xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปล่อยผี “มะละกอจีเอ็มโอ-มลพิษเสียงสุวรรณภูมิ” จุดโหว่ศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางเสียงจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยื่นร้องต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2553
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา มีคำพิพากษาคดีทางปกครองที่สำคัญและยืดเยื้อมานาน 2 คดี นั่นคือ คดีที่ชาวบ้านรอบสนามบินสุวรรณภูมิ 23 คน ฟ้องขอให้สั่งระงับการขึ้นลงเครื่องบินช่วง 5 ทุ่ม-ตี 5 ให้ยกเลิก อีไอเอ.โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมให้ประกาศให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษและกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษ และ คดีที่กลุ่มกรีนพีซยื่นฟ้องกรมวิชาการเกษตรยุติการทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอ

โดยทั้ง 2 คดี ศาลปกครองให้อำนาจรัฐเป็นฝ่ายชนะ

คดีสนามบินสุวรรณภูมินั้น ศาลได้อ้างถึงผลกระทบมหาศาลต่อระบบการขนส่งและเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศ จึงไม่สั่งระงับการขึ้นลงของเครื่องบินในช่วงดึกแม้จะมีเสียงรบกวนการพักผ่อนของประชาชนโดยรอบสนามบินก็ตาม รวมทั้งยังเห็นว่าผลการตรวจวัดระดับเสียงตั้งแต่ ก.ค.2550 - มิ.ย. 2555 จำนวน 13 สถานีตรวจวัดนั้น พบค่ามลพิษทางเสียงเกินมาตรฐานเพียงเล็กน้อยสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ขณะที่กากของเสียที่ออกมาจากสนามบิน ทางบรฺิษัทท่าอากาศยานไทย ก็ว่าจ้างบริษัทที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายนำไปกำจัด จึงไม่จำเป็นต้องประกาศให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษและกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษ

ขณะเดียวกันชาวบ้านทั้ง 23 คนเข้ามาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวหลังจากที่กระทรวงคมนาคมมีประกาศกำหนดเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ 12 ธ.ค. 2516 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะเรียกร้องให้รัฐชดเชยผลกระทบทางเสียงให้ตามกฎหมายได้

ส่วนกรณีการอนุมัติ อีไอเอ.โดยมิชอบนั้น ศาลปกครองได้อ้างถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะนั้นให้เป็นดุลยพินิจของ รมว.คมนาคมที่จะพิจารณาว่าควรมีการจัดรับฟังความคิดเห็นโดยวิธีประชาพิจารณ์หรือไม่ เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่า รมว.คมนาคมใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ ศาลจึงไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปใช้ดุลยพินิจพิจารณาทบทวนแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบโดยตรงในการบริหารราชการแผ่นดินได้ และโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เริ่มดำเนินการไปก่อนที่ระเบียบฯ จะมีผลบังคับใช้ ดังนั้น มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เห็นชอบ อีไอเอ.โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงไม่ได้เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาที่ออกมาเช่นนี้ นับเป็นช่องโหว่ของข้อกฎหมายที่ทำให้ประชาชนอาจถูกละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะการที่ศาลปกครองไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงดุลพินิจของรัฐมนตรีในการพิจาณาว่าควรจะให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ก่อนทำโครงการต่างๆ หรือไม่ เท่ากับว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูลความคิดเห็นต่อการทำโครงการต่างๆ หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐมนตรีเพียงคนเดียว กรณีของสนามบินสุวรรณภูมิ จึงมีการผ่าน อีไอเอ.ออกมาโดยประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และเป็น อีไอเอ.ที่ปราศจากความศักดิ์สิทธิ์

ทั้งนี้ อีไอเอ.โครงการสนามบินสุวรรณภูมิที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อวันที่ 10 มี.ค.48 ระบุไว้ชัดเจนว่า การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ทอท.)จะต้องเจรจาจ่ายค่าชดเชยและรับซื้อที่ดินบ้านเรือนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสนามบินให้แล้วเสร็จก่อนที่สนามบินจะเปิด 6 เดือน แต่เวลานี้ มีการเปิดใช้สนามบินผ่านไป 8 ปีแล้ว ทอท.ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น

นอกจากนั้น อีไอเอ.ยังระบุไว้ชัดเจนว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะใช้รองรับจำนวนผู้โดยสารได้ไม่เกิน 45 ล้านคนต่อปี แต่ ทอท.ปล่อยให้มีเที่ยวบินและผู้โดยสารมากถึง 52 ล้านคนต่อปีมาตั้งแต่ปี 2554 นั่นเท่ากับว่า อีไอเอ.โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมีค่าไม่ต่างจากเศษกระดาษเท่านั้น

ส่วนอีกคดี ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นยกฟ้องคดีที่มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (กรีนพีซ เอสอีเอ) ฟ้องกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่อนุญาตให้ทดลองปลูกมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในภาคสนาม หรือในสภาพพื้นที่เปิด และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตรวจสอบมะละกอในแปลงเกษตรกรซ้ำทั้งหมด และกำหนดมาตรการในการควบคุมการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอไปสู่แปลงของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม
คดีดังกล่าวกรีนพีซได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อปี 2549 หลังจากมีการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอนอกพื้นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ส่วนแยกพืชสวน ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นเหตุให้พันธุ์มะละกอดังกล่าวออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมไปสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกร

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเห็นว่า กรมวิชาการเกษตรไม่ได้ดำเนินการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ อีกทั้งข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่ากรมวิชาการเกษตรได้ยุติการทดลองมะละกอจีเอ็มโอแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.2547 ที่กรีนพีซอุทธรณ์ให้สั่งกรมวิชาการเกษตรยุติการทดลองมะละกอจีเอ็มโอในแปลงทดลองแบบเปิดจึงฟังไม่ขึ้น

นอกจากนี้ยังเห็นว่าเมื่อปรากฏข่าวทางสื่อว่าพบการปนเปื้อนดังกล่าว อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 ก.ค.2547 ให้หยุดจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าพันธุ์มะละกอทุกชนิด และให้ตรวจสอบการจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดและต้นกล้าพันธุ์มะละกอที่แจกจ่ายไป รวมถึงการตรวจสอบทำลายการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอในพื้นที่ต่างๆ แล้ว จึงถือว่าอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการตรวจสอบและทำลายการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอแล้ว จึงให้ยกฟ้อง

คำพิพากษาที่ออกมาเช่นนี้ ทำให้นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความเป็นห่วงว่า กรมวิชาการเกษตรจะใช้คำพิพากษานี้ไปสร้างความชอบธรรมในการทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิดต่อไป เพราะศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการทดลองมะละกอจีเอ็มโอ

รวมทั้งในข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า แม้กรมวิชาการเกษตรได้ยุติการทดลองมะละกอจีเอ็มโอแล้ว แต่การปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอยังขยายเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่

ทั้งสองคดีนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่สะท้อนให้เห็นว่า จากจุดโหว่ของระเบียบกฎหมายเดิมที่มีอยู่ จนถึงวันนี้ ศาลปกครองที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น จึงยังไม่สามารถก่อให้เกิดความสมดุลในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการดำเนินงานของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้เท่าที่ควร
กำลังโหลดความคิดเห็น