xs
xsm
sm
md
lg

เบรกปล่อยผี “จีเอ็มโอ”! สปช.ค้านกฎหมายหนุนดัดแปลงพันธุกรรมพืชเพื่อการบริโภค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ เห็นชอบรายงานวาระการปฏิรูปภาคเกษตร แต่ค้านร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ ให้นำเทคโนโลยีชีวภาพดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อการบริโภค ย้ำต้องมีงานวิจัยพิสูจน์ได้ว่าใช้จีเอ็มโอแล้วมนุษย์ปลอดภัย

วันนี้ (22 ก.ค.) ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติ 153 ต่อ 6 เสียงเห็นชอบกับรายงานวาระการปฏิรูปที่ 14 เรื่องการปฏิรูปภาคเกษตร (รอบ 2) ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และบริการ ที่มี นายเกริกไกร จีระแพทย์ สมาชิก สปช. เป็นประธาน ซึ่งจะมีการส่งให้กับคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณารายงานฉบับนี้ได้สมาชิก สปช. จำนวนมากอภิปรายแสดงความเห็นคัดค้านไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่มีสาระสำคัญ คือ ให้มีการนำเทคโนโลยีชีวภาพไปใช้ประโยชน์ต่อการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อการบริโภค ซึ่งคณะ กมธ. ได้เสนอมาให้ที่ประชุม สปช. พิจารณาไปพร้อมกับรายงาน ส่งผลให้นายเกริกไกร ต้องประกาศต่อที่ประชุมว่า ขอถอนร่าง พ.ร.บ. นี้ออกจาก สปช. ไปพิจารณาใหม่

นายประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิก สปช. กล่าวว่า ปัญหาของร่าง พ.ร.บ. นี้อยู่ที่มาตรา 52 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะไปคุ้มครองผู้สร้างความเสียหาย หากพิสูจน์ทราบได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งในทางปฏิบัติเราจะนิยามคำว่าเหตุสุดวิสัยอย่างไร ถือเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก

“การร่างกฎหมายควรต้องมีเนื้อหาที่คุ้มครองผู้เสียหาย ไม่ใช่ไปคุ้มครองผู้ที่สร้างความเสียหาย จึงเห็นว่า คณะ กมธ. ควรนำไปร่าง พ.ร.บ. นี้ไปปรับปรุงมาใหม่ และที่สำคัญต้องมีงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ว่าการนำเทคโนโลยีตัดแต่งพันธุกรรมมาใช้แล้วมนุษย์จะมีความปลอดภัย” นายประเสริฐ กล่าว

นายวินัย ดะห์ลัน สมาชิก สปช. กล่าวว่า การตัดแต่งพันธุกรรมยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่ามีความปลอดภัยกับมนุษย์หรือไม่ ทั้งนี้ มีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่ายังไม่มีความปลอดภัยแก่มนุษย์ 100% แม้จะมีการทดลองในหนูที่มียีนใกล้เคียงกับมนุษย์แล้วก็ตาม เนื่องจากยังพบความผิดปกติบางประการอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น