xs
xsm
sm
md
lg

สร้างไวรัสพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก-หุ่นยนต์กายภาพบำบัด ผลงาน"นักเทคโนฯรุ่นใหม่ 57"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร. บรรพท ศิริเดชาดิลก นักวิจัยไบโอเทค (ซ้าย) ดร. ปราการเกียรติ ยังคง นักวิจัย มจธ. (ขวา) ผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ 2557
2 งานวิจัยไฟแรงสูง "เปลี่ยนเทคนิคสร้างไวรัสเด็งกี่พัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก และหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขนผู้ป่วยอัมพาต " ดัน 2 หนุ่มนักวิจัยไบโอเทค-มจธ. คว้ารางวัล"นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่57"

ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ"รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ 2557" รางวัลอันทรงเกียรติแห่งปีที่มอบให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ไฟแรง ผู้คิดค้นผลงานเทคโนโลยีดีเด่นที่สามารถแข่งขันเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งในปีนี้ตกเป็นของ ดร. บรรพท ศิริเดชาดิลก นักวิจัยไบโอเทคจากการนำเทคนิคกิบสัน แอสเซมบลี (Gibson Assembly) มาใช้ในการตัดต่อพันธุกรรมไวรัสเด็งกี่ เพื่อพัฒนายาหรือวัคซีนเพื่อควบคุมโรคไข้เลือดออก และ ดร. ปราการเกียรติ ยังคง เจ้าของผลงานหุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของแขนในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยมี รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในการประกาศผลรางวัล "นักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2557" ณ โรงแรม เดอะสุโกศล เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 57

ดร. บรรพท ศิริเดชาดิลก นักวิจัยหน่วยเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค ผู้มีผลงานดีเด่นจากการพัฒนาวิธีการสร้างอาร์เอ็นเอไวรัสสายบวกที่ง่าย และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมได้ เจ้าของได้รับรางวัล"นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่" ประเภทบุคคล ประจำปี 2557

ดร. บรรพท กล่าวว่า เขาเป็นนักวิจัยทางด้านโรคไข้เลือดออก มีความเชี่ยวชาญในงานวิจัยที่เกี่ยวกับการศึกษาการจำลองตัวที่ซับซ้อนของไวรัสเด็งกี่ และงานวิจัยด้านไวรัสวิทยาโมเลกุล ซึ่งจำเป็นต้องทำการดัดแปลงพันธุกรรม (Recombinant DNA technology) เพื่อศึกษาชีววิทยาของไวรัส ที่ผ่านมาการตัดต่อพันธุกรรมของไวรัสมักใช้ดีเอ็นเอในรูปแบบ อินเฟกเชียสโคลนพลาสมิด (infectious-clone plasmid) ที่เป็นดีเอ็นเอในรูปแบบที่มีรหัสพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งสามารถแปลงให้เป็นสารพันธุกรรมของไวรัสที่สามารถสร้างอนุภาคที่แพร่เชื้อต่อไปได้ ซึ่งข้อจำกัดของกระบวนการตัดต่อพันธุกรรมรูปแบบนี้ทำได้ยาก มีกระบวนการซับซ้อน ใช้เวลามาก และมีโอกาสล้มเหลวสูง จึงเป็นที่มาของการมองหาเทคนิคใหม่เพื่อนำมาใช้ในการตัดต่อพันธุกรรม

"ตัวเด็งกี่ไวรัส เป็นอาร์เอ็นเอไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก ถือเป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกับซาส์ ไวรัสตับอักเสบและไข้มัวร์ เป็นไวรัสที่มักมีปัญหาในการตัดต่อพันธุกรรมโดยใช้แบคทีเรียแบบวิธีปกติ ผมจึงค้นคว้าหาวิธีใหม่ที่สามารถตัดต่อพันธุกรรมได้โดยตรงแบบไม่ต้องผ่านแบคทีเรีย ซึ่งเทคนิคนี้เรียกว่า เทคนิคกิบสันแอสแซมบลี" ดร.บรรพท อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ดร. บรรพท ระบุว่า วิธีกิบสัน แอสเซมบลี (Gibson Assembly) ถูกนำมาทดลองใช้กับการตัดต่อพันธุกรรมของไวรัสเด็งกี่ โดยนำมาประกอบกับชิ้นดีเอ็นเอของไวรัส เมื่อดีเอ็นเอถูกประกอบขึ้นและนำเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้าน ทำให้ดีเอ็นเอของไวรัสถูกแปลงเป็นไวรัลอาร์เอ็นเอ ที่เป็นสารพันธุกรรมของเด็งกี่ไวรัสที่สามารถเพิ่มจำนวนและสร้างไวรัสใหม่ขึ้นมาได้ทันที ทำให้ลดขั้นตอนยุ่งยากต่างๆเช่น การนำเอนไซม์ตัดจำเพาะต่อเข้ากับพลาสมิด ที่ต้องใช้ความจำเพาะแต่มีโอกาสพลาดค่อนข้างสูงออกไปได้ ซึ่งวิธีกิบสันนี้สามารถลดระยะเวลาในการสร้างไวรัสจากเดิมที่ 24 สัปดาห์เหลือเพียง 2 สัปดาห์ ทำให้ได้ไวรัสที่มีจำนวนมากเพียงพอ สำหรับการสร้างเพื่อทดสอบวัคซีนหรือยาเพื่อนำมาใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออก

"วิธีกิบสัน แอดเซมบลี เป็นวิธีที่มีใช้ในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ เป็นวิธีที่ใช้ทั่วไปสำหรับการตัดต่อพันธุกรรมแต่เป็นเรื่องใหม่สำหรับการนำมาใช้ทางไวรัส และในประเทศไทย สามารถช่วยย่นระยะเวลาและมีความจำเพาะสูง ทำให้งานพัฒนาวัคซีนทำได้รวดเร็ว ซึ่งตอนนี้วัคซีนที่เราทำขึ้นเดินหน้าไปมากแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรคและสิ่งที่ต้องทบทวนมากเช่นกัน ซึ่งตอนนี้มีการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริการวมถึงมีการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการไปบ้างแล้ว ผมเชื่อว่าอีกไม่ช้าไม่นานวัคซีนไข้เลือดออกฝีมือคนไทยก็จะสำเร็จ" ดร. บรรพท เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ทางด้าน ดร. ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประเภทบุคคล ประจำปี 2557 เจ้าของผลงานการพัฒนาเซนซิเบิล แท๊บ (Sensible Tab) หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของแขนในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่ช่วยในกายภาพบำบัดผู้ป่วยผ่านการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ที่มีหลายโปรแกรมเคลื่อนไหวรองรับ ที่สามารถประเมินผลการกายภาพของผู้ป่วย

ดร. ปราการเกียรติ กล่าวว่า เครื่องเซนซิเบิล แท๊บ เป็นหุ่นยนต์บนโต๊ะระนาบแบบ 3 มิติที่สามารถปรับเอียงได้ตามรูปแบบที่ต้องการ ใช้งานโดยการให้ผู้ป่วยนั่งบนเก้าอี้และวางมือไปบนแท่นหุ่นยนต์ สามารถปรับการเคลื่อนไหวได้ทั้งแบบขั้นต้นและแบบซับซ้อน ใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวแขนของผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว เนื่องจากความผิดปกติของระบบประสาทในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตแขนอ่อนแรง ที่มีความโดดเด่นแตกต่างจากการทำกายภาพบำบัดกับนักกายภาพบำบัดโดยตรง ที่ความสม่ำเสมอและหน้าจอแสดงผลที่สามารถประเมินระดับการกายภาพบำบัดได้ โดยมีที่มาจากแพทย์ท่านหนึ่งที่อยากให้วิศวกรช่วยประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อฝึกผู้ป่วยในหลายๆรูปแบบ

"ใช้นักกายภาพดีที่สุดอยู่แล้ว แต่ขึ้นชื่อว่าคนย่อมมีความไม่แน่นอน การนำหุ่นยนต์มาใช้ในการกายภาพจะทำให้การกายภาพแต่ละครั้งมีความสม่ำเสมอ และสามารถประเมินผลได้จากหน้าจอแสดงผลว่าผู้ป่วยมีการตอบสนองไปกับหุ่นยนต์เพียงใด นำไปสู่การวางแผนการทำกายภาพบำบัดในระยะยาว" ดร. ปราการเกียรติ เผย

ดร. ปราการเกียรติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ทำให้หุ่นยนต์ตัวนี้แตกต่างไปจากหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ คือ การช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฝึกคลำวัตถุเสมือนตามแนวทางการฟื้นฟูแบบคอกนิทีฟ เซนซอรี มอเตอร์ เทรนนิ่ง (Cognitive Sensory Motor Training) ซึ่งเป็นวิธีการฟื้นฟูแบบใหม่ที่มีผลการวิจัยยืนยันถึงประสิทธิภาพในการรักษาฟื้นฟู และลดความพิการของผู้ป่วยทางสมอง ซึ่งในขณะนี้มีการนำเครื่องไปใช้แล้วที่โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ และโรงพยาบาลรามาธิบดีในผู้ป่วยกว่า 1,000 คนซึ่งผู้ป่วย 5 ใน 6 คนมีอาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังใช้เครื่องกายภาพบำบัดเป็นเวลา 6 เดือน

"ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตเขาดูเหมือนเรา แต่ความจริงไม่ใช่ คนปกติอาจหลับตาแล้วติดกระดุมได้แต่คนที่ป่วยด้วยโรคนี้ทำไม่ได้ เพราะประสาทสัมผัสของเขาทำงานไม่ต่อเนื่องกัน จึงจำเป็นต้องใช้ตามองเพื่อช่วยในการทำกิจกรรม เครื่องเซนซิเบิล แท๊บไม่ใช่แค่เครื่องกายภาพแต่เป็นเครื่องที่ช่วยฟื้นฟูทั้งระบบจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เครื่องของเราโดดเด่นและสามารถช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยได้จริง" ดร. ปราการเกียรติ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ดร. ปราการเกียรติ กล่าวถึงโครงการในอนาคตอีกด้วยว่า นอกจากเครื่องฝึกกายภาพแขน ก็ยังมีเครื่องฝึกเดินด้วย ซึ่งในอนาคตผมจะทำต่อยอดไปเรื่อยๆ และจะพยายามลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้ราคาต่อเครื่องยังอยู่ในระดับที่สูงถึงประมาณ 3 ล้านบาทแต่ก็ถือว่าถูกกว่าการนำเข้าที่มีมูลค่าสูงถึง 10 ล้าน และอยากผลักดันให้ทุกโรงพยาบาลมีเครื่องมือนี้อยู่เพราะในสังคมปัจจุบันคนไทยเอง มีแนวโน้มการเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตมากขึ้น
โมเดลยุงลาย พาหะนำเชื้อไวรัสเด็งกี่
ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินชมผลงานอย่างให้ความสนใจ
ดร. บรรพท ศิริเดชาดิลก นักวิจัยหน่วยเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
เซนซิเบิล แท๊บ (Sensible Tab) หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของแขนในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต
ดร. ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และทีมงาน






*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น