กาญจนบุรี - ผู้ประกอบการโรงงาน และกลุ่มเกษตรกรข้าวโพดหวาน ยื่นหนังสือผ่าน ผวจ.คัดค้าน พ.ร.บ.GMO วอนทบทวนใหม่ เหตุลูกค้าทั้งยุโรป ญี่ปุ่นไม่ยอมรับพืชตัดต่อพันธุกรรม
วันนี้ (9 ธ.ค.) นายปรีชา จงประสิทธิพร ผจก.ฝ่ายจัดซื้อบริษัท กาญจน์คอร์น จำกัด นายประจักษ์ บัวซ้อน กรรมการผู้จัดการบริษัท ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด นายชาตรี ฟักเหลือง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานกาญจนบุรี พร้อมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานกว่า 60 คน มายื่นหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอ
พร้อมอ่านแถลงการณ์คัดค้านที่หน้าศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี โดยมี นางพรพิมล สงวนแก้ว หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยการเกษตร กรมวิชาการเกษตรกาญจนบุรี เป็นผู้รับหนังสือ
นายชาตรี ฟักเหลือง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ (GMO) อันจะทำให้มีการทดลอง จนกระทั่งปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรมในประเทศไทยนั้น กลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดหวานกาญจนบุรี มีความเห็นผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นำเสนอไปยังคณะรัฐบาลว่า เราขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.อย่างถึงที่สุด
เหตุผล 4 ประเด็น คือ 1.ประเทศเราปลูกพืชต่างๆ รวมทั้งข้าวโพดหวานนั้น ถ้าพืชตัดแต่งพันธุกรรม นำเข้ามาปลูกจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของละอองเกสรในข้าวโพด ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมีตัวอย่างจากประเทศต้นแบบมาแล้ว คือ สหรัฐอเมริกา 2.หากเกิดการปนเปื้อนสินค้าก็จะไม่เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ เนื่องจากในต่างประเทศที่เราส่งสินค้าออกไม่ยอมรับสินค้าจีเอ็มโอ
3.การใช้พืชจีเอ็มโอไม่ได้ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่เพียงแก้ปัญหาศัตรูพืชบางชนิดเท่านั้น เช่น หนอน หรือวัชพืช ซึ่งโดยปกติเกษตรกรไม่มีปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว 4.ถ้ามีการใช้พืชจีเอ็มโอจะทำให้เกิดการผูกขาดด้านเมล็ดพันธุ์ ซึ่งต้องซื้อจากชาวต่างชาติที่มีลิขสิทธิ์ ทำให้เมล็ดพันธุ์แพงขึ้น เกษตรกรต้องเพิ่มต้นทุนสูงขึ้น 3-5 เท่าตัวโดยไม่จำเป็น
ซึ่งงเคยมีตัวอย่างในมะละกอ ที่ขณะนี้ไทยไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ นอกจากนี้ เกษตรกรไทยหวังว่าข้าวหอมมะลิจะไม่สูญไปจากการใช้ พ.ร.บ.นี้ และถ้ามีการใช้พืชจีเอ็มโอ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานก็ต้องเลิกอาชีพนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากผู้ซื้อทั้งโลกไม่ยอมรับสินค้าปนเปื้อน
นายประจักษ์ บัวซ้อน กรรมการผู้จัดการบริษัท ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด กล่าวว่า บริษัทขอคัดค้านอย่างถึงที่สุด เพราะจะทำให้ธุรกิจข้าวโพดหวานล่มสลายไปจากประเทศไทย ตอนนี้รัฐบาลคิดว่าจะได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. เพราะรัฐบาลสนับสนุนแทบทุกอย่าง ซึ่งตนมองว่าจะเป็นมหันตภัยอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันลูกค้าจากทวีปยุโรป และประเทศญี่ปุ่นจะต้องให้เรามีใบการันตีสินค้าว่าปลอดจีเอ็มโออย่างชัดเจน รวมทั้งจะต้องมีเอกสารยืนยันว่าสินค้าของเราเริ่มปลูกวันไหน เก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ และจะต้องส่งผลออนไลน์ให้แก่ลูกค้าทราบตลอดเวลา
ดังนั้น รัฐบาลจะต้องทบทวน เพราะตอนนี้ประเทศคู่ค้าที่ค้าขายข้าวโพดหวานกับประเทศไทยไม่ยอมรับพืชตัดต่อพันธุกรรม หากรัฐบาลไม่ยอมพิจารณาเชื่อว่าทั้งโรงงาน รวมทั้งเกษตรกรทั้งประเทศต้องลำบากแน่นอน