ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “เครือข่ายเฝ้าระวังผลกระทบพืช GMOs ภาคใต้” จี้ ก.พาณิชย์ ทบทวนโครงการปลูกพืช GMOs ค้าขายเชิงพาณิชย์ หวั่นประเทศชาติสูญเสีย “อธิปไตยทางอาหาร” ชี้การบริโภคผลิตภัณฑ์ดัดแปรพันธุกรรมอาจเป็นภัยต่อสุขภาพ และกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เสนอจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมอินทรีย์ยั่งยืน
วันนี้ (30 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายติดตามเฝ้าระวังผลกระทบ GMOs ภาคใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรร่วมทั้งองค์กรเกษตรกร องค์กรชุมชน องค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ สภาทรัพยากรพันธุกรรมพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ สมาคมผู้บริโภคสงขลา โครงการธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในเบื้องต้น
จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา และเตรียมการให้มีการปลูกทดลองพืชดัดแปรพันธุกรรม (GMOs : Genetically Modified Organisms) ในแปลงเปิด รวมไปจนถึงการปลูกในเชิงพาณิชย์
เครือข่ายฯ ได้ติดตามการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า การปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์ มีสิ่งที่น่ากังวลหลายประเด็น ดังนี้
1.เทคโนโลยีในการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรมนำไปสู่การผูกขาดพันธุกรรม ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และอธิปไตยทางอาหารของเกษตรกร ผู้บริโภค และประเทศไทยโดยรวม
2.ผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มต่อต้านผลผลิต และผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชดัดแปรพันธุกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ
3.ประเทศคู่ค้าจับตาผลผลิตการเกษตรที่ส่งออกจากประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการตรวจสอบ และการจัดการเพิ่มขึ้นทั้งระบบ ขณะนี้ผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศไทยถูกตีกลับเป็นจำนวนมาก
4.การปนเปื้อนทางพันธุกรรมจากการที่เกิดจากการผสมเกสรของแมลง หรือลม ประเทศไทยไม่สามารถป้องกันการกระจายการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมร่วม (coexist) ไปกับการปลูกพืชทั่วไป และการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ในระยะยาว
5.การปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์ ทำให้มีการเพิ่มการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐ พบว่าระหว่างปี 1996 ถึง 2011 พบว่า มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นถึง 183 ล้านกิโลกรัม
6.การอ้างว่า GMOs ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้เป็นความจริง งานศึกษาเชิงเปรียบเทียบล่าสุดยังพบด้วยว่า การปลูกข้าวโพดสายพันธุ์ทั่วไปของประเทศในสหภาพยุโรป ได้ผลผลิตมากกว่าข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
7.ปัจจุบันพื้นที่ปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมยังมีสัดส่วนเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ของโลกเท่านั้น โดย 90 เปอร์เซ็นต์กระจุกตัวอยู่ในเพียง 5 ประเทศเท่านั้น
8.ประชาคมวิทยาศาสตร์ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมจะปลอดภัยต่อสุขภาพ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในระยะยาว เสนอแนะให้รัฐบาลบังคับติดฉลากสินค้าดัดแปรพันธุกรรม เพื่อติดตามความเสี่ยงระยะยาว
9.พืชดัดแปรพันธุกรรมที่ผลักดันให้มีการทดลองภาคสนามในประเทศไทย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรที่มีต่างชาติเป็นผู้ครอบครอง เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อที่จะได้ปลูกเชิงพาณิชย์เท่านั้น
10.ประเทศไทยสามารถเลือกแนวทางการพัฒนาการเกษตรที่ดีกว่า มีความเสี่ยงน้อยกว่า ผู้บริโภคได้รับการยอมรับมากกว่า โดยให้ความสำคัญต่อการผลิตที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เครือข่ายติดตามเฝ้าระวังผลกระทบ GMOs ภาคใต้ ซึ่งมีรายชื่อเบื้องต้นตามจดหมายนี้ ขอเสนอให้ทบทวนนโยบาย และการดำเนินการเกี่ยวกับพืชดัดแปรพันธุกรรม ดังต่อไปนี้
1.ขอให้ยับยั้งการอนุญาตให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด จนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายข้างต้น ให้มีการอนุญาตในการปลูกทดลองพืชดัดแปรพันธุกรรมในโรงเรือนทดลอง หรือให้ห้องปฏิบัติการเท่านั้น
2.ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ภายใต้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน และเกษตรกรรมอินทรีย์ โดยมีตัวแทนของผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเครือข่ายเกษตรกร องค์กรชุมชน องค์กรสาธารณประโยชน์ และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของประเทศสามารถเชื่อมโยงประสานกันโดยไม่ขัดแย้งกัน