กาฬสินธุ์ - เจ้าของฟาร์มปลาหมอเมืองน้ำดำโวย ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพรแอบอ้างผลงานเลี้ยงปลาหมอยักษ์ ชี้ได้รับความเสียหาย ถูกขโมยผลงานและธุรกิจ เรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตรวจสอบ พร้อมเดินหน้าดำเนินคดีอาญา และเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง
วันนี้ (27 เม.ย.) ที่โปโลฟาร์ม เลขที่ 89 หมู่ 10 บ้านโปโล ต.กมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ผู้สื่อข่าวได้พบกับนางนิตยา กัณฑิศักดิ์ อายุ 46 ปี เจ้าของฟาร์ม หลังได้รับร้องเรียนและได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร นำโดยนายสง่า สีสง่า ผู้อำนวยการศูนย์ ให้ข่าวปลาหมอพันธุ์ยักษ์ “ชุมพร 1” บนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง วันที่ 27 เม.ย.
โดยมีภาพประกอบเป็นภาพของนางนิตยาถือปลาโชว์ และมีภาพนายสง่าล้อมกรอบอยู่ด้านข้าง พร้อมคำให้สัมภาษณ์เป็นผลงานของทีมวิชาการของศูนย์วิจัย ประกอบด้วย นายสุชาติ จุลอดุง น.ส.เมตตา ทิพย์บรรพต น.ส.มลฤดี โพธิ์ประดิษฐ์ และนายกฤษณณุพันธุ์ โกเมนไปรรินทร์
ซึ่งตีพิมพ์ว่าได้เริ่มต้นศึกษาตั้งแต่ปี 2547 ด้วยการศึกษาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 4 แห่ง ทำให้ผลการทดลองปลาหมอ ที่ตั้งชื่อว่าปลาหมอพันธุ์ชุมพร 1 สามารถเจริญเติบโตกว่าปลาหมอทั่วไป สามารถเพาะเลี้ยงได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติเป็นปลาที่ตัวโต เฉลี่ย 350 กรัม หรือขนาด 3 ตัวต่อหนึ่งกิโลกรัม และหนักสุดตัวละ 1 กิโลกรัม
นางนิตยากล่าวว่า ภาพที่ปรากฏในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เป็นภาพของตน ซึ่งได้ถือปลาหมอที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์จากทีมนักวิจัยของสำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ร่วมกันคิดค้นกันมารวมสิบปี และเมื่อตรวจสอบดูมีข้อความที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร อ้างว่าเป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์ปลาหมอนั้น
ส่งผลให้ตนเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการขโมยผลงานทางวิชาการ และความพยายามของนักประมงไทย เพราะในการเพาะเลี้ยงปลาหมอนั้นได้ใช้ความพยายามในการตัดแต่งพันธุกรรมให้มีความเหมาะสม และที่ผ่านมาโปโลฟาร์มมีชาวประมงเข้ามาฝึกฝน จนเกิดเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่หลายครอบครัวมาแล้ว
นางนิตยาระบุว่า รู้สึกเสียใจและน้อยใจอย่างมากที่เกิดเรื่องเช่นนี้ นับเป็นการกระทำที่น่าละอาย เป็นการขโมยผลงานของเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ และส่วนตัวมีความรู้สึกว่าตนเองและครอบครัวถูกรังแก เพราะตนไม่เคยรู้จักกับข้าราชการในศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร รวมถึงนักหนังสือพิมพ์แต่อย่างใด และผลจากการแอบอ้างผลงานนั้นทำให้ทางฟาร์มเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งตนได้เข้าไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.กมลาไสย เพื่อที่จะดำเนินคดีในทางอาญาและทางแพ่งต่อไป
นางนิตยากล่าวว่า เรื่องนี้จะไม่ยอมความแน่นอน เพราะส่งผลเสียต่อธุรกิจของฟาร์มอย่างมาก ถูกลูกค้าต่อว่าและเข้าใจว่าโปโลฟาร์มไปขโมยผลงานมา แต่ในข้อเท็จจริงโปโลฟาร์มได้ก่อตั้งมากว่า 20 ปี ทำการเลี้ยงปลามาหลายชนิด จำหน่ายทั้งปลาเนื้อและพันธุ์ปลาสายพันธุ์ที่ทางฟาร์มพัฒนากันเอง และภาพในหนังสือพิมพ์ที่ตนเองถือปลาโชว์เป็นปลาหมอพันธุ์โปโลฟาร์มกาฬสินธุ์เจ๊นิด ไม่ใช่สายพันธุ์ชุมพร 1 โดยเพื่อนได้ถ่ายภาพเก็บไว้เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 58 และส่งผ่านสื่อโซเชียลมาให้ ไม่รู้ว่าถูกนำไปลงหนังสือพิมพ์ได้อย่างไร
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าทางฟาร์มไม่ได้รู้จักมักคุ้นกับนายสง่าแต่อย่างใด และไม่ได้มีการติดต่อกันเป็นการส่วนตัว ที่ผ่านมาสายพันธุ์ปลาหมอที่ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นการลองผิดลองถูกกันเองในครอบครัว ตนเองจบแค่ ม.6 อาศัยการเรียนรู้จากการทำฟาร์ม และคำแนะนำของประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งครอบครัวได้ทุ่มเทมากกับอาชีพนี้ แต่พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา บรรดาลูกค้าจากทั่วประเทศก็โวยวายว่าทางฟาร์มเอาผลงานของคนอื่นมาแอบอ้าง และถูกต่อว่าให้เสียหายอย่างมาก
“ตอนนี้ได้ไปแจ้งความร้องทุกไว้ที่ สภ.กมลาไสย ซึ่งคงจะต้องสู้กันทางกฎหมายอย่างถึงที่สุดทั้งทางแพ่งและอาญา รวมทั้งขอเรียกร้องให้ทางผู้เกี่ยวข้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะกระทบทั้งภาคธุรกิจและจิตใจอย่างมาก”