xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายจีเอ็มโอ-ปิโตรเลียม “ท่านตู่”อย่าแพ้เกมทุนข้ามชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แสดงท่าทีเอาจริงเอาจังกับการฟาดฟันนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น จากคำพูดต่อสาธาณณะหลายครั้งที่ย้ำอยู่ตลอดว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งคือต้นเหตุของปัญหาวิกฤติในบ้านเมืองที่ทำให้ต้องตามแก้ไขอยู่ทุกวันนี้

พล.อ.ประยุทธ์ตั้งสมมุติฐานถูกต้องแล้ว แต่ไม่ถูกทั้งหมด นั่นเพราะต้นตอปัญหาปัญหาในบ้านเมืองไม่ได้มาจากนักการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่มาจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิเหนือตลาด มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลและข้าราชการประจำด้วย

และดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยังมองไม่เห็นอันตรายที่มาจากกลุ่มทุนเท่าใดนัก

ดังท่าทีที่แสดงออกต่อกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หรือการออกกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่มีเนื้อหาเป็นการส่งเสริมการปลูกพืชตัดตัดแต่งพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ จึงเรียกชื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ง่ายๆ ว่า กฎหมายจีเอ็มโอ

กรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมนั้น แม้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งชะลอออกไปจากช่วงต้นปีที่แล้ว และให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา พร้อมกับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อยก่อน

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ปล่อยให้กระทรวงพลังงานจัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 โดยไม่ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ถึงแม้จะมีการทำหนังสือเรียกร้องไปถึงนายกรัฐมนตรีหลายครั้งก็ตาม จนกระทั่งเตรียมการที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันอังคารที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา จนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.)ภาคประชาชนที่เกาะติดปัญหาพลังงานมาตลอดพร้อมคณะบุคคลที่มีชื่อเสียงต้องทำหนังสือคัดค้านอย่างเร่งด่วย

แม้ว่าจะไม่มีการนำร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้งสองฉบับที่เสนอโดยกระทรวงพลังงานเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.วันอังคารที่ผ่านมา แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ยอมรับว่า ได้นำความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 11 ประเด็น และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 15 ประเด็น รวมเป็น 26 ประเด็น เสนอต่อที่ประชุม ครม. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวว่า ในเมื่อกระทรวงพลังงานพูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว จึงอยากให้มีการทบทวนหรือปรับปรุงกฎหมายฉบับดังกล่าวให้ครบถ้วน เอาความเห็นกระทรวงพลังงานส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาทบทวนกฎหมายต่อไป โดยให้แนวคิดว่าสิ่งใดใส่ลงไปในกฎหมายให้ใส่ลงไป เพื่อให้เกิดความสบายใจกับทุกฝ่าย และส่งให้ สนช.พิจารณา 3 วาระตามปกติ

นั่นหมายความว่า ร่างกฎหมายปิดตรเลียมของกระทรวงพลังงานทั้งสองฉบับจะเป็นร่างหลักที่จะถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.อย่างแน่นอน ส่วนร่างของ คปพ.ที่เสนอให้มีการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมานั้น ก็เป็นแน่ชัดว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ให้ความสนใจแล้ว

หลังจากนี้ ก็มาลุ้นกันเพียงว่า ข้อเสนอแนะทั้ง 26 ประเด็น จะถูกนำไปใช้ปรับแก้ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้งสองฉบับของกระทรวงพลังงานมากน้อยเพียงใด และเป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องการนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้แทนระบบสัมปทานแบบเดิม

กรณีกฎหมายปิโตรเลียมจึงเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนยังไม่อาจที่จะวางใจได้

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพนั้น ครม.ได้มีมติรับร่าง เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งหลังจากผ่าน ครม.ก็มีการเคลื่อนไหวจากเกษตรกร ภาคประชาชนและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ทันที

วันที่ 1 ธันวาคม สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “วิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ...” ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อภาคธุรกิจ เครือข่ายภาคเกษตร และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ จากทั่วประเทศ เช่น สมาคมแป้งมันสำปะหลัง สมาคมอาหารแปรรูป สมาคมผู้ส่งออกข้าว กลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ โดยมีจุดยืนตรงกันคือคัดค้านการผลักดันร่างกฎหมายจีเอ็มโอ เพราะเห็นว่าเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้ ร่างขึ้นโดยปราศจากข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มโอ ไม่ได้คุ้มครองปกป้องเกษตรกรรายย่อย และขัดต่อแนวทางที่มีความพยายามผลักดันเกษตรอินทรีย์

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวถึงช่องโหว่ของร่างกฎหมายจีเอ็มโอว่า มีหลายประเด็น เช่น การกำหนดคณะกรรมการความปลอดภัย 22 คน เพื่อกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นตัวแทนภาครัฐ และตัวแทนบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ โดยไม่เปิดโอกาสให้มีตัวแทนภาคการเกษตรเข้าไปมีบทบาท ที่สำคัญคือไม่มีแนวทางปกป้องคุ้มครอง การปลดปล่อยพืช สัตว์ จีเอ็มโอ สู่สิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน โดยไม่ระบุความผิด ความรับผิดชอบ หากเกิดผลกระทบขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ต่อระบบชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และระบบเกษตรกรรมของไทยในอนาคต

จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการส่งร่างกฎหมายจีเอ็มโอเข้าสู่ สนช. โดยขอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ พร้อมนำความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ และเกษตรกรผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบการการปรับปรุงด้วย โดยประเด็นที่ควรมีการปรับปรุงเร่งด่วน คือ กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ แทนการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องสิทธิของเกษตรกร ปกป้องผู้ประกอบการ รวมถึงปกป้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ การปนเปื้อนทางพันธุกรรม เพราะกฎหมายฉบับนี้เปิดช่องโหว่ไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะมีคำว่าเหตุสุดวิสัย

วันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชน 40 จังหวัด นำโดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ และผู้ประกอบการเกษตรและอาหาร 115 องค์กร ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านและขอให้รัฐบาลชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอเข้าสู่ สนช. ขณะที่ใน 40 จังหวัด ได้มีตัวแทนเข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ศาลากลางจังหวัดในเวลาเดียวกัน

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงมาพบตัวแทนภาคประชาชนและภาคเอกชนที่มายื่นหนังสือ และได้กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอในเวลาต่อมาว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีหน้าที่ควบคุม ต้องยอมรับว่าพืชตัดต่อพันธุกรรมมีขายในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุม หากมีผลกระทบเสียหายขึ้นมากับพืชหรือสัตว์ก็จะไม่มีผู้รับผิดชอบ ที่ประชุม ครม.จึงเห็นชอบในหลักการของ พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อให้มีความปลอดภัย และมีมาตรการตรวจสอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็มีหลายประเด็นที่ ครม.ตั้งข้อสังเกตและได้มอบหมายให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา รวบรวมความคิดเห็นเพื่อนำเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

พร้อมกับบอกว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้เข้า ครม.ได้แจ้งมาว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังคงยึดหลักการการห้ามทำการผลิตพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย ซึ่งตรงกับข้อกังวลของภาคประชาชนส่วนหนึ่งที่มายื่นเรื่อง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังไม่มีคำชี้แจงต่อข้อห่วงใย ตามหนังสือที่ได้ยื่นต่อนายกฯ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เปิดให้มีการทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอได้อย่างเสรียกเว้นที่ประกาศห้ามเท่านั้น ,เปิดช่องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายในกรณีอยู่ระหว่างการทดลองโดยอ้าง “เหตุสุดวิสัย” ,ไม่ระบุความรับผิดชอบในกรณีที่จีเอ็มโอซึ่งปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมแล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรอินทรีย์ เกษตรทั่วไป ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

และก็ต้องไปลุ้นต่อกันเอาเองว่า ในการปรับแก้ถ้อยคำของกฤษฎีกา รวมทั้งในขั้นการพิจารณาของ สนช.นั้น จะมีการนำข้อเรียกร้องของภาคประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบเข้าไปปรับปรุงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอมากน้อยเพียงใด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน และการเสนอ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น มีเงาทะมึนของทุนข้ามชาติอยู่เบื้องหลัง

พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้กุมชะตาการเปลี่ยนแปลงประเทศในขณะนี้ ไม่ควรแสดงอาการหงุดหงิด หรือไม่เข้าใจ ต่อการเรียกร้องของภาคประชาชนทั้งกรณี พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และกฎหมายจีเอ็มโอ ดังที่ได้แสดงออกเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 9 ธันวาคมที่ทำเนียบรัฐบาล ตรงกันข้าม ควรจะต้องรับฟังให้มาก หากต้องการให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น