“รสนา” เผยไม่ดีเบต “เจษฎา” ประเด็นพืช GMO ดีอย่างไร ชี้มีทั้งดี - เสีย แต่ต้องคำนึงถึงหลายมิติ ทั้งการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ - ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม ยินดีถอนคำพูด “ร้อนวิชา” พร้อมโต้อย่ากล่าวหาคนอื่น “ตรรกะวิบัติ” เพราะความเห็นทางวิชาการทุกแขนงย่อมมีมากกว่าหนึ่งเสมอ
วันนี้ (26 ก.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว “รสนา โตสิตระกูล” มีใจความดังนี้ “จงเตือนตนด้วยตน”
ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพัตร ยังติดข้องในใจกับคำกล่าวของดิฉันที่ว่าท่าน “ร้อนวิชา” ที่มาท้าดีเบตกับดิฉันเพราะทึกทักว่าดิฉันเป็นต้นเหตุในการทำให้ร่างกฎหมายจีเอ็มโอถูกถอนออกจาการพิจารณาในสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกล่าวหาว่าเกิดจากคนต่อต้านที่ไม่มีความรู้และไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้ ถึงกับขอดีเบตกับดิฉัน เพื่อทดสอบความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ของดิฉัน
ดิฉันเป็นเพียงกระจกสะท้อนอารมณ์ของ ดร.เจษฎา ตามข้อเขียนของท่านเอง ที่เขียนว่า
“จนเมื่อวาน วาระที่เอา พ.ร.บ. เข้าพิจารณาโดย สปช. คณะใหญ่ ได้ข่าวว่า พ.ร.บ. โดนถล่มหลังจากคนที่ก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์เรื่องนี้แต่อะไร ... จนถูกถอนออกจากการพิจารณาอย่างรวดเร็ว สมใจกลุ่มที่ต่อต้าน ซึ่งมีที่นั่งใน สปช. อยู่หลายคน
ปากนึง คุณบอกว่าอยากเห็นกฎหมายมากำกับดูแล (ซึ่งพวกคุณก็ร่วมร่างมาตั้งแต่ต้น) แต่คุณก็มาป้ายสี ทำลายกฎหมายเสีย ... ผมล่ะเซ็งครับ
ไม่เป็นไร .. รอให้ผมเป็น รมต. วิทย์ ก่อนละกัน (ฝันกลางวัน 555)
เอาเป็นว่า ผมท้าคุณรสนา มาดีเบตให้ประชาชนฟังกันดีกว่า ว่าคุณรู้เรื่องจีเอ็มโอดีกว่าผมแค่ไหน ... ใครกันแน่ที่กำลังทำลายโอกาสของเกษตรกรของประเทศไทย”
ล่าสุด ผศ.ดร.เจษฎา ให้สัมภาษณ์ มติชนออนไลน์ โดยกล่าวว่า “โดยส่วนตัวผมก็ไม่ได้จี๊ดอะไร ผมคิดว่า การที่เราจะโต้แย้งกัน ในเชิงวิชาการ ในเชิงเหตุผลนี่ ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดแบบนี้ อันนี้จะเป็นเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ในการที่บอกว่า ฝ่ายตรงข้ามเป็นคนอย่างไร ภาษาของพวกผมเรียกว่า เป็นตรรกะวิบัติ แทนที่จะพูดถึงเนื้อหา กลับไปพูดถึงลักษณะส่วนบุคคล หรือเบื้องหลังแบ็กกราวนด์ต่าง ๆ จริง ๆ เราพูดในเรื่องของเนื้อหาได้ ผมก็อ่านนะว่าข้อหนึ่ง ท่านตอบว่าอย่างไร ข้อสองท่านตอบว่าอย่างไร ผมโอเคนะ ผมก็พร้อมที่จะคุยกับท่าน ในแต่ละเรื่อง ๆ หรือท่านอื่น ๆ ที่ท่านเสนอมาว่ามีใครบ้าง แต่การใช้ประโยคหรือคำแบบนี้ ผมว่าไม่จำเป็นต้องยกขึ้นมาใช้”
การที่ ดร.เจษฎา กล่าวหาว่า ร่าง พ.ร.บ. จีเอ็มโอนั้น โดนถล่มจากคนต่อต้านที่ไม่มีความรู้ ไม่มีความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้ จนถูกถอนออกจากการพิจารณา นั้น ดิฉันเห็นว่าคำพูดนั้นก็เป็นอคติของท่าน และเป็นคำกล่าวหาผู้อื่นด้วยอารมณ์เช่นกัน
แต่เมื่อ ดร.เจษฎา ยังรู้สึกไม่สบายใจ ต่อคำพูดของดิฉัน ดิฉันก็ยินดีถอนคำพูดที่ว่าท่าน “ร้อนวิชา” ค่ะ
สมาชิก สปช. ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ อย่าง ดร.วินัย ดะห์ลัน ซึ่งเป็นถึงอดีตคณบดีสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และเป็น สปช. ท่านหนึ่งที่ดิฉันและคนทั่วไปก็ทราบว่า ดร.วินัยเป็นผู้มีจุดยืนทางวิชาการ ที่ไม่ได้ใช้อคติหรือมายาภาพใด ๆ และ อ.เจษฎา เอง ก็ควรยอมรับว่า แม้ความเห็นทางวิทยาศาสตร์และทางวิชาการทุกแขนง ย่อมมีมากกว่าหนึ่งเสมอเป็นธรรมดา จึงไม่ควรไปกล่าวหาผู้อื่นที่เห็นต่างจากตัวเองว่าใช้ “ตรรกะวิบัติ”
ดังที่ ดร.วินัย ได้กล่าวกับดิฉันว่า “จีเอ็มโอมิได้มีเพียงประเด็นความสงสัยในปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีประเด็นจริยธรรมในการทำธุรกิจ ความเสี่ยงต่อความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต การเปลี่ยนสถานะความเป็นอิสระด้านการเกษตรของสังคมไทย ความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ หากเกิดกรณี unforgivable mistake กับสังคมไทยในอนาคต สปช. ในฐานะกระดุมเม็ดแรก หากปล่อยปละให้เกิดกฎหมายดังกล่าวต้องรับผิดชอบ นักวิชาการบางคนอาจจะไหว เพราะในชีวิตไม่เคยรับผิดชอบอะไร แต่อีกหลายคนคงรับไม่ไหว บาปไปทั้งชีวิตที่เหลือของตนเองและวงศ์ตระกูล”
ดังนั้น กติกาหรือกฎหมายที่จะควบคุมดูแลการทดลอง การปลดปล่อยพืชจีเอ็มโอ ต้องคำนึงถึงหลายมิติ กรณีจะป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และอาหารที่กระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคที่ไม่ต้องการบริโภคพืชตัดแต่งพันธุกรรมเหล่านี้ ตลอดจนต้องมีกติกาป้องกันการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ และบริษัทข้ามชาติ การออกกฎหมาย และกำหนดกติกาที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนในทุกภาคส่วน จึงไม่ใช่เรื่องของความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงศาสตร์แขนงหนึ่ง ( Mono Discipline) เนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากพืชตัดแต่งพันธุกรรม เกิดขึ้นในหลากหลายมิติ ที่กฎหมายต้องคำนึงถึงบนพื้นฐานความรู้ในระดับสหวิทยาการ (Multi Disciplinary) และต้องออกแบบอย่างรอบคอบเพื่อคุ้มครองสิทธิของทุกภาคส่วน มิใช่ออกแบบกฎหมายที่คุ้มครองแต่ผู้ประกอบการเท่านั้น และเปิดช่องให้ผู้ประกอบการด้านพืชตัดแต่งพันธุกรรมปลดปล่อยพืชจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อม ที่ทำอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ หรือเกิดการปนเปื้อนต่อพืชพันธุ์ท้องถิ่นได้โดยไม่ต้องรับผิด “หากความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย” หรือ “เกิดจากการกระทำของผู้เสียหายเอง” ซึ่งเป็นความหละหลวมในการบัญญัติกฎหมายที่เปิดช่องให้ผู้ประกอบการธุรกิจพืชตัดแต่งพันธุกรรมสามารถใช้กลอุบายในการปล่อยให้เกิดการปนเปื้อนโดยไม่ต้องรับผิดชอบได้
กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจแป้งมันสำปะหลังก็มีความห่วงใยในร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนทางชีวภาพกับพันธุ์ของมันสำปะหลัง เพราะธุรกิจส่งออกแป้งมันสัมปะหลังของไทยมีจุดแข็ง เพราะเป็นแป้งที่เป็น Non-GMO
สำหรับดิฉันเห็นว่าปัญหาเกษตรกรบ้านเรา ไม่ใช่ประเด็นเรื่องผลผลิตทางการเกษตรว่าผลิตได้น้อยเกินไป แต่เป็นปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมากกว่า ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนบางครั้งต้องนำสินค้าเกษตรมาเททิ้งประท้วงการดูแลของรัฐบาลบ่อย ๆ ไป สินค้าเกษตรเป็นปัญหาของการดูแลจัดการของภาครัฐที่ไม่สามารถพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรต้นน้ำให้เป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า ผลิตผลต้นน้ำอย่างยาง และข้าวมีล้นเกินจนรัฐบาลต้องสั่งให้เกษตรกรลดการเพาะปลูก ถึงกับมีคำบ่นว่าเกษตรกรผลิตมากล้นเกินความต้องการในสังคมโลกนี้ ถึงขนาดผู้บริหารบ้านเมืองรำพันว่าต้องส่งผลิตผลไปขายยังดาวอังคารด้วยซ้ำไป
ประเด็นความห่วงใยว่าพืชจีเอ็มโอจะทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบริษัทเจ้าของเมล็ดพันธุ์ จะยิ่งสร้างปัญหาความยากจนกับเกษตรกรมากกว่าจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้ร่ำรวย มีแต่บริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ผูกขาดได้เท่านั้นที่จะร่ำรวย เพราะถ้าผูกขาดได้สำเร็จ ต่อไปเกษตรกรต้องพึ่งพาแต่เมล็ดพันธุ์ที่เป็นหมันของบริษัท และพึ่งปุ๋ย พึ่งยาที่ใช้กับเม็ดพันธุ์ชนิดนั้น ๆ ตลอดไป
สำหรับดิฉันเชื่อในคำกล่าวของมหาตมะ คานธี ที่ว่า “โลกมิได้อยู่รอดด้วยการผลิตขนาดใหญ่ (Mass Production) แต่โลกจะอยู่รอดได้ด้วยการผลิตโดยคนส่วนใหญ่ (Production by the Mass)
ดิฉันคงไม่ไปดีเบตกับดร.เจษฎาในประเด็นว่าพืชจีเอ็มโอดีอย่างไร เพราะดิฉันเชื่อว่าศาสตร์ทุกแขนงมีทั้งข้อดี และข้อเสีย สิ่งที่ดิฉันสนใจเกี่ยวข้องด้วย คือ การเฝ้าระวังการออกกติกาหรือกฎหมายเกี่ยวกับการทดลองและการปลดปล่อยพืชตัดแต่งพันธุกรรม ว่าต้องมีกติกาอย่างเข้มงวดเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค มิให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพืชตัดแต่งพันธุกรรมเหล่านี้มาสอดไส้ออกกฎหมายในสภา และใช้กลอุบายในการบัญญัติให้ผู้ประกอบการสามารปล่อยพืชตัดแต่งพันธุกรรมมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม และพันธุกรรมพืชอื่นได้โดยไม่มีความผิด ซึ่งไม่ยุติธรรมกับเกษตรกรรายอื่นที่ไม่ต้องการเมล็ดพันธุ์ จี เอ็มโอ และที่สำคัญ เป็นการทำให้ผู้บริโภคต้องตกกระไดพลอยกระโจนมาบริโภคอาหารตัดแต่งพันธุกรรมเหล่านี้โดยที่พวกเขาและเธอไม่่ต้องการแต่ไม่มีทางเลือก ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคค่ะ