xs
xsm
sm
md
lg

“Biothai” โต้ “ดร.เจษฎา” ปม สปช.ถอนร่าง กม.เอื้อ “มอนซานโต้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“เวปไซต์ มูลนิธิชีววิถี”ได้เผยแพร่บทความ เรื่อง เบื้องหน้าเบื้องหลัง สปช.ถอนร่างกฎหมายเอื้อมอนซานโต้
“Biothai”ตอบโต้“นักวิทยาศาสตร์ จุฬา”ที่สนับสนุนจีเอ็มโอ ท้าสปช. ที่ค้าน พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพดีเบต ชี้เขียนไม่ตรงกับความเป็นจริง หลัง “เจษฎา” อัด “รสนา” อ้างทำลายโอกาสเกษตรกรไทย “มูลนิธิชีววิถี”เผยแพร่บทความ เบื้องหน้าเบื้องหลัง สปช.ถอนร่างกฎหมายเอื้อ “มอนซานโต้”

วันนี้ (23 ก.ค.) ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ส่วนตัวถึงกรณี “ร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ” ว่า ร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ (=เรื่องพืชไร่จีเอ็ม) ถูกถอนออกจากการพิจารณาของ สปช. แล้วครับ ... เซ็งมากครับ อีโมติคอน frown

หลังจากผมกลับมาจากการอบรมดูงานที่อเมริกาเรื่องพืชไร่จีเอ็ม ก็ได้ไปเดินสายอธิบายให้องค์กรต่างๆ เช่น สปช. สนช. มหาวิทยาลัย เกษตรกร ฯลฯ เห็นความสำคัญและจำเป็นของการนำเอาเทคโนโลยีนี้มาช่วยการเกษตรของประเทศไทย ที่ล้าหลังลงไปทุกทีจนเพื่อนบ้านเราจะแซงกันไปหมดแล้ว

แต่ก็พบว่ายังมีคนจำนวนมากที่เข้าใจเรื่องนี้แบบผิด ๆ ด้วยชุดข้อมูลเก่าๆ ไม่ว่าจะเรื่องความปลอดภัยในการบริโภค ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการแข่งขันทางการค้า ... ซึ่งบางเวทีก็ให้การรับฟัง ซักถาม ถกเถียงกันดีมาก ขณะที่บางเวที (อย่าง สปช. เนี่ย) ก็น่าเศร้าที่เค้าไม่ฟังข้อมูลและความเห็นผมเท่าไหร่

จนเมื่อวาน วาระที่เอา พ.ร.บ. เข้าพิจารณาโดย สปช. คณะใหญ่ ได้ข่าวว่า พ.ร.บ. โดนถล่ม หลัก ๆ จากคนที่ก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์เรื่องนี้แต่อะไร ... จนถูกถอนออกจากการพิจารณาอย่างรวดเร็ว สมใจกลุ่มที่ต่อต้าน ซึ่งมีที่นั่งใน สปช. อยู่หลายคน

ปากนึง คุณบอกว่าอยากเห็นกฎหมายมากำกับดูแล (ซึ่งพวกคุณก็ร่วมร่างมาตั้งแต่ต้น) แต่คุณก็มาป้ายสี ทำลายกฎหมายเสีย ... ผมล่ะเซ็งครับ

ไม่เป็นไร .. รอให้ผมเป็น รมต.วิทย์ ก่อนละกัน (ฝันกลางวัน 555)

เอาเป็นว่า ผมท้าคุณรสนา มาดีเบตให้ประชาชนฟังกันดีกว่า ว่าคุณรู้เรื่องจีเอ็มโอดีกว่าผมแค่ไหน ... ใครกันแน่ที่กำลังทำลายโอกาสของเกษตรกรของประเทศไทย

บ่นๆๆๆ

ต่อมา แฟนเพจเพจบุ๊ก “Biothai” เขียนตอบโต้ว่า จากข่าวนักวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนจีเอ็มโอท้าสปช. ที่คัดค้าน พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพดีเบต มีข้อความบางส่วนในข้อเขียนของเขาพาดพิงไบโอไทย และไม่ตรงกับความเป็นจริง ไบโอไทยขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้ติดตามเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้ครับ

1. “พ.ร.บ. โดนถล่มหลักจากคนที่ก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์เรื่องนี้”

ไม่จริงครับ การอภิปรายใน สปช. เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมา อย่างน้อยมีนักวิทยาศาสตร์สองคนเป็น รศ.ดร. ทั้งคู่ คนแรก คือ รศ.ดร.วินัย ดะลันห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์อาหาร อดีตคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตามเรื่องอาหารจีเอ็มโอมา 20 ปี คนที่สอง รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตะพงศ์ เป็นอดีตอาจารย์ที่สอนในคณะที่เกี่ยวกับการเกษตร อดีตคณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ และอดีตอธิการบดี ม.สงขลานครินทร์ 2 สมัย

ประเด็นสำคัญคือ คนที่ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือออกกฎหมายเกี่ยวกับจีเอ็มโอ ไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ (บางกลุ่ม) เท่านั้น ผู้บริโภค นักสิ่งแวดล้อม ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นได้เท่าเทียมกัน เพราะปัญหาจีเอ็มโอกระทบกับทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ

2. “ปากนึง คุณบอกว่าอยากเห็นกฎหมายมากำกับดูแล (ซึ่งพวกคุณก็ร่วมร่างมาตั้งแต่ต้น) แต่คุณก็มาป้ายสี ทำลายกฎหมายเสีย ... ผมล่ะเซ็งครับ”

กรุณาทำความเข้าใจใหม่นะครับว่า ไบโอไทยและภาคสังคมที่เป็นผู้ริเริ่มให้มีกฎหมายนี้ตั้งแต่สมัยคุณเนวิน ชิดชอบ และ คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นรัฐมนตรี ในขณะนั้นกลุ่มสนับสนุนจีเอ็มโอต่างหากที่เป็นผู้คัดค้านไม่ต้องการให้มีกฎหมาย

พวกที่สนับสนุนจีเอ็มโอต่างหากที่ฉีกหลักการกฎหมายที่ดีทิ้งไป แล้วร่างกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้บรรษัท แล้วพยายามรีบผลักไปโดยกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เปิดเผยร่าง ไม่รับฟังความคิดเห็น ลัดขั้นตอน เราไม่ได้ทำลายกฎหมายอย่างที่ท่านกล่าวหา แต่เราเสนอให้ปรับปรุงร่างกฎหมายให้ปกป้องสิทธิเกษตรกร ปกป้องผู้ประกอบการรายย่อยที่จะเจอปัญหาการปนเปื้อน และทำให้กฎหมายนี้สอดคล้องกับหลักการในพิธีสารระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ

ขอเชิญแฟนเพจไบโอไทยและแฟนเพจที่สนับสนุนจีเอ็มโอ ดูสรุปความเป็นมาของ พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพในแผนภาพ และวิเคราะห์เนื้อหาโดยนักวิชาการกฎหมายในเพจข้างล่างนี้นะครับ

วันเดียวกัน “เว็บไซต์ มูลนิธิชีววิถี” ได้เผยแพร่บทความ เรื่อง เบื้องหน้าเบื้องหลัง สปช. ถอนร่างกฎหมายเอื้อมอนซานโต้ มีใจความว่า เมื่อวานนี้ (22 กรกฎาคม 2558) นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปภาคการเกษตร ภายใต้กรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมี นายเกริกไกร จีระแพทย์ เป็นประธาน ได้เสนอ พ.ร.บ. ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพเข้าสู่การพิจารณาของ สปช.

การนำเสนอดังกล่าวไม่ได้ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ ชุดใหญ่แต่ประการใด เป็นการบรรจุวาระอย่างเร่งด่วนและลัดขั้นตอนการดำเนินการของสภาปฏิรูปอย่างไม่ชอบมาพากล

ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นร่างกฎหมายที่ผลักดันโดยมอนซานโต้ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ และกลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอ เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้มีการทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอให้สามารถทำได้โดยสะดวก โดยไม่ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2550 กฎหมายฉบับนี้ร่างขึ้นเพื่อเอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่มีบทบัญญัติให้มีการชดเชยและเยียวยาความเสียหายในกรณีเกิดการปนเปื้อนของจีเอ็มโอหลังจากปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว อีกทั้งขัดกับความตกลงระหว่างประเทศในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ

ผู้นำเสนอกฎหมายดังกล่าวต่อที่ประชุม ได้แก่ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ และมีผู้อภิปรายสนับสนุน 2 คน ได้แก่ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส และ นายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ

ส่วนสมาชิก สปช. ที่อภิปรายคัดค้านเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. และท้วงติงกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นไปโดยไม่ชอบ ได้แก่ นางรสนา โตสิตระกูล นางสาวสารี อ๋องสมหวัง นายประเสริฐ ชิตพงศ์ นายวินัย ดะลันห์ นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ และ นายนายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด

หลังจากสมาชิกสปช.เป็นจำนวนมากคัดค้าน และมีผู้เตรียมตัวอภิปรายคัดค้านอีกเป็นจำนวนมาก นายเกริกไกร จิระแพทย์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ และ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สนช. ในฐานะประธานที่ประชุมได้ขอมติให้มีการถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากการพิจารณาของ สปช. ที่ประชุมเห็นชอบโดยไม่มีเสียงคัดค้าน

อย่างไรก็ตาม แม้ร่าง พ.ร.บ. นี้ จะไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่มอนซานโต้และอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ยังคงสามารถเสนอกฎหมายนี้เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อยู่ดี โดยผ่านคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน รวมตัวกัน (เฉพาะร่างกฎหมายที่ไม่เกี่ยวด้วยการเงิน ทั้งนี้ สปช. และ ครม. อาจนำร่างไปพิจารณาก่อนเข้าสู่วาระหนึ่งได้)

จับตาการเคลื่อนไหวของมอนซานโต้และกลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโออย่ากะพริบตา


ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพตส์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ส่วนตัวถึงกรณี “ร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ”
กำลังโหลดความคิดเห็น