xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิถี “โจน จันใด” “ผมไม่อยากเป็นมนุษย์ยุคสุดท้าย” “ที่เนรคุณต่อบรรพบุรุษ ต่อธรรมชาติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การตัดต่อพันธุกรรมพืช(GMOs) กำลังกลายเป็นวิกฤติอาหารครั้งใหญ่ของคนทั้งโลก มีสื่อโฆษณาปรากฏออกมามากมายว่าพืชจีเอ็มโอนั้นดีที่สุด ทั้งมีความทนทานต่อศัตรูพืช รวมถึงผักผลไม้ก็จะมีลักษณะดีขึ้น คงความสดใสและยืดระยะเวลาให้เก็บไว้ได้นาน อีกทั้งการตัดต่อพันธุกรรมยังถูกอ้างว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทว่า ความเป็นจริงที่แฝงอยู่ภายใต้นวัตกรรมล้ำยุคก็คือการยึดครองอาหาร เป็นการผูกขาดสายพันธุ์พืช ทำให้ “พันธุ์พืชแท้” ค่อยๆ ถูกดัดแปลง ด้วยวิธีการฉีดยีนแต่ละชนิดเข้าไป ทำให้พืชเหล่านั้นเป็นพิษ เวลาหนอนแมลงมากินก็จะตายทันที แต่ผลที่ตามมาคือทำให้ผู้บริโภคกลับกินอาหารที่มีส่วนผสมสารเคมีเข้าไปซึ่งแน่นอนว่าก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กระแสต่อต้านพืชจีเอ็มโอยังคงเป็นกระแสที่เชี่ยวกรากควบคู่ไปกับอัตราการเติบโตของพืชผักออร์แกนิกที่ปราศจากสารเคมีและยาฆ่าแมลงในทุกกระบวนการเพาะปลูก หลายประเทศต่อต้านพืชจีเอ็มโอ แต่สนับสนุนพืชผักออร์แกนิก ขณะที่ในประเทศไทยเอง ความพยายามที่จะให้ภาครัฐอนุญาตให้ทำพืชจีเอ็มโอเข้ามาเพาะปลูกในเทือกสวนไร่นาก็ยังคงดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

กระนั้นก็ดี แม้ความพยายามดังกล่าวจะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเอาเสียเลย และปัญหาที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันก็คือปัญหาความหลากหลายพันธุกรรมที่กำลังลดน้อยถอยลงไปพร้อมๆ กับการเติบใหญ่ของธุรกิจการเกษตรยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาควบคุมเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งส่งผลทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่มีการเพาะปลูก

และนี่คือปัญหาที่คนอย่าง “โจน จันได” ที่มีชื่อเสียงจากการสร้างบ้านดินเล็งเห็น กระทั่งนำไปสู่การก่อตั้ง “ศูนย์พันพรรณ” ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยบริษัท บางจาก ปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ได้มีนโยบายพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมได้จัดทำภาพยนตร์โฆษณา ชุด “Sharing ความสุขที่ยั่งยืนคือการแบ่งปันและอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ” พร้อมทั้งถ่ายทอดเรื่องราวการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงผ่านโจน จันใด

โจนเล่าให้ฟังว่า ในความเป็นจริงแล้วที่ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ มีทรัพยากรธรรมชาติที่ อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชแท้เอาไว้เพื่อให้ลูกหลานได้มีกิน มีใช้ กลับเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้ามไป อีกทั้งหลายคนยังไม่ทราบว่า การมีเมล็ดพันธุ์แท้นั้นดีอย่างไร? เพราะอาหารคือชีวิต และการมีเมล็ดพันธุ์แท้ก็เป็นหนทางที่พิสูจน์ได้ว่า มนุษย์สามารถยืนหยัดชีวิตได้ด้วยการพึ่งพาตนเองอย่างสมบูรณ์

แต่สำหรับคนที่มีความผูกพันกับธรรมชาติ อยู่กับแมกไม้และสายน้ำอย่างโจน จันใดแล้ว เขาเห็นว่า เมล็ดพันธุ์พืชแท้คือสิ่งสำคัญ และทำให้ตัดสินใจเป็นผู้เก็บสะสมเมล็ดพันธุ์พืชพันธุ์แท้

“บรรพบุรุษของเราพัฒนาพันธุ์ที่แข็งแรงเพื่อส่งมาให้ลูกหลาน แต่ปัจจุบันภาคธุรกิจกับรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อตลาดอย่างเดียว โดยพัฒนาให้ได้พันธุ์ที่อ่อนแอที่สุด ต้องใช้สารเคมีถึงจะอยู่ได้ และให้ครั้งเดียวแล้วตายหมด”

ทั้งนี้ หลังจากที่มีแนวคิดอยากจะเก็บเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน พร้อมทั้งปลูกพืช ผักเอาไว้กินเอง โจนและภรรยาจึงได้มีการเริ่มก่อตั้งศูนย์พันพรรณ ศุนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเงินเพียงไม่กี่บาท ทว่า อาศัยการลงแรงสร้างบ้านดินเพื่อเป็นศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน รวมถึงยังเป็นแหล่งให้คนเข้ามาเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ

สำหรับการก่อตั้งศูนย์พันพรรณของโจน จันใดนั้นมีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะการก่อตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาได้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจจากมิตรสหายที่ทราบข่าวว่าโจนจะสร้างบ้านดินเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์พืช ก็ปรากฏว่าได้มีอาสาสมัครจากทั่วสารทิศเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งเป็นการบุกเบิกที่เต็มไปด้วยความสุข

“เก็บเมล็ดพันธุ์พืชมา 11 ปีแล้ว ก็ต้องบอกว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในด้านการให้ความรู้ ความเข้าใจพันธุ์พืชกับชาวบ้าน และตอนนี้ก็มีผู้คนไปเยี่ยมที่ศูนย์ฯ รวมถึงหน่วยงานต่างๆติดต่อขอพันธุ์พืชไปปลูกมากยิ่งขึ้น”โจนเล่าให้ฟัง

สำหรับการตั้งชื่อศูนย์ว่าพันพรรณนั้น โจนกับเพื่อนๆได้คิดกันอยู่นานร่วมอาทิตย์จนสรุปออกมาได้เป็นชื่อนี้ ซึ่งโจนได้บอกไว้ว่า “พันพรรณมีความหมายว่าร้อยพ่อพันแม่ คนจากทั่วโลกมาอยู่ร่วมกันเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่าย เราเก็บเมล็ดพันธุ์แทบทุกชนิดที่เป็นอาหาร เน้นเก็บพันธุ์ผักเป็นหลัก และเป็นพันธุ์ที่ตลาดนิยมมากที่สุดในตอนนี้ เพราะเป็นพันธุ์ที่บรรษัทข้ามชาติต้องการผูกขาดมากที่สุด ฉะนั้นเขาจะพัฒนาพันธุ์ผสมออกมาเร็วมาก ยิ่งผลิตออกมาเร็ว ก็จะยิ่งเบียดให้พันธุ์แท้หายไปเร็วขึ้น”

อย่างไรก็ตาม สำหรับการทำหน้าที่เก็บเมล็ดพันธุ์พืชนั้น โจน จันใดมีจุดยืนที่ชัดเจนตรงที่ว่า เขาไม่อยากเป็นมนุษย์ยุคสุดท้ายที่เนรคุณต่อบรรพบุรุษ ต่อธรรมชาติ

“การพัฒนาอาหารของเราปัจจุบันนี้ คือการทำลายทุกอย่าง ชีวิตเราอยู่ในมือบริษัทไม่กี่บริษัท แม้จะมีเงินเป็นร้อยๆ ล้าน แต่เขากลับเอาอาหารจีเอ็มโอมาให้กิน เรามีทางเลือกไหม เราต้องเลี้ยงลูกด้วยซีรีแล็คที่ใช้ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ เรากินน้ำอัดลม ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลที่ทำจากข้าวโพดจีเอ็มโอเพราะมันถูกสุด

“แล้วที่สำคัญพืชผักส่วนมากต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาที่บริษัทออกแบบให้ ถ้าไม่ให้จะไม่โต เราตื่นเต้นหลงใหลกับการบังคับให้พืชผักหรือสัตว์เลี้ยงโตเร็วอย่างผิดปกติ เราคิดได้แค่ต้องการผลิตให้มากและเร็วเพื่อขาย และเพื่อผูกขาดสินค้าเท่านั้นเอง ไม่สนใจคุณค่า และความปลอดภัยของผู้บริโภค ไม่สนใจความยั่งยืนของระบบอาหาร อีกทั้งเราได้คัดเลือกเอาเฉพาะพันธุ์ที่อ่อนแอ อายุสั้นไว้เป็นส่วนมาก เพื่อที่จะได้ขายปุ๋ย ขายยา ขายฮอร์โมนควบคู่ไปด้วย และต้องให้คนหันมาซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่ปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ ส่วนพันธุ์ที่แข็งแรงอยู่ได้เองตามธรรมชาติถูกเบียดให้สูญพันธุ์ไป ทุกวันจะมีพันธุ์พืชสัตว์หายไปจากโลกวันละหลายสายพันธุ์ เราเคยมีข้าวเป็นหมื่นสายพันธุ์เมื่อห้าสิบปีย้อนหลัง แต่วันนี้เราเหลืออยู่แค่ไม่กี่ร้อยสายพันธุ์ พริก มะเขือ แตง และผักต่างๆก็ตกอยู่ในสภาวะอันเดียวกัน”

“ทุกครั้งที่มีการดัดแปลงชีวิตของพันธุ์พืชให้กลายเป็นชีวิตที่วิปริต ผิดปกติ ด้วยวิธีการตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) ทั้งที่พันธุ์พืชเหล่านี้เปรียบเสมือนแม่ที่คอยสละร่างของตัวเองให้กลายเป็นพืชพันธุ์ที่หลากหลายเป็นหมื่นเป็นแสนสายพันธุ์ ให้แต่ละพันธุ์เติบโตได้ในสภาวะที่แตกต่างกัน เพื่อให้สัตว์โลกทุกที่มีอาหารกิน ถ้าทุกคนรู้จักกิน รู้จักอยู่ ชีวิตทุกชีวิตบนโลกจะไม่เคยอดอยาก ไม่เคยขาดแคลนอาหาร แต่ด้วยเพราะความโง่เขลา ความละโมบ โลภมาก ทำให้เกิดการแย่งชิงและกักตุน ความอดอยากจึงเกิดขึ้น แล้วผู้คนก็มาแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ซับซ้อน และราคาแพงอย่างที่สุด โดยการตัดต่อพันธุกรรม”

นอกจากนี้ โจน จันใดยังได้เน้นย้ำว่าชีวิตบนโลกนี้มีทั้งพืช สัตว์ และสิ่งที่ ไม่ใช่พืช ไม่ใช่สัตว์ ทุกชีวิต ทุกเผ่าพันธุ์มีวิถี มีเส้นทางที่แตกต่างกัน เป็นไปได้ยากมากที่ชีวิตต่างๆจะผสมข้ามสายพันธุ์กัน ถ้ามันจะเกิดขึ้น ต้องใช้เวลายาวนานในการพัฒนาตัวเอง แต่ด้วยเทคนิคการตัดต่อพันธุกรรม เราทำได้วันนี้เลย

ทุกวันนี้โจน จันใดก็มีความสุข และยิ้มได้กับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช พร้อมทั้งแจกจ่ายให้กับผู้คนที่สนใจ ก็นับว่าก้าวแห่งความสำเร็จ ของการแบ่งปันความสุข ผ่านเมล็ดพันธุ์พืชเป็นการยืนหยัดที่ยั่งยืนตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นวิถีที่สะท้อนถึงการใช้ชีวิตของโจน จันใด วิถีแห่งการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชนั่นเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น