xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เอาGMOsหวั่นหายนะเกิด ยื่นนายกฯสั่งเบรกกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก หวั่นหายนะเกิด กระทบความมั่นคงด้านอาหาร และทำลายวิถีชีวิตเกษตรกรไทย ยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกฯ สั่งเบรกนำร่างกฎหมาย GMOs เข้า สนช. พร้อมขอให้เปิดรับฟังความคิดเห็นให้ชัดเจนก่อน ด้าน "ไก่อู" วอนอย่าตื่นตูม ชี้เป็นการทำให้เกิดความรัดกุมในการดูแล GMOs

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วานนี้ (9 ธ.ค.) ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เพื่อยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อคัดค้านและเสนอให้มีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพหรือการเปิดเสรีพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) และต้องการหยุดยั้งการนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะยังคงมีความบกพร่องอย่างร้ายแรง อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร วิถีชีวิตเกษตรกร ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และจะทำลายเศรษฐกิจการส่งออกผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางอาหารอย่างไม่สามารถประเมินมูลค่าได้

ก่อนยื่นหนังสือ นายถนัด แสงทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ได้อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว พร้อมกับขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำร่าง พ.ร.บ.นี้ ไปจัดรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรรายย่อย ภาคประชาสังคม นักวิชาการอิสระ และภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดีขึ้น โดยนำหลักการป้องกันไว้ก่อน การป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม การชดเชยและเยียวยาความเสียหายตามหลักผู้ก่อมลภาวะเป็นผู้จ่าย รวมไปถึงการป้องกันปัญหาการปนเปื้อน ซึ่งจะกระทบต่อการทำเกษตรกรรมอินทรีย์และทรัพยากรชีวภาพของชาติโดยภาพรวม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายมาบรรจุในกฎหมายฉบับนี้

โดยการยื่นหนังสือครั้งนี้ มีนายสัมภาษณ์ ศรีหงส์ ป้องกันจังหวัดขอนแก่น ลงรับหนังสือแทนผู้ว่าราชการจังหวัด และกล่าวว่า จะนำประเด็นข้อเสนอดังกล่าวส่งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นพิจารณาเพื่อนำเรียนถึงนายกรัฐมนตรีต่อไป

ทางด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. ... ว่า เรื่องของพืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม มีขายในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมในเรื่องดังกล่าว หากมีผลกระทบเสียหายขึ้นมากับพืชหรือสัตว์ จะไม่มีผู้รับผิดชอบและทำให้ยากในการควบคุม ที่ประชุมครม.จึงเห็นชอบในหลักการของพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้มีความปลอดภัย และมีมาตรการตรวจสอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยกฎหมายยังสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ เพราะเมื่อผ่านสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว ยังต้องผ่าน สนช. อีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่บังคับใช้ได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น