุกท้องถนน สะท้อนพฤติกรรมการบริโภคคนเมือง แต่เปราะบางต่อปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และมักตกเป็นจำเลยโดนจับจ้องเมื่อมีโรคใหม่ ๆ แพร่ระบาดเสมอ ๆ เพราะแหล่งแพร่เชื้อโรคมักจะปนเปื้อนมากับอาหารที่มีสุขลักษณะที่ไม่ดี หากมีโอกาสเลือกผู้บริโภคย่อมใส่ใจเลือกร้านที่มีสุขลักษณะที่ดีและมีความปลอดภัย
รถเข็นผลไม้อนามัย
“รถเข็นอนามัยไร้มลพิษ” ผลงานการออกแบบเครื่องมือทำกินให้กับเอสเอ็มอีรายย่อยที่คำนึงถึงสุขอนามัยของผู้บริโภค ผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย (วช. 2555) การพัฒนาต้นแบบแผงลอยอนามัย สำหรับการให้บริการอาหารในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร จากภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งได้นำมาจัดแสดงในงาน วิศวะ ’58 หรือ Engineering Expo 2015 ภายใต้แนวคิด วิศวกรรมเปลี่ยนโลก เปิดมุมมองวิศวกรรมสู่โลกแห่งอนาคต ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 16-19 กรกฎาคม 2558

ผศ.ดร.มาฤดี ผ่องพิพัฒน์พงศ์ หัวหน้าโครงการ  กล่าวว่า โครงงานนี้วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการออกแบบรถเข็นจำหน่ายอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ  โดยได้สำรวจแผงลอยจำหน่ายอาหารในเขตพื้นที่ลาดกระบังพื่อนำมากำหนดเกณฑ์ความต้องการขั้นต่ำในการออกแบบ และนำไปใช้สร้างต้นแบบรถเข็นจำหน่ายอาหารอย่างถูกสุขลักษณะและสามารถสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารแก่ผู้บริโภค

อาหารหาบเร่ หรือ อาหารรถเข็น เป็นแหล่งอาหารที่ได้รับความนิยมของสังคมเมืองในปัจจุบัน เนื่องจากสะดวกต่อการซื้อหามารับประทานในสภาวะที่เร่งรีบและต้องการความรวดเร็ว แต่มักพบว่าไม่ได้มาตรฐานสุขอนามัย จึงก่อให้เกิดการปนเปื้อนและนำไปสู่ปัญหาความปลอดภัยทางอาหาร คณะวิจัยจึงได้ทำการศึกษาและออกแบบพัฒนารถเข็นอาหารใน 2 รูปแบบ คือ รถเข็นอาหารปิ้งย่าง และรถเข็นผลไม้ เพื่อให้ได้ต้นแบบที่ได้มาตรฐานอย่างถูกสุขลักษณะ และเหมาะสมกับการใช้งานจริง

การออกแบบจะประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ส่วน ส่วนหลังคา ส่วนตัวรถเข็น และส่วนล้อสำหรับการเคลื่อนที่ ในส่วนตัวรถเข็น จะให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรักษาอาหารและวัตถุดิบทำจากสแตนเลสหนา 1 มม. เพื่อควบคุมอุณหภูมิเนื้อสัตว์ให้อยู่ในอุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียสและผลไม้ควบคุมอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ออกแบบโดยใช้น้ำแข็งผสมเกลือ เป็นตัวกลางสำหรับการรักษาความเย็น

นอกจากนั้นออกแบบให้มีพื้นที่การจัดเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องการล้างและระบบน้ำใช้ซึ่งติดตั้งเครื่องกรองน้ำแบบไส้กรอง และพื้นที่การจัดเก็บของเสียและระบบบำบัดของเสีย เช่น ครอบดูดควัน และแผ่นดักละอองน้ำมัน การจัดการน้ำทิ้ง มีถังเก็บน้ำทิ้งและมีวาล์วสายยางเพื่อความสะดวกในการระบายน้ำทิ้งสู่ท่อน้ำทิ้งสาธารณะ และพื้นที่ส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ซึ่ง รถเข็นต้นแบบนี้มีขนาดโครงสร้างรถเข็น 1.3x0.7x0.7 ม.

ส่วนต้นทุนการผลิต “รถเข็นอนามัยไร้มลพิษ” นั้น "ผศ.ดร.มาฤดี"  ให้คำแนะนำไว้ว่า สามารถดัดแปลงได้ตามกำลังทรัพย์ของเอสเอ็มอี อาจจะใช้วัสดุทดแทนเพื่อประหยัดงบประมาณได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่สัมผัสอาหารควรใช้สแตนเลสซึ่งสามารถทนการกัดกร่อนต่อสารทำความสะอาดและการเกิดสนิมได้ดี

“งานวิจัยนี้ได้ออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐาน GMP และ HACCP และองค์การหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) และ EHEDG หากผู้ค้ามีความรู้และความเข้าใจถึงสุขลักษณะที่ดี ก็สามารถยกระดับมาตรฐานอาหารรถเข็นได้ เพราะรถเข็นจำหน่ายอาหารตามชุมชนต่างๆ เป็นเสน่ห์ส่วนหนึ่งในวิถีไทย แต่ทำอย่างไรให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย”

ผศ.ดร.มาฤดี ผ่องพิพัฒน์พงศ์
ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

โทร. 02-329-8356-8
www.kmitl.ac.th/foodeng
ผศ.ดร.มาฤดี ผ่องพิพัฒน์พงศ์ หัวหน้าโครงการ


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น