xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้บริโภคขอนแก่นไม่เอา GMOs จี้รมว.พาณิชย์ทบทวนผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายผู้บริโภคในจังหวัดขอนแก่น และองค์กรแนวร่วม ไม่เห็นด้วยการปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ ยื่นหนังค้านผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เครือข่ายผู้บริโภคขอนแก่นและแนวร่วม ไม่เห็นด้วย รมว.พาณิชย์ อนุญาตให้ทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์และแปลงเปิด ยื่นหนังสือถึงพ่อเมืองให้ทบทวน จนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ

วันนี้(30 ต.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมนุมเรียกร้องขอให้ทบทวนการอนุญาตให้ทดลองปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในแปลงเปิด และการปลูกในเชิงพาณิชย์ โดยยื่นหนังสือต่อนายขจรศักดิ์ สรหาจักร หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่นเป็นตัวแทนรับหนังสือแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

ตามที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิดสินค้า คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและเตรียมการให้ทดลองปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรม (GMOs: Genetically Modified Organisms) ในแปลงเปิด รวมถึงปลูกในเชิงพาณิชย์นั้น องค์กรเกษตรกร องค์กรผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้ติดตามการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในประเทศต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์มีผลกระทบเชิงลบมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ

นายทองม้วน โลกาวี ตัวแทนเกษตรกร กล่าวว่า GMOs เป็นลิขสิทธิ์ที่มีเจ้าของแล้ว ถ้าหากนำมาทดลองปลูกในแปลงเปิด หากเกสรของพืชไปผสมพันธ์กับพืชพันธุ์พื้นบ้านที่เกษตรกรปลูกอยู่แล้ว ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมา ทางบริษัทก็อาจจะกล่าวหาว่าเกษตรกรไปละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ส่วนพืชที่เกษตรกรเคยปลูก เคยบริโภคโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ต่อไปอาจต้องซื้อพันธุ์ปลูกใครจะรับผิดชอบ

นายสมพงษ์ ประทุมทอง ประธานศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การนำ GMOs เข้ามาในประเทศไทย เพื่อเป็นข้ออ้างหาผลประโยชน์ทางการค้า เกษตรกรผู้ผลิตไม่สามารถจะต่อสู้ได้หากเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม เพราะพันธุ์พืชที่เกษตรกรปลูกไม่ได้จดลิขสิทธิ์ ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมต่อเกษตรกรรายย่อย ควรพิจารณาก่อนนำมากำหนดนโยบาย

ทั้งนี้ ในรายละเอียดของหนังสือที่ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เรียกร้องให้ 1.ให้ยับยั้งการอนุญาตทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด จนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ 2. ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ภายใต้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรกรรมอินทรีย์ โดยให้มีตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากเครือข่ายเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น องค์กรสาธารณประโยชน์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้ยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตรของประเทศสามารถเชื่อมโยงประสานกันโดยไม่ขัดแย้งกัน

ด้านนายปฎิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคนั้น องค์กรผู้บริโภคได้ผลักดันให้ติดฉลาก เพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภคอาหาร GMOs แก่ผู้บริโภค หากยังไม่มีการรับรองเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ควรให้ทดลองปลูกในแปลงเปิด และเพื่อสร้างทางเลือก การมีส่วนร่วม การให้ความเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค รัฐบาลควรเร่งออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ... โดยเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น