xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะสุขภาพลักลั่น...เพราะรัฐลักหลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิมิตร์ เทียนอุดม
ในช่วงที่รัฐบาลกำลังร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ ได้อย่างไม่เสียอย่างฉบับนี้จึงอยากว่าด้วยเรื่องสิทธิและหน้าที่ของประชาชน และในเมื่อเรายังไม่มีรัฐธรรมนูญจึงจะขอหยิบความหมายของคำว่า “สิทธิ” และ “หน้าที่” ตามที่บัญญัติไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เพื่อใช้อธิบาย คำว่า “สิทธิ” และ “หน้าที่”
นิมิตร์  เทียนอุดม
“สิทธิ” หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม เมื่อเป็นดังนี้ก็ต้องแปลความหมายของคำว่าอำนาจด้วย ซึ่งอำนาจหมายถึง ความสามารถที่บันดาลให้เป็นไปตามประสงค์ ดังนั้น สิทธิ จึงหมายถึง ความสามารถอันชอบธรรมที่จะทำให้อะไรก็ตามเป็นไปตามความประสงค์
ส่วนคำว่า “หน้าที่” หมายถึง กิจที่จะต้องทําด้วยความรับผิดชอบ และแน่นอนก็ต้องแปลอีกว่า รับผิดชอบมีความหมายครอบคลุมแค่ไหน ซึ่งพจนานุกรมได้ให้ความหมายของคำว่า “รับผิดชอบ” ไว้ว่า ยอมรับผลทั้งที่ดีและไม่ดีในกิจการที่ตนได้ทำลงไปหรือที่อยู่ในความดูแลของตน ดังนั้น หน้าที่จึงไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ต้องทำเพียงอย่างเดียว แต่กินความถึงการยอมรับผลที่จะตามมาด้วยไม่ว่าผลนั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตาม
 
ในทางสังคม เรามีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายระบุ เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติจากเงื่อนไขเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุ ส่วนหน้าที่ก็เช่น หน้าที่ในการเสียภาษี หรือหน้าที่ของชายไทยที่ต้องเข้ารับการตรวจคัดเลือกเป็นทหารเมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงสิทธิและหน้าที่ในเชิงสุขภาพแล้ว พบว่ามีข้อถกเถียงกันมาก แน่นอนว่าทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่เมื่อการรักษานั้นต้องใช้งบประมาณจากภาษีอากรของประชาชนทุกคน จึงมีการตั้งคำถามว่า ยุติธรรมแล้วหรือที่ต้องนำเงินของ “ทุกคน” มารักษาให้กับ “บางคน” ที่ไม่รู้จักหน้าที่ในการรักษาสุขภาพของตัวเอง แต่เมื่อเจ็บป่วยก็มาเรียกร้องสิทธิให้รักษา
 
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือคนที่ป่วยอยู่ในกลุ่มโรค NCDs หมายถึง กลุ่มโรคไม่ติดต่อ อาจเรียกว่า กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งหมายถึงโรคที่เกิดต่อเนื่องยาวนาน และมีการดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้าๆ กลุ่มโรค NCDs ที่สำคัญประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (รวมถึงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง) 2. กลุ่มโรคเบาหวาน 3. กลุ่มโรคมะเร็ง และ 4. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหอบหืด)
 
ผมเศร้าใจมากที่หลายครั้ง ผู้ที่ทำหน้าที่ในการรักษาเป็นผู้ออกมาบอกว่า คนที่เป็นโรคเหล่านี้เป็นพวกที่ไม่ดูแลตัวเองและรัฐบาลก็ต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อรักษาความเจ็บป่วยให้กับคนที่ไม่ดูแลตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่อง “ไม่สมควร”
 
ผมอยากจะบอกว่า 1. ไม่ว่าจะอ้างอิงถึงเรื่องสิทธิหรือหน้าที่ก็ตาม ในความเป็นจริงคือไม่มีใครอยากเจ็บป่วย อยากไปหาหมอ หรืออยากกินยา และ 2. โครงสร้างสังคมมีส่วนทำให้หลายคนต้องป่วย เช่น วิถีชีวิตในปัจจุบันที่ต้องแข่งกันทำงาน แข่งกันหาเงิน เพื่อความอยู่รอด ก็ทำให้ไม่มีเวลาที่จะมาทำอาหารกินเองเหมือนสมัยก่อน คนทำงานก็ไม่มีสิทธิเลือกอาหารที่ปลอดภัย ไร้สารพิษ แป้งน้อย น้ำตาลน้อย คนขายทำมาอย่างไร เราก็ต้องกินอย่างนั้น (ไม่นับรวมถึงกระบวนการก่อนหน้าที่จะมาเป็นอาหารว่าผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมหรือฉีดสารเร่งอะไรลงไปในวัตถุดิบบ้าง) หรือคนทำงานในกรุงเทพฯ ก็คงไม่มีใครอยากสูดมลพิษ แต่ตรงไหนของกรุงเทพฯ บ้างที่ไม่มีฝุ่น ควัน จากท่อไอเสียรถยนต์ และแน่นอนครับว่า หลายคนอยากออกกำลังกายดูแลสุขภาพตามที่มีการรณรงค์กัน แต่ภาวะการแข่งขันกันด้านการงานและสถานที่ในการออกกำลังที่ไม่เอื้อ ก็ทำให้หลายคนไม่ได้ออกกำลังกายไปโดยปริยาย
 
ภาวะการแข่งขันดังกล่าว ว่าไปแล้วก็สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ใช่หรือครับที่ทำให้ไทยต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ เรื่องการส่งออก เมื่อจะกระโดดไปแข่งขันในเวทีโลกก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา...อันนี้ถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเตรียม ต้องสร้างผลที่จะตามมาให้ดีด้วย เช่น การเตรียมเรื่องบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมาตรฐานในการรักษา การเตรียมสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาชนของประเทศมีสุขภาพที่ดี
 
ถ้าประชาชนมีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพ รัฐเองก็ต้องมีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของประชาชนเช่นกันครับ จะมาบอกว่าหน้าที่นี้เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เพราะรัฐเองนั่นแหละที่ออกแบบโครงสร้างสังคมให้ประชาชน
 
และหากประชาชนอย่างเราๆ เห็นว่ารัฐไม่ทำตามหน้าที่...ลุกขึ้นมาทวงสิทธิ ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐทำหน้าที่ด้วยนะครับ อย่ายอมรับในชะตากรรมที่รัฐกำหนดให้แต่อย่างเดียว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น