xs
xsm
sm
md
lg

จากศิลปินอินดี้ สู่วิถีเกษตรกร ‘โอ๋ พีทูวอร์ชิพ’ ปฏิวัติชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หากมีใครสักคนได้เริ่มหัวข้อ “ขอมีไร่เกษตรในกลางเมืองใหญ่” ในวงสนทนาคร่าวๆ แล้ว แน่นอนว่า ความคิดเห็นโดยรวมคงจะไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ‘ทำไม่ได้หรอก’, ‘ไม่เวิร์กมั้ง’, ‘มันจะดีเหรอ’ และอีกสารพัดคำต่างๆ ซึ่งหากมองในแง่ความเป็นจริง ก็อาจจะเป็นอย่างที่บอกก็เป็นได้ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ในเมืองใหญ่นั้น นั่นมีแต่สิ่งก่อสร้างมากมายจนแทบไม่มีอะไรให้ชื่นใจหลงเหลืออยู่เลยก็ว่าได้

แต่ยังมีชายคนหนึ่ง ที่มีนามว่า ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล หรือ โอ๋ อดีตสมาชิกวงดนตรีหัวครีเอทีฟอย่าง พีทูวอร์ชิพ (P2Warship) กลับสามารถเปลี่ยนแปลงพื้นที่เล็กๆ จากสนามฟุตซอลให้เช่าให้กลายเป็นแปลงไร่เกษตรเล็กๆ แต่ยั่งยืน ในท่ามกลางสิ่งรอบข้างที่เต็มไปด้วยตึกคอนกรีตมากมาย

จากวิกฤตน้ำท่วม ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเขา ให้รับรู้ถึงคำว่า “พอเพียง” อย่างเข้าใจและเรียบง่าย และทำให้ได้ปรับเปลี่ยนจากธุรกิจส่วนตัวให้กลายเป็นตัวอย่างของผืนดินทางการเกษตร ที่สามารถเปลี่ยนให้เข้าใจของคำว่า “การใช้ชีวิต” ได้ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม

นับจนถึงปัจจุบัน กว่า 3 ปี ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีชีวิตและการดำรงชีวิต ในวันนี้ของเขา ถึงแม้ว่าความสุขทางปัจจัยมันอาจจะไม่ได้มีมากพอ แต่ความสุขทาง “จิตใจ” นั้น ก็นับว่าสุขจนเปี่ยมล้นจนเกินพอแล้ว สำหรับชายคนนี้...

• ก่อนหน้าที่จะมาทำฟาร์มนั้น คุณมีอาชีพอะไรมาก่อน

ช่วงแรกสุด ผมเปิดบริษัททำพวก อินทีเรีย ดีไซน์ จากนั้นก็มาทำจิวเวอรี่กับบริษัทของญาติเป็นช่างภาพจิวเวลรี ทำสตูดิโอ แต่ผ่านมาพักหนึ่ง ก็เริ่มเบื่องานเพราะว่า มันต้องตีรันฟันแทงกับเขา แล้วโดนโกงโดนอะไรบ่อยไง ต่อมาก็มาร้องเพลง (อัลบัม พีทูวอร์ชิพ พ.ศ. 2548) หลังจากนั้นก็คิดว่าจะหยุดแล้ว จะมาทำอะไรที่มันอยู่บ้าน กับกำลังหาๆ ธุรกิจ อะไรดี ที่จะมาทำกับบ้าน แล้วไม่ต้องไปไหน แล้วก็เก็บเงินไว้ ไปถ่ายรูปแบบที่เราอยากถ่าย ก็มาลงเอยกับสนามฟุตบอล เพราะว่ามีที่อยู่พอดี คือตอนนั้นเป็นช่วงที่คนเพิ่งจะเริ่มทำกันเอง ยังไม่ค่อยมีคนทำมาก ก็เริ่มคิดแล้วว่า ถ้าทำก็ได้ทำก่อนคนอื่น แล้วที่ก็อยู่ในที่ๆ มีคนเล่นกันด้วย แถบนี้ ผมก็เลยเริ่มทำสนามบอล เหมือนว่าจะได้อยู่บ้านอย่างที่คิด

แต่การทำสนามฟุตบอลมันคือการทำธุรกิจไง มันต้องดูแลสนามตลอดเวลา ซึ่งถ้าทำหญ้าเทียม ก็คงไปตามนั้นแล้ว แต่เราทำหญ้าจริงไง มันยากตรงที่หญ้ามันพังตลอด เราต้องคอยซ่อมมัน ซึ่งเราก็เน้นใส่ใจรายละเอียดกับลูกค้า ซึ่งลูกค้าก็ติดด้วย เขาก็รู้จักกันทุกคนเลย คือเราลงมาดูเองเลย พอลูกค้าเตะบอลเสร็จก็ไม่กลับบ้านกัน ก็นั่งชิลกันที่สนาม เล่นกีตาร์อัดคลิปร้องเพลงอะไรไป ก็พอถึงตอนซ่อมสนามบ่อยๆ จนแบบว่าจะทำยังไงให้มันดีกว่านี้ แต่หญ้าเทียมมันก็ใช้เงินเยอะไง ผมก็เลยเครียดว่า หามาหุ้นกันทำแล้วว่าจะปลูกใหม่ หรือว่าจะเก็บตังค์แล้วไปทำปีถัดไป สรุปว่า เราก็เก็บตังค์ไปก่อนแล้วไปทำ

• ช่วงน้ำท่วม ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่มาทำฟาร์มเลย

ช่วงนั้นคือมันติดหน้าฝนมา แล้วน้ำมันก็สะสมไหลมาเรื่อยๆ แล้วพอติดหน้าฝนเสร็จ น้ำจะท่วมไง เราก็ยังไม่เปิด เราก็เลยอพยพมาจากมีนบุรีมาอยู่ที่นี่ คือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตก็ว่าได้ ต่อมาชีวิตผมก็ดีขึ้นทันที เนื่องจาก บ้านสะอาด แล้วก็ตื่นเช้า เก็บผักกิน ผักขึ้นเองริมรั้ว ผักที่เก็บมาก็มาทำเมนูที่ไม่มีในร้านอาหาร แม่ก็ทำเมนูโบราณมาให้เรากินทุกวัน เราก็รู้สึกอินไงว่า อยู่บ้านทุกวัน ทำไมไม่ต้องซื้อของแล้วคุณภาพชีวิตดีจังวะ ก็เริ่มจากตรงนั้น แล้วแม่ก็ปลูกแปลงเล็กๆ ตรงที่สต็อกทราย มีทุกอย่างเลย ตะไคร้ ใบมะกรูด เริ่มทำแปลงเล็กๆ ก็ได้กินแล้ว มันเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ เองที่ ทำไมชีวิตดีจังเลย คือเราต้องใช้เงินรึเปล่า ไม่ต้องไปหาเงินแล้วเอามาซื้อความสุขนะ เราอยู่บ้านทำแล้วมีความสุขดีกว่า ก็เลยคิดอย่างงั้นและบอกแม่ว่าจะไม่ทำสนามบอลแล้ว จะเริ่มย้ายพวกนี้ไปปลูกในสนาม แล้วเริ่มศึกษาโครงการพระราชดำริและทำเลย

• พอเริ่มมาเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่า คงต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่นาน

ไม่นานเลย (ตอบทันที) ก็ตั้งแต่ช่วงปลายปีนั้นแหละ ดูรายการพระราชดำริเยอะ เห็นพี่โจน จันได กับ พี่อุ้ม (สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท) ปลูกข้าว เลยเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาทันที เพราะพี่โจนทำหลายสิ่งขนาดนั้น เราก็อยากทำบ้าง วิธีเลี้ยงไก่ เอาไก่ปลดระวาง มาทำเป็นไก่ไข่ เฮ้ย เดี๋ยวจัดเล้าไก่ไข่เลย เราจะกินไข่ชะอม จะทำรั้วชะอมแบบโบราณ ทำรั้วแบบไม่ต้องมีรั้ว เก็บไข่ทำได้ทุกวัน ก็เริ่มเลย หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ว่าที่เรา 1 ไร่ครึ่ง 1 ไร่ เป็นสนามฟุตบอล แล้วพื้นที่ส่วนนั้นไปทำอะไรได้บ้าง เราก็ไปดูจากตรงนั้น เกษตรทฤษฎีใหม่ ทำเศรษฐกิจพอเพียงว่าทำยังไง ก็ค่อยหา แล้วเราก็เป็นนักออกแบบเก่า ก็หาแล้วขึ้นแปลนได้เลย ขึ้นแปลน 3d ซึ่ง 3d สนามบอลมันยังอยู่ไง ผมก็เอาสวนไปแปะสนามบอลได้เลย เสร็จภายในคืนเดียวเรียบร้อย

• แล้วแนวในการศึกษานั้น ได้เรียนเพิ่มเติมมาจากทางใด

ผมดูของในหลวงเป็นพื้นฐาน ว่าท่านวางไว้ยังไง แล้วเราคิดแล้วว่าจะเดินตามรอยนี้แล้ว พอลงรายละเอียด เราก็มาดูว่าอันไหนเหมาะกับเรา เพราะเวลาท่านวาง ท่านไม่สามารถวางให้คนทั้งประเทศวางตามได้หมด เนื่องจากพฤติกรรมต่างกัน มันก็จะมีของแต่ละกลุ่มที่ไปเดินตามรอยท่าน ก็ไปดูว่าเขาเดินกันแบบไหน แล้วเราก็จะมาผสมผสานให้เข้ากับแบบของเรา เพราะเราไม่เหมือนเกษตรกรต่างจังหวัดไง แค่ภูมิประเทศเราก็ไม่เหมือนแล้วอ่ะ เราอยู่กรุงเทพฯ ที่เราเป็นดินถมห่วยๆ เลย เก็บน้ำไม่อยู่ ขุดบ่อไม่ได้ มีทรายที่ปรับพื้นสนามฟุตบอลอีกเมตรนึง ปลูกอะไรไม่ขึ้น จะทำไง เริ่มใหม่เลย
ก็เริ่มปรับกันทีละหลุม ทีละรู ที่ปลูกตรงขุดทราย ขุดผสมดิน เอาดินเติมเข้าไป แล้ว อาจารย์ที่เป็นคนแรกๆ เลย คือ เว็บเกษตรพอเพียงด็อทคอม คือเราเข้าเว็บนี้ แล้วก็ไปแนะนำตัวว่าเป็นยังไง ตอนแรกเขาก็ไม่ค่อยเชื่อนะ หาว่าเรารีทัชรูปมาแปะในสนามฟุตบอลเอารูปต้นไม้ไปแปะรึเปล่า (หัวเราะ) เราก็ไม่ใช่พี่ เหตุผลที่มาคือ เราไม่รู้ แล้วอย่างมะนาวเราเป็นโรค เราก็จะถ่ายรูปไปแปะ มะนาวเป็นอะไรครับ มันเป็นใบ กิ่งก้านเป็นโรค ลูกร่วงหมด อ้อเป็นโรคนี้นะ ใช้ยารักษา เราก็มาทำเสร็จแก้ได้ ก็เลยอยู่ในเว็บนี้ยาวเลย

จนมีคนบอกว่า คุณอยู่แถวนั้น น่าจะไปเจอคุณปรินซ์ เจ้าชายผัก (นคร ลิมปคุปตถาวร) นะ ผมก็หาว่าเขาอยู่ไหนนะ ก็เจอพอดี เขาเปิดคอร์สสอนเดือนละครั้ง ผมก็ไปลงเรียนกับเขา เรียนเสร็จก็สนิทกันเลย เพราะบ้านอยู่ใกล้กันมาก เขาไม่มีลูกศิษย์ที่บ้านอยู่ใกล้ไง เขาก็เดินมาดู “โห อย่างงี้เลยเหรอ” เราก็เลยคุยกันสนิท ก็ไปทำกิจกรรมด้วยกันตลอด จนตอนหลังตั้งกลุ่มด้วยกัน ในเฟซบุ๊ก ชื่อ Heart Core Organic ตอนนี้สมาชิก 5,000 คนแล้ว

• การที่เปลี่ยนแปลงในการวิถีชีวิต เคยโดนดูถูกหรือนินทามั้ย

มี เยอะแยะ แต่ถ้าเราแคร์สื่อ เราไม่ทำแล้วไง (หัวเราะเบาๆ) คือกำลังขุดดินอยู่ตรงนี้นะ (ชี้ไปที่ไร่) ตรงข้างทาง คนงานพม่าแถวนั้นก็แซวเราแบบขำๆ ว่า 'ผมให้พี่ 3 เดือนพอ เหนื่อยจะตายห่า ทำสวนน่ะ พี่ทำไม่ไหวหรอก' ตอนนี้ยังไม่เลิกเลย คือในตอนนั้น เขาก็คิดว่าคงไม่ไหวหรอก แต่ เราก็ต้องเรียนรู้ไป มันไม่ง่าย

• จากวันนั้นถึงวันนี้ ได้เปลี่ยนแปลงอะไรกับชีวิตบ้าง

ให้มุมมองความคิดที่เปลี่ยนไป ให้สุขภาพที่ดีขึ้น ให้เพื่อนให้มิตรภาพเต็มไปหมดเลย คนที่สอนเราอะไรเรา ก็ไปทำกิจกรรมอะไรกันเสร็จ พอหลังจากนั้นเราพอต่อสอนต่อ เราจะมีเพื่อนมีพันธมิตรเยอะขึ้น สุขภาพก็ดีขึ้นเห็นๆ มุมมองความคิดเปลี่ยน จากที่จะต้องหาเงินเยอะๆ มันรู้จักพอมากขึ้น รู้จักคำว่าพอเพียงมากขึ้น แต่ในหลวงไม่ได้บอกว่าพอเพียงต้องจน ไม่ใช่เลย คนละเรื่องเลย เข้าใจผิดเลย

แต่ตอนแรก เราสุดโต่งเกินไป เราตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จเลยไง เพื่อนชวนกินข้าวไม่ไป ตังค์ซื้อเสื้อผ้าไม่มี วันหนึ่ง พ่อเพื่อนเสีย ผมใส่เสื้อสีดำ กางเกงขาก๊วย ไปงานพระราชทานเพลิงศพที่วัด พอกลับมาบ้าน ก็เปลี่ยนแปลงใหม่ ก็มีเสื้อผ้าบ้างแล้ว อาจจะไม่ค่อยเรียบร้อย แต่ว่าไม่น่าเกลียดเกิน มีไปกินข้าวกับเพื่อนนะ ถ้าเพื่อนชวนก็ต้องไปได้บ้าง ตามความเหมาะสม เพื่อนเปิดร้านกาแฟก็ไปนั่งได้ แต่ก็ดีนะที่ทำไปอย่างนั้น คือเราได้เห็นก่อน ว่าทำอย่างงั้นแล้วมันจะเป็นยังไง เรายังอยู่ในเมือง เราต้องใช้ชีวิตในเมืองบ้าง

• กระแส “ออแกนิก” ที่กำลังมา โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นเพราะอะไร

ผมว่าคนตระหนักเรื่องสุขภาพกันอย่างเดียวเลย ไม่ต้องไกลตัวเลย แค่เพื่อนๆ เรา เขาก็จะออกแนวว่า “เวอร์ กินมาตลอดชีวิต ไม่เห็นเป็นไรเลย ทำไมคิดจะมาออแกนิกเอาตอนนี้” ผมว่าอุตสาหกรรมอาหาร กับ อุตสาหกรรมเกษตร มันมากินเกษตรกรรมและกสิกรรมไปแล้ว เวลากสิกรรม เราทำแค่นี้ มันไม่มีโรคไม่มีภัย ก็ออกผลมาแค่นี้ กินอยู่พอดี แต่พอการทำแบบที่เป็นอยู่ปุ๊บ มันครอบไปเลย ไม่พอ ผลิตเยอะๆ สิ จะได้ถูกและได้กินเยอะๆ ขายได้ถูก เอาปริมาณและเงิน ก็กลายเป็นความโลภเป็นตัวตั้ง ขาดธาตุนี้เอาปุ๋ยเคมีใส่เข้าไป เป็นโรคเหรอ ฉีดยาเข้าไปสิ แต่เดี๋ยวนี้มันลามไป GMO ยิ่งหนักเลย อ้อไอ้นี่เหรอ เอายีนส์ตัวนั้นไปใส่ มันจะได้ทนไง เฮ้ย เดี๋ยวฉันผลิตยาฆ่าหญ้าตัวนี้ แล้วก็ใส่ยีนส์ที่มันทนยาฆ่าหญ้าตัวนี้ จะได้ฉีดยาฆ่ายาเท่าไหร่ก็ได้ไม่เป็นไร อย่างงั้นเลย คือมันก็โหดเกินไปนะ คนก็กินสารพวกนั้นเหมือนกัน

• คือพวกเขาไม่ได้มองเลยว่า พิษร้ายนี้กำลังฆ่าทางอ้อม

ใช่ๆ คือบางทีเราพูดว่า แคนตาลูปกินไม่ได้แล้วนะ เพราะว่าเขาใส่ยาหนักมากเลย คนปลูกยังไม่กินเลย เขามาบอกเองเลยว่าตัวเองป่วยแล้ว ตัดปอดไปข้างนึงแล้ว เพื่อนบอกว่า ข่าวพวกนี้เชื่อมากไม่ได้หรอก จริงบ้างไม่จริงบ้าง เราก็โอเคๆฟังในฐานะที่ เออ ดีแล้วที่เค้าพูด เราจะได้รู้ว่า เราจะสื่อสารให้คนสนใจยังไง ให้คนตระหนัก จะพูดยังไง เพราะถ้าเราไปพูดแนวเดิมๆ มันก็ยังมีเพื่อนที่ไม่เชื่ออยู่ดี เพราะอย่างเรา คลุกคลีจนเห็นว่าเป็นเรื่องจริงแล้ว แต่คนที่ไม่คลุกคลี เขายังไม่รู้หรอก

• มันสะท้อนเลยว่า การใช้ชีวิตในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไรด้วย

คือมันสะดวกไง มันเข้าถึงง่ายและสะดวก และราคาถูกจนชิน แบบว่า ออร์แกนิกมันแพง จริงๆ มันไม่ได้แพง แต่แบบปกติมันถูก มันดันจนถูกลงมาจนชินแล้วไง แล้วทำใจไม่ได้ให้ไปซื้ออันนี้ แต่ลองนึกกลับกัน ไปซื้อมังคุดกิโลละ 10-20 บาทได้ แต่ไปซื้อกิโลละ 50 ไม่ได้นะ ทั้งๆที่มันเป็นอินทรีย์ แต่พอเป็นสตาร์บัคส์ แก้วละ 120 ซื้อได้ คือทำใจไม่ได้กับส่วนต่าง เพื่อของกินที่ดีจ่ายไม่ได้ แต่ไปซื้อกาแฟแพงๆ ได้ เราก็เออนะ (หัวเราะ) คือสุขภาพตัวเอง แล้วก็ค่าส่วนต่าง แล้วก็กาแฟรสชาติก็ไม่ต่างกันมาก มันมีกาแฟถูกและดีกว่าเยอะ ถ้าเกิดหาเจอนะ มันมีกาแฟที่ถูกและดีกว่านั้นมากอีก

• จะเรียกได้ว่า ทั้งอุตสาหกรรมการเกษตรไทย โดนทุนนิยมครอบงำไปแล้ว

มันก็เป็นทั่วโลกแหละ ช่วงปฎิวัติเขียว (green revolution) ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว มาให้ทุน สนับสนุนตั้งแต่ให้การศึกษา ให้ทุนให้อะไรไป มันครอบมาตั้งแต่ตรงนั้น เด็กที่จบด้านเกษตรมาในยุคนั้น ก็เป็นผลผลิตจากสิ่งนี้ทั้งนั้น

ผมว่าที่เกษตรกรไทยปัจจุบันอยู่ไม่รอด ผมยกตัวอย่างเรื่องนาข้าวดีกว่า นาข้าว ต้นทุนต่อไร่ประมาณ 5-6 พันบาท ในการทำนาครั้งนึง แต่ชาวนาตอนนี้คือผู้จัดการนานะ ไม่ใช่ชาวนา ถึงวัน เขาก็เอาเกล้าไปแช่น้ำไว้ แล้วเอาขึ้นมา ต่อมาจ้างคนว่าน ว่านเสร็จ ถึงวันก็เอาคนมาฉีดยา จ้างคนใส่ปุ๋ย จ้างคนเกี่ยว ผู้จัดการนา 100 เปอร์เซนต์ ต้นทุนไร่ละ 6000 บาทโดยเฉลี่ย ถ้าเกิดว่า ไม่ทำอย่างงั้น ก็หมักปุ๋ยเอง ทำน้ำหมักเอง ทำอุปกรณ์ไล่แมลงเอง ทำน้ำชีวภาพอะไรเอง เหลือไร่ละ 1500-2000 ผลผลิตลดลงนิดนึง หรือ บางคนทำมากกว่าได้ แต่บางคนที่ทำแรกๆ มันจะลดลงอย่างเห็นๆ เลย เพราะว่า ปุ๋ยอัดอยู่อย่างเงี้ย พอหยุดใช้ ผลผลิตก็ลดลงโดยปกติ แต่ถ้าใช้ไปเรื่อยๆ มันก็จะดีขึ้นมาเอง เพราะอินทรีย์วัตถุในดินมันหมดไง เขาเลยเติมปุ๋ย พอเราเติมอินทรีย์วัตถุไปเรื่อยๆ จนมันพอของมันเอง นาอินทรีย์ที่ปุ๋ยเกินเยอะแยะเลย ไม่ต้องใส่ปุ๋ยแล้ว เต็มเลย ปุ๋ยมีพอแล้ว ดินอุดมสมบูรณ์แล้ว ฟื้นกลับมาใหม่ เยอะแยะเลย เหลือไร่ละ 1500 กับ ไร่ละ 6,000 มันต่างกันเยอะแยะเลย ถ้าเกิดพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องไปพึ่งปัจจัยภายนอก นี่แค่เรื่องปุ๋ยเรื่องหญ้านะ

ไหนจะเรื่องเมล็ดพันธุ์อีก เขาทำเป็น F1 มา ทำเป็นลูกผสม ไฮบริตมา ปลูกเสร็จเก็บเสร็จ ไปซื้อเม็ดใหม่ ลงใหม่ ซื้อไปอยู่อย่างงี้ เม็ดพวกนี้ต้องการปุ๋ยด้วย ต้องการยาด้วย เพราะพวกนี้มันต้องการปุ๋ยยา เขาทำให้เม็ดต้องการปุ๋ยยา เขาเลี้ยงมากับพวกนี้ เก็บมายังไงก็ต้องการได้ปุ๋ยยา แต่ถ้าเราปลูกของเราเป็นออแกนิกล่ะ พอปลูกออแกนิคเสร็จปุ๊บ ก็รูดเม็ดแล้วตากแห้ง รอบหน้าก็เอามาใช้ ก็ใช้อินทรีย์ ไม่ต้องใช้เคมี ไม่ต้องใช้ปุ๋ยยา มันก็ยั่งยืนกว่าเห็นๆ แล้วเกษตรกรจะอยู่ได้มั้ย ผมว่าอยู่ได้ชัวร์ เกษตรกรจนได้ไงวะ ก็ไปทำตามเขาน่ะสิ แล้วตอนนี้ให้เปลี่ยน ก็เปลี่ยนไม่ได้ด้วย เพราะมันสบายจริงๆ สมมุติว่าขายข้าวได้ 8000 ต้นทุน 6000 กำไร 2000 ถ้าเกิดว่าเพลี้ยลง หมดเลย เจ๊งเลย น้ำท่วมมา ร้องไห้ทันทีที่ออกทีวีกันน่ะ แต่ถ้าเกิดว่าทำเอง เหนื่อย แต่ไม่เสียตังค์เท่าไหร่ แต่เหนื่อยท้อ เดี๋ยวครั้งหน้าทำใหม่ ไม่เสียตังค์เท่าไหร่ เสียใจนิดหน่อย แต่ถ้าเกิดไปพึ่งพาอย่างงี้ อุบัติเหตุทางใดมา เรียบร้อยเลย เสียใจ เสียเงิน เสียทุกอย่าง

• ความเชื่อที่เน้นปริมาณ มันฝังรากลึกจนแกะออกยาก ประมาณนั้น

คือเขาทำมาจนชินแล้ว เพราะผมเคยคุยกับเกษตรกร คนที่ยังไม่เปลี่ยน เขาก็ยังไม่เชื่อนะ ว่าออแกนิคมันทำได้ คนที่ทำออแกนิค ก็ไม่ได้ไปสอนตรงๆ ไง ว่าทำได้ ตอนนี้ผมทำนาที่หนองจอก ก็เริ่มไปไถแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำ พ่อผมก็ไปบอกเค้าว่า ทำออแกนิคสิ มันดีอย่างงี้ๆ นะ ผมบอกพ่อไม่ต้องไปบอกหรอก เขาไม่เชื่อหรอก แถมจะบอกกลับมาว่า 'เหมือนจะดี มันก็มีแค่ในตำรา ทำไม่ได้หรอก มันต้องใช้ยาฆ่าหญ้า คุมหญ้า เอาไม่อยู่หรอก ถ้าหญ้ามา ข้าวก็ไม่โต’ เราก็โอเค คือเราไม่ต้องไปบอก ทำให้เห็นเลย ถ้าเกิดผมบอกคนเมือง ต้องบอกว่า กินข้าวออแกนิคสิ สุขภาพแข็งแรง ไม่มีสารเคมี แต่ผมบอกชาวนาว่า ทำออแกนิคสิ รวยนะ ได้เงิน ขายแพงนะ คือวิธีบอกมันคนละแบบ แต่ถ้าอย่างงี้ ไปทำให้เค้าเห็นแล้วบอกเค้าว่า ปีหน้าทำแบบผมสิ เดี๋ยวไปช่วยขายให้ ขายดีนะ เขาอาจจะสนใจ อาจจะนะ (หัวเราะ)

• ในเรื่องของอาหาร ถ้าขืนเป็นแบบนี้ อาจจะเรียกได้ว่า ชิบหาย ได้มั้ย

มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดตรงๆ เราก็แค่ตัวเล็กๆ เราจะไปสู้กับยักษ์ใหญ่ อะไรได้ มันคุมไปทั่วโลก จีเอ็มโอไปหมดเลย ให้เงินมหาวิทยาลัยก็ปลูกข้าวโพดได้ พอดัง นักวิชาการก็ออกมาพูด โอยดีนะ จีเอ็มโอ ทำคลิปให้ด้วย กินนมถั่วเหลืองจีเอ็มโอกัน ดีต่อสุขภาพ เคยเห็นป่ะ แค่นี้ ถ้ามาเทียบกับเรา มึงเป็นใครอ่ะ แค่เด็กศิลปะ เรื่องพันธุกรรม กูเรียนมาเถียงกูไม่ได้หรอก

แต่อย่างน้อย ผมดีใจมากเลยที่ตอนนี้ มีคนรุ่นปัจจุบันที่เริ่มให้ความสำคัญแล้ว เราก็เห็นหลายคนอยากจะกลับไปนะ ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี มีหลายคนที่กลับไป พยายามให้พ่อเปลี่ยนเป็นอินทรีย์ โอเคนะรุ่นนี้ ผมเห็นเด็กหนุ่มคนนึงที่แปลงนาที่หนองจอก เรียนที่มหิดล แล้วก็แม่เขาคุยกับผมถามว่า ทำอะไร ผมก็บอกว่า ทำนาครับ แม่เค้าบอก ไปคุยกับลูกเค้าเลยป่ะ คือลูกเค้าจบการศึกษาก็ดีนะ เรียนออสเตรเลียด้วย แต่มาทำนาเนี่ย เหมือนกันเลยแล้วอยู่ที่ติดกันด้วย หนูจบอะไรมาลูก จบอังกฤษมา ไปเลย ไปอยู่ด้วยกันได้เลย ไอ้พวกนี้ไม่น่าส่งไปเมืองนอก ซื้อควายให้ก็จบแล้ว (หัวเราะ)

• มันเหมือนจะบอกกลายๆ ว่า คนรุ่นเรา ได้เห็นถึงอันตรายเคลือบแฝงบ้างแล้ว

เป็นห่วงลูกหลาน ผมไปงานนึงเป็นวิทยากรพูด แล้วมีพี่คนหนึ่งพูดเรื่อง ที่ต้องมาทำโรงเรียน เพราะสงสารลูก คือรุ่นเรากินของดีมาครึ่งชีวิตแรก ก็ยังไม่ได้มีอะไรขนาดนี้ ไอ้ครึ่งหลังเราเพิ่งมากินเอง แล้วลองสังเกตดู สมัยก่อนคนอายุ 80 70 60 เป็นมะเร็ง เดี๋ยวนี้คนเป็นมะเร็งนี่อายุน้อยนะ แล้วรุ่นลูกเราล่ะ ไม่เคยกินของดีเลย มันเริ่มมาจากอาหารเคมีล้วนๆ เลย รุ่นลูกเราที่จะโตไปในอนาคต มันน่าจะเป็นมะเร็งตั้งแต่ 11-12 ได้เลย ง่ายๆ ไม่ต้องมองไกลเลย ถ้าเราไม่หาความมั่นคงทางอาหารเตรียมไว้ให้พ่อแม่พี่น้องเรา ก็ต้องเตรียมก่อน ถือว่าเรามาสู้กับมันในตอนนี้เลย

• คุณมีความคิดเห็นยังไง กับแนวคิดที่ว่า “พอแก่ตัวไปจะย้ายไปอยู่บ้านนอกกัน”

ผมก็บอกทุกคนที่มาถาม คือถ้าทำก็ทำเลย คือพ่อผมอายุ 70 กว่า คิดมาตั้งแต่ 50 กว่าว่าจะทำ พอเกษียณจริง 60 กว่า เหนื่อยแล้ว กว่าจะซื้อที่ไปดูที่ได้ 60 กว่าจะ 70 แล้ว กว่าจะเริ่มทำจริง ตอนนี้ต้องจ้างคนทำแล้วอ่ะ คือถ้าอยากทำมันไม่ต้องหยุดงานมาทำก็ได้ คือบางทีผมก็สุดโต่งไปจนเค้างง คือถ้าเกิดยังไปทำงานทุกวัน กลับบ้านไปอยากกินผัดกระเพรา ก็ปลูกกระเพรากระถางเดียว เดี๋ยวพรุ่งนี้มันก็มีโหระพางอกมาอีกต้นนึง มะรืนอาจจะมีผักชีงอกมาอีกกระถางนึง หรือมะรืนอาจจะมีพริกงอกมาอีก ก็ไม่ต้องไปซื้อพริกแล้ว มันจะค่อยๆ ไปเอง ค่อยๆ เริ่ม มันอาจจะยากกระถางแรก หลังจากนั้นมันค่อยๆ จะยาว คือค่อยๆ ทำไป สุดท้ายเลย กูอยู่หอต้มมาม่ากินทุกวัน เพาะถั่วงอกกินก็ได้อ่ะ ถั่วงอกใส่มาม่าอร่อยด้วย (หัวเราะ)

• ในฐานะที่คุณทำเกษตรกรรมในเมืองใหญ่ อยากให้พวกเขาได้เห็นอะไรจากสิ่งนี้บ้าง

อย่างคนเมืองที่สนใจจะมาทำ ผมว่าต้องเริ่ม แล้วมาทำ มันจะได้เริ่มทำ ไม่ต้องเริ่มทีเดียวหมด เริ่มพึ่งพาตัวเองก่อน อย่างเช่น เริ่มปลูกก็ปลูกสิ่งที่กินก่อน ทีละน้อย แล้วก็จะเริ่มทำ พอได้ทำมันจะเห็นว่า สิ่งที่เรากินทุกวันมันมีอะไรบ้าง ต่อไปจะระวังตัวมากขึ้น สุขภาพก็จะดีขึ้น คนที่เป็นเกษตรกร อยากให้หันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น เพราะว่าปัจจุบันที่อยู่ไม่ได้ เพราะไม่พึ่งพาตนเอง พึ่งข้างนอกหมด สวนมี 10 ไร่ พึ่งพาข้างนอกหมดเลย ไม่เคยได้ทำอะไรเองเลย มันก็เลยอยู่ไม่ได้ ก็อยากให้อยู่กันได้ อยากให้มีเงินเยอะๆ แบบ ผักนับต้นขาย ไม่ต้องช่างกิโล ให้มีค่าเหนื่อยที่คุ้มกับที่ทำออร์แกนิคเหมือนชาวนาเมืองนอก






เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช

กำลังโหลดความคิดเห็น