ปัตตานี - 15 องค์กรจังหวัดชายแดนใต้ เตรียมลงสำรวจความคิดเห็นประชาชนปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา 4 อำเภอ ต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ เพื่อหาทิศทางการแก้ไขตามสภาพความเป็นจริง
วันนี้ (18.ม.ค.) ผู้แทนของสถาบันทางวิชาการ และองค์กรประชาสังคม 15 องค์กร ได้ร่วมกันแถลงข่าวการดำเนินงานโครงการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ณ ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี โดยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน องค์กรประชาสังคม นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่จำนวนมาก
การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะสะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสงขลาในอำเภอจะนะ, เทพา, นาทวี และสะบ้าย้อย อย่างเป็นระบบ ตามหลักวิชาการ และมีความต่อเนื่องว่ามีความคิดเห็น และความรู้สึกอย่างไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้รัฐบาลกลุ่มขบวนการต่อสู้ปัตตานี หรือกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสาธารณชนได้รับรู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดคล้องต่อสภาพความเป็นจริงของปัญหา และความต้องการของประชาชนในพื้นที่
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งนี้แตกต่างจากการสำรวจความคิดเห็นที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเรื่อง “กระบวนการสันติภาพ/สันติสุข” โดยถือเป็นครั้งแรกที่เป็นกระบวนการทำงานร่วมกันขององค์กรที่หลากหลายจำนวนมากขนาดนี้ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบสอบถาม การสุ่มพื้นที่ตัวอย่าง การเก็บข้อมูลภาคสนาม รวมทั้งการวิเคราะห์ผลการสำรวจ และการนำเสนอผลต่อสาธารณะที่จะดำเนินการในระยะต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากทุกฝ่าย และสามารถนำผลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในแต่ละห้วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ หรือ CSCD ระบุว่า การทำงานนี้มีการเตรียมการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 และจะมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามระหว่างวันที่ 20 ม.ค.-20 ก.พ.นี้ โดยแบ่งประชาชนกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 ประเภท คือ ประชาชนทั่วไปในจังหวัดปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสงขลา 4 อำเภอ จำนวน 1,560 คน และผู้นำทางความคิดจากทุกภาคส่วน จำนวน 150 คน คาดว่าจะแถลงผลการสำรวจได้ในเดือนมีนาคม และหลังจากนั้น ก็จะมีการสำรวจอีกเป็นระยะอย่างต่อเนื่องทุกๆ 6 เดือน
ประสบการณ์จากพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลกแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เสียงของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดว่ากระบวนการสันติภาพจะดำเนินไปในทิศทางใด มีความต่อเนื่องหรือไม่ และข้อตกลงที่ได้จะมีความยั่งยืนหรือไม่อย่างไร ณ เวลานี้ จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะส่งเสียงถึงผู้เกี่ยวข้องเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสู่การให้ประชาชนเป็นเจ้าของการสร้างสันติภาพ/สันติสุขอย่างแท้จริง
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า อนึ่งการสำรวจครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี, สถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยฟาฏอนี, สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, สถานวิจัยความ ขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, คณะวิทยาการจัดการ ม.อ.หาดใหญ่, สถาบันสันติศึกษา มอ.หาดใหญ่, สถาบันวิจัย และพัฒนาสุขภาพภาคใต้ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิเอเชีย, ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และสภาประชาสังคมชายแดนใต้