เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - พบข้าวตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) เล็ดลอดปะปนมากับข้าวธรรมดาในท้องตลาดหลายเมืองบนแดนมังกร คาดบริษัทบางรายลอบลอกเลียนการพัฒนาในห้องทดลอง
รายการ นิวส์โพรบ (News Probe) หรือรายการสอบสวนข่าวประจำสัปดาห์ของสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (ซีซีทีวี) รายงานว่า มีการตรวจพบหลักฐานการจำหน่ายข้าวจีเอ็มโอ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งห้ามขาย หรือปลูกเพื่อการค้า และมีความผิดตามกฎหมาย ในซูเปอร์มาร์เกตใหญ่ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และในตลาดอื่น ๆ ในมณฑลหูหนัน อันฮุย และฝูเจี้ยน
รายการนิวส์โพรบได้มอบหมายให้สำนักงานตรวจสอบและกักกันโรคของจีนสุ่มตรวจสอบตัวอย่างข้าวสาร 5 ถุงในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนั้น และพบว่า มี 3 ถุงเป็นข้าวจีเอ็มโอ ซึ่งถูกนักวิทยาศาสตร์จีนคิดค้นขึ้นมา เพื่อให้มีความต้านทานแมลงศัตรูพืช
ข้าวจีเอ็มโอจากมณฑลอู่ฮั่นนี้เป็นชนิดหนึ่งจากสองชนิด ที่ดร.จัง ฉีฟา ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หวาจงในเมืองอู่ฮั่น เป็นผู้พัฒนาขึ้นในปี 2542 จากนั้น กระทรวงเกษตรได้อนุญาตให้ทดลองปลูกข้าวจีเอ็มโอทั้งสองชนิดในปี 2546 และได้ออกใบรับรองความปลอดภัยในปี 2552 อย่างไรก็ตาม ยังมิได้อนุมัติให้ปลูก เพื่อการค้า และใบรับรองนี้จะหมดอายุในเดือนส.ค. 2557
จีนมีการนำเข้าพืชจีเอ็มโอจำนวนมากมายก็จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง แต่ไม่อนุญาตให้ปลูกและจำหน่ายข้าวจีเอ็มโอบนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากจำเป็นต้องมีการทดลองมากกว่านี้ เพื่อรับประกันว่า มีความปลอดภัยจริง
รายงานของซีซีทีวี ยังระบุอีกว่า สหภาพยุโรปก็ได้มีการทดสอบข้าวนำเข้าจากจีนและพบร่องรอยข้าวจีเอ็มโอชนิดเดียวกับที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเมืองอู่ฮั่น
ด้านดร.จังชี้แจงกับทางรายการว่า เมล็ดข้าวจีเอ็มโอไม่มีทางรั่วไหลเข้าไปในตลาดได้ และทางมหาวิทยาลัยมิได้มีเจตนาทำเช่นนั้น แต่อาจถูกนำออกไปในช่วงที่มีการพัฒนาและแนะนำให้กระทรวงเกษตรและผู้เชี่ยวชาญทราบเมื่อปี 2542
นอกจากนั้น ยังอาจเป็นไปได้ที่บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพืชบางรายได้ลอบลอกเลียนการผลิตข้าวจีเอ็มโอในช่วงการปลูกในแปลงทดลองเมื่อปี 2546
ขณะที่เกษตรกรเมืองอู่ฮั่นผู้หนึ่งบอกกับซีซีทีวีว่า เมล็ดพืชที่ทนต่อแมลงได้รับความนิยม เพราะประหยัดต้นทุนด้านยาฆ่าศัตรูพืช
ในรายงานก่อนหน้านี้ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซระบุว่า พบข้าวจีเอ็มโอจากการสุ่มตรวจตัวอย่างข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว 15 ตัวอย่างในเมืองอู่ฮั่นเมื่อเดือนพ.ย. 2556 โดยจากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เป็นเรื่องบกพร่องในการตรวจสอบ และทางการจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบให้มากขึ้น