ประกาศผล"รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 57" แก่ 2 งานวิจัยใช้ได้จริง จากคณะนักวิจัยประมง ผู้พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ผู้ริเริ่มการฟักไข่ปูม้าจากตับปิ้งและการเพาะเลี้ยงปลาเก๋า 3 สายพันธุ์ และ นักวิจัย มอ. ผู้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอรี่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม
รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในการประกาศผลรางวัล "นักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2557" ณ โรงแรม เดอะสุโกศล เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 57 โดยผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นในปีนี้ ได้แก่ ดร. วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมง และคณะกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ รศ.ดร. เจษฎา วรรณสินธุ์ ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ และอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมสนทนาพิเศษในหัวข้อ "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำพาไทยออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง" และร่วมชมผลงานที่ได้รับรางวัล
ดร. พิเชฐ กล่าวบนเวทีการสนทนาพิเศษว่า การวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศมีมากแต่ยังมีไม่เพียงพอ การที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางได้นั้นต้องเกิดจากการร่วมกันในหลายๆภาคส่วน โดยเฉพาะในส่วนที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถทำได้คือ การผลักดันงานวิจัยที่เป็นส่วนสำคัญที่สามารถทำให้ประเทศไปต่อได้ ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ด้วยกัน คือ ด้านการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน จากภาคเอกชนและผู้ประกอบการรายย่อยแบบ SMEs และด้านกำลังคนที่ในขณะนี้ประสบปัญหาอย่างมาก เนื่องจากคนเก่งคนมีความรู้จะรวมตัวกันอยู่ในมหาวิทยาลัยถึง 10,000 คนในขณะที่อยู่ในภาคเอกชนเพียง 700 คน การปรับสัดส่วนให้ผู้มีความรู้เข้าไปอยู่ในภาคเอกชนมากขึ้น จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้เทคโนโลยีของประเทศไทยพัฒนาได้เร็วยิ่งขึ้น
"เรามีคนเก่งอยู่เยอะ แต่อยู่กันกระจัดกระจายเกินไป ผมตั้งเป้าหมายให้ในอีก 6 เดือน 12 เดือนข้างหน้า คนเก่งจะมารวมตัวกันตามสาขาความรู้ต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์แบบเป็นรูปธรรมให้ประเทศ และร่วมกันวาดอนาคตว่าในอีก 10 ปีวงการวิทยาศาสตร์ของบ้านเราจะไปในทิศทางใด และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างค่านิยมให้เด็กรักวิทยาศาสตร์ เกิดค่านิยมในการเรียนวิทยาศาสตร์ ปลูกฝังตั้งแต่ตอนเด็กให้ได้มากที่สุด" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
สำหรับดร. วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมง และคณะกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภทกลุ่ม มีผลงานดีเด่นในการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านอาหารหลายโครงการ
ดร.วารินทร์ เผยว่า ส่วนตัวอยู่ในวงการการประมงมากว่า 30 ปี เห็นปัญหาต่างๆมากมาย โดยเฉพาะจำนวนสัตว์ทะเลที่ลดน้อยลง เพราะจำนวนคนที่มากขึ้นทำให้ปริมาณอาหารมีไม่พอต่อความต้องการ ประกอบกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ก็เป็นเทคโนโลยีเดิมๆ จึงมีความคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อทำให้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเดินหน้าได้ดียิ่งขึ้น เป็นที่มาของการริเริ่มโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ที่ทำร่วมกับคณะนักวิจัยกรมประมง
2 โครงการหลักที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด คือ โครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตกลุ่มปลากะรัง 3 ชนิด หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ "ปลาเก๋า" ได้แก่ ปลากะรังจุดฟ้า ปลาเก๋าเสือ และปลาหมอทะเล ซึ่งเป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงและมีจำนวนในธรรมชาติลดลง ให้มีอัตราการรอดตายสูง เพื่อใชัจำหน่ายให้เกษตรกร และลดปริมาณการนำเข้าลูกปลา ด้วยการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้สมบูรณ์ การพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยง การพัฒนาเทคนิคการอนุบาล และพัฒนาการตรวจวินิจฉัยโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโนดะ ด้วยเทคนิคพีซีอาร์ ดร. วารินทร์ อธิบาย
ดร. วารินทร์ เล่าต่อว่า งานวิจัยที่ทำควบคู่กันอีกชิ้น คือ เทคโนโลยีการผลิตลูกปูม้า ที่เป็นสัตว์ทะเลชายฝั่งเศรษฐกิจที่นิยมส่งออกในรูปของปูกระป๋อง โดยพัฒนาการฟักไข่ปูม้าจากตับปิ้งของแม่ปูไข่นอกกระดอง แทนที่แต่เดิมจะต้องถูกการทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย เธอจึงติดต่อไปยังโรงงานผลิตปูกระป๋อง เพื่อให้ทางโรงงานคัดแยกตับปิ้งที่มีไข่ไว้ แล้วนำมาอนุบาลต่อจนฟักเป็นลูกปู ซึ่งทำให้ได้พันธุ์ลูกปูจำนวนมากโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆยกเว้นค่าขนส่ง เพื่อนำมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ขายให้กับเกษตรกรในราคาถูก และปล่อยลงสู่ท้องทะเลปีละหลายล้านตัว
ในส่วนของ รศ.ดร. เจษฎา วรรณสินธุ์ ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ และอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภทบุคคล เป็นผู้มีผลงานดีเด่นจากการพัฒนาเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบเสลอรี่ เพื่อใช้แทนการหล่อโลหะแบบเดิมซึ่งมีข้อจำกัดหลายๆประการ
รศ.ดร. เจษฎา เผยว่า เขามีทุนเดิมจากการศึกษาในด้านการหล่อโลหะโดยตรงจากสหรัฐฯ ทำให้มีความรู้ทางด้านการหล่อโลหะ และทราบปัญหาทางความต้องการของอุตสาหกรรม ที่คนทั่วไปอาจไม่ทราบว่าการหล่อโลหะแต่ละครั้งมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูงและอายุการใช้งานของเครื่องจักรเป็นไปอย่างจำกัด เมื่อสำเร็จการศึกษาและกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงพยายามคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบใหม่ขึ้นโดยใช้เวลาถึง 11 ปีและสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบ "สเลอรี่" ได้เป็นคนแรกของโลก โดยมีการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย
รศ.ดร. เจษฎา อธิบายว่า การหล่อแบบสเลอรี่ (Slurry Metal Casting Technology) เป็นวิธีการหล่อโลหะแบบกึ่งของแข็ง คือน้ำโลหะที่ใช้จะไม่เหลวเหมือนน้ำแต่จะมีความหนืดมากขึ้นคล้ายวุ้น ซึ่งคุณสมบัติของความหนืดนี้จะทำให้ได้เนื้องานคุณภาพดีกว่าแบบเดิม เพราะเมื่อนำไปหล่อขึ้นรูปจะไม่เกิดฟองเพราะอากาศไม่สามารถเข้ามาแทรกได้หากโลหะมีความหนืด ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องฉีดชิ้นส่วนอะลูมิเนียม (Aluminum Die Casting) ได้ง่ายโดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องจักรใดๆ ซึ่งข้อดีของการหล่อโลหะแบบสเลอรี่ คือ น้ำโลหะที่ใช้ไม่จำเป็นต้องมีอุณหภมิที่สูงมากเท่าแบบเดิม ทำให้การใช้พลังงานในการหลอมโลหะลดลง และเมื่ออุณหภูมิโลหะลดลงเครื่องจักรและแม่พิมพ์ก็จะใช้งานได้นานมากยิ่งขี้น ทำให้สามารถผลิตโลหะขึ้นรูปได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำลงและมีคุณภาพที่สูงขึ้น
"สเลอรี่จะมีลักษณะคล้ายๆเบียร์วุ้น ที่มีความหนืดมากกว่าน้ำ ซึ่งการหล่อโลหะแบบปกติน้ำโลหะที่ใช้จะเหลวคล้ายน้ำทำให้เกิดปัญหาฟองอากาศ แต่หล่อแบบสเลอรี่จะไม่เกิดปัญหาแบบนั้น เพราะเมื่อมีความหนืดมากกว่า โอกาศที่จะเกิดฟองโอกาสขณะขึ้นรูปจึงมีน้อยกว่า การบังคับควบคุมทิศทางก็ทำได้ง่ายกว่า แถมอุณหภูมิที่ใช้ก็ไม่สูงเท่าแบบปกติ ส่งผลดีทั้งในแง่คุณภาพและต้นทุน" รศ.ดร. เจษฎา เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ในขณะนี้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านทางบริษัท กิสโค จำกัด และมีการนำไปผลิตเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ มอเตอร์ ฝาครอบโทรศัพท์มือถือโดยบริษัทจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่สร้างรายได้ให้ประเทศถึง 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี โดยในอนาคตจะมีการขยายตลาดออกไปสู่สหรัฐฯ และยุโรปต่อไป นอกจากนี้ยังนำมาใช้ทางด้านการแพทย์ โดยการพัฒนาและผลิตขาเทียมใต้เข่าที่มีน้ำหนักเบาให้ผู้พิการขาขาด เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นการเปิดศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการประกาศผล "นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2557" แก่ ดร. ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจ้าของผลงาน การพัฒนาเซนซิเบิล แท๊บ (Sensible Tab) หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของแขนในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่ช่วยในกายภาพบำบัดผู้ป่วยผ่านการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ที่มีหลายโปรแกรมเคลื่อนไหวรองรับ ที่สามารถประเมินผลการกายภาพของผู้ป่วย และ ดร. บรรพท ศิริเดชาดิลก นักวิจัยหน่วยเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ผู้ปาะสบความสำเร็จในการนำเทคนิคกิบสัน แอสเซมบลี (Gibson Assembly) มาใช้ในการตัดต่อพันธุกรรมไวรัสเด็งกี่ เพื่อพัฒนายา หรือวัคซีนเพื่อควบคุมโรคไข้เลือดออกที่ช่วยย่นระยะเวลาการเพิ่มจำนวนไวรัสจากวิธีเดิมที่ใช้จาก 24 สัปดาห์เหลือเพียง 2 สัปดาห์
โดยผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 2 ธ.ค.57 ในพิธีเปิดการประชุมวาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 40 ณ จ.ขอนแก่น