เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ - ประเด็นจริยศาสตร์กับการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์กำลังเป็นเรื่องใหม่ของจีน เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมานั้น การค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของจีนมักจะก้าวตามรอยของนานาชาติ แต่ขณะนี้จีนได้รุดไล่ทันและก้าวมาอยู่ตรงชายขอบของพรมแดนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่มีใครก้าวข้ามไปมาก่อน บรรดานักวิทยาศาสตร์จีนจึงต้องใช้สำนึกทางจริยธรรมของตนเอง ประกอบกับพื้นฐานวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา และผลประโยชน์อื่นๆ ตัดสินใจเองว่าควรจะทำหรือไม่ทำต่อ
เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (9 ก.ค.) ได้เปิดเผยรายชื่อโครงการค้นคว้าวิจัยต่อไปนี้ ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของการค้นคว้าต่างๆ ในห้องปฏิบัติการทั่วประเทศจีน โดยเป็นการค้นคว้าของเอกชน อันอยู่นอกเหนือจากการสนับสนุนของรัฐบาล และบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังโครงการเหล่านี้ ต่างก็เก็บตัวไม่เปิดเผยตนเพื่อรักษาความลับ
1. สร้างไวรัสพันธุ์ใหม่
ห้องปฏิบัติการหลายแห่งในจีนแผ่นดินใหญ่ มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการพัฒนาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่ไม่ได้มีอยู่ในธรรมชาติ โดยไวรัสกลายพันธุ์เหล่านี้ สร้างขึ้นด้วยการผสมของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจวิวัฒนาการและความร้ายแรงของมัน อย่างไรก็ตาม ผลที่อาจตามมาจากการค้นคว้าฯ คือความเสี่ยงใหญ่หลวงหากไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายเมื่อหลุดรอดออกจากห้องปฏิบัติการทดลองฯ
2. การเปลี่ยนแปลงตัวอ่อนมนุษย์
เป็นที่ทราบกันดีว่า เซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนมนุษย์ บรรจุความลับอายุวัฒนะสำหรับการรักษาชีวิตมนุษย์ไว้จำนวนมาก ตั้งแต่รักษาอวัยวะต่างๆ ตลอดจนถึงโรคมะเร็ง แต่กระนั้น ก็ยังไม่มีฉันทามติที่ชัดเจนในชุมชนค้นคว้าวิจัยวิทยาศาสตร์จีน เกี่ยวกับการนำตัวอ่อนมนุษย์มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงก่อนกำเนิดเป็นชีวิต อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนเมษายนที่่ผ่านมา นักวิจัยจากกวางโจว ได้ประกาศว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการแก้ไขตัวอ่อนมนุษย์เป็นครั้งแรก
3. การคัดกรองลักษณะทางพันธุกรรม
คณะนักวิจัยจีนหลายกลุ่มได้เก็บตัวอย่างทางพันธุกรรม ทั้งในโรงเรียนมัธยม ศูนย์กักกันเยาวชน และเรือนจำ เพื่อหาตามสมมติฐานว่า อาจจะมียีนบางอย่าง ที่มีอิทธิพลกับพฤติกรรมเชิงลบอันรุนแรง ซึ่งมีหลายฝ่ายเตือนว่าการปฏิบัติการศึกษาดังกล่าว ไม่อาจเชื่อถือได้เนื่องจากอาจจะมีอคติ ลำเอียง และข้อมูลที่ได้อาจจะเป็นการตัดสินผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะชาติกำเนิด หรือยีนในตัวของคนๆ นั้น
4. ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์
การค้นคว้าภายใต้ทฤษฎีที่เชื่อว่า หากร่างกายของมนุษย์ถูกแช่แข็งเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำมาก โดยไม่มีความเสียหายทางกายภาพ ย่อมมีโอกาสที่คนๆ นั้นจะฟื้นชีวิตขึ้นมาได้ในอนาคตข้างหน้า รวมทั้งความทรงจำที่เขาหรือเธอเคยมีด้วยความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีการแพทย์ของโลกอนาคต การค้นคว้านี้ คณะนักวิจัยฯ ได้รับเงินสนับสนุนที่เพียงพอทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนในปีที่ผ่านมา แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า ความคิดที่อยู่เบื้องหลังโครงการนี้น่าเคลือบแคลงสงสัย เพราะเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นชีวิตใครได้แม้กระทั่งหนูแช่แข็ง
5. โมเลกุลไมโครอาร์เอ็นเอ
มีความเชื่อมานานแล้วว่า โมเลกุลทางพันธุกรรมของพืช เช่น อาร์เอ็นเอ และ ดีเอ็นเอ ของพืช จะไม่ปะปนเข้ากันได้กับมนุษย์ ซึ่งก็เป็นข้อถกเถียงร้อนแรงในประเด็นความปลอดภัยทางอาหารที่ตัดแต่งพันธุกรรม หรือพืชจีเอ็มโอ อาทิ ข้าว และข้าวโพด นักวิจัยจีนเอง ก็กล่าวว่า การค้นพบว่าไมโครอาร์เอ็นเอ ซึ่งเดิมเชื่อว่าเป็นเพียงโมเลกุลนำสารไปยังดีเอ็นเอ แต่การค้นพบใหม่พบว่า ไมโครอาร์เอ็นเอ มีความสามารถในการเชื่อมโยงกับเซลล์ของมนุษย์โดยตรง และยังเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบฯ ได้ด้วย ซึ่งหากที่นักวิทยาศาสตร์จีนกล่าวเป็นความจริง ความปลอดภัยทางอาหารของพืชตัดแต่งพันธุกรรมในท้องตลาดทุกวันนี้ ควรที่จะต้องมีคนซักค้านตรวจสอบซ้ำแน่นอน