xs
xsm
sm
md
lg

เผยภาพ “อุปทูตมะกัน” เยือน บ.มอนซานโต้ จ.พิษณุโลก ในวัน สปช.ผ่านร่าง กม.เปิดทางพืช GMO เพื่อการบริโภค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทวิตเตอร์ ของอุปทูตดับเบิลยู. แพทริค เมอร์ฟี ได้โพตส์ถึงบริษัท อเมริกัน มอนซานโต้ ประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ใน จ.พิษณุโลก ว่า ได้ไปเยี่ยมชมบริษัท มอนซานโต้ ในจ.พิษณุโลก มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท นวัตกรรม AG “Great visit w/ @MonsantoCo #Phitsanulok; +1K employees in #Thailand, + $billions to economy; seeds & ag innovation”
เผยภาพ คณะ “อุปทูตสหรัฐเมริกา” ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี ตรวจงาน “บริษัท อเมริกัน มอนซานโต้ ประเทศไทย ประจำจังหวัดพิษณุโลก” กลุ่มธุรกิจการค้าเมล็ดพันธุ์สัญชาติอเมริกัน ในวันที่ สปช.ปฏิรูปภาคเกษตรเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ให้นำเทคโนโลยีชีวภาพดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อการบริโภค

วันนี้ (23 ก.ค.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์สถานฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประทศไทย ได้เผยแพร่ภาพอุปทูต ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี และคณะเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้เดินทางเยือนจังหวัดพิษณุโลกเพื่อพบปะกับภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจและหน่วยงานในพื้นที่ โดยหนึ่งในนั้นได้ไปเยี่ยมชมกิจการบริษัท อเมริกัน มอนซานโต้ ประเทศไทย ประจำจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งทำธุรกิจ “การค้าเมล็ดพันธุ์” ในประเทศไทย สัญชาติอเมริกัน

โดยทวิตเตอร์ของอุปทูต ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี ได้โพตส์ถึงบริษัท อเมริกัน มอนซานโต้ ประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ใน จ.พิษณุโลก ว่าได้ไปเยี่ยมชมบริษัท มอนซานโต้ ในจ.พิษณุโลก มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท นวัตกรรม AG “Great visit w/ @MonsantoCo #Phitsanulok; +1K employees in #Thailand, + $billions to economy; seeds & ag innovation”

มีรายงานว่า การเดินทางไปยังบริษัท อเมริกัน มอนซานโต้ ประเทศไทย ของคณะอุปทูตสหรัฐฯ เป็นวันเดียวกับที่มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เห็นชอบกับรายงานวาระการปฏิรูปที่ 14 เรื่องการปฏิรูปภาคเกษตร (รอบ 2) ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และบริการ มติ 153 ต่อ 6 เสียง

แม้การพิจารณารายงานฉบับนี้ สมาชิก สปช.จำนวนมากจะอภิปรายแสดงความเห็นคัดค้านไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่มีสาระสำคัญ คือ ให้มีการนำเทคโนโลยีชีวภาพไปใช้ประโยชน์ต่อการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อการบริโภค ซึ่งคณะ กมธ.ได้เสนอมาให้ที่ประชุม สปช.พิจารณาไปพร้อมกับรายงาน ส่งผลให้นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเกษตรฯ ต้องประกาศต่อที่ประชุมว่า ขอถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ออกจาก สปช.ไปพิจารณาใหม่

ประเด็นนี้ นายประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิก สปช.กล่าวว่า ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.นี้อยู่ที่มาตรา 52 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะไปคุ้มครองผู้สร้างความเสียหาย หากพิสูจน์ทราบได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งในทางปฏิบัติเราจะนิยามคำว่าเหตุสุดวิสัยอย่างไร ถือเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก

“การร่างกฎหมายควรต้องมีเนื้อหาที่คุ้มครองผู้เสียหาย ไม่ใช่ไปคุ้มครองผู้ที่สร้างความเสียหาย จึงเห็นว่า คณะ กมธ. ควรนำไปร่าง พ.ร.บ.นี้ไปปรับปรุงมาใหม่ และที่สำคัญต้องมีงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ว่าการนำเทคโนโลยีตัดแต่งพันธุกรรมมาใช้แล้วมนุษย์จะมีความปลอดภัย” นายประเสริฐกล่าว

ขณะที่ นายวินัย ดะห์ลัน สมาชิก สปช.กล่าวว่า การตัดแต่งพันธุกรรมยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่ามีความปลอดภัยกับมนุษย์หรือไม่ ทั้งนี้ มีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่ายังไม่มีความปลอดภัยแก่มนุษย์ 100% แม้จะมีการทดลองในหนูที่มียีนใกล้เคียงกับมนุษย์แล้วก็ตาม เนื่องจากยังพบความผิดปกติบางประการอยู่

สำหรับ “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ...” ตอนหนึ่งระบุว่า การทดลองเรื่องจีเอ็มโอนั้นให้กลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 ที่มีเงื่อนไขควบคุมการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนามที่เข้มงวด เช่น ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องทดลองในสถานที่ของราชการเท่านั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ องค์กรสาธารณะประโยชน์ และนักวิชาการ และคณะรัฐมนตรีต้องเป็นผู้อนุมัติให้มีการทดลองเป็นรายกรณี

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกยกร่างขึ้นโดยกลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอ การผลักดันกฎหมายนี้ให้ผ่านสนช.ไปโดยเร็วจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ แต่จะไม่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิเกษตรกร และกลุ่มธุรกิจอาหารท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนทางพันธุกรรรม”





กำลังโหลดความคิดเห็น