xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจพบชาวบ้านในชายแดนใต้ร้อยละ 80 เชื่อมั่น “แนวทางการพูดคุยเพื่อสันติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - ม.อ.ปัตตานี เผยผลสำรวจความคิดเห็น ปชช.ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอสงขลา ต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพของรัฐ พบร้อยละ 81.2 ให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินการ

วันนี้ (17 ส.ค.) ที่สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) จัดแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ภายใต้ “โครงการการสำรวจแนวโน้มทัศนคติของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ ความยุติธรรม ปัญหาสังคม และการสร้างสันติภาพ” ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี โดยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ และนักข่าวในพื้นที่

งานสำรวจดังกล่าวได้สุ่มตัวอย่างประชากรจำนวน 2,104 ตัวอย่าง กระจายอยู่ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศหญิงร้อยละ 45.1 เป็นเพศชายร้อยละ 54.9 มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 42.8 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นมุสลิมร้อยละ 75.1 เป็นพุทธศาสนิกร้อยละ 24.9 การสำรวจครั้งนี้ดำเนินการภายใต้ทุนในการดำเนินโครงการวิจัยของสานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยลงเก็บข้อมูลในห้วงวันที่ 13 มิถุนายน-10 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ในเดือนรอมฎอนตามปฏิทินอิสลาม

 
นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัย กล่าวว่า งานสำรวจครั้งนี้เป็นงานที่ทาง ม.อ.ได้จัดทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทย กับกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อ 2 ปีก่อน โดยเป็นการประเมินทัศนะของประชาชนที่มีต่อกระบวนการสันติภาพในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมั่นต่อกระบวนการ และความคิดเห็นต่อข้อเสนอทางการเมืองต่างๆ

ซึ่งในครั้งนี้ก็เช่นกัน ผลของการสำรวจน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาล และกลุ่มเห็นต่างที่เรียกตัวเองว่า มาร่าปาตานี (Mara Patani) ตลอดจนรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพูดคุยเพื่อสันติสุขรอบใหม่ที่มีความคืบหน้าไปอย่างมาก และการประชุมในครั้งต่อไปที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ จะกำหนดให้มีอีกครั้งในวันที่ 25 สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ ผลการสำรวจในประเด็นข้อเสนอแนะต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุขนั้น ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนต่อประเด็นต่างๆ การเสนอให้ร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาสังคมที่ประชาชนในพื้นที่เป็นกังวล และมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหายาเสพติดร่วมกัน ในขณะเดียวกัน ข้อเสนอที่ให้มีการลดความรุนแรงจากทุกฝ่าย และหลีกเลี่ยงการก่อเหตุรุนแรง หรือปฏิบัติการต่อเป้าหมายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ก็เป็นข้อเสนอที่ได้รับการเลือกตอบจำนวนมาก

นอกจากนี้ ประชาชนยังสนับสนุนให้มีการผลักดันกลไกยุติธรรมทางเลือก เช่น การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่มีความสงสัยเคลือบแคลง การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เป็นต้น การยอมรับให้มีการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างศาสนา และวัฒนธรรม การเรียกร้องให้มีการสร้างความไว้วางใจกัน ก่อนที่จะจัดการต่อปัญหา ตลอดจนข้อเสนอแนะที่ผลักดันให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวกลายเป็นวาระแห่งชาติอีกด้วย

 
การสำรวจในครั้งนี้ยังให้ผู้ตอบแบบสอบถามพิจารณาข้อเสนอแนะต่อฝ่ายต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล ข้อเสนอต่อกลุ่มผู้เห็นต่าง และข้อเสนอต่อภาคประชาสังคม โดยข้อเสนอต่อรัฐบาลนั้น ประชาชนเน้นหนักไปที่ความจริงใจ และจริงจังในการแก้ปัญหา การสร้างความต่อเนื่องในกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่าง การเปิดใจรับฟังข้อเสนอต่างๆ และหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน

ในขณะที่ข้อเสนอต่อกลุ่มที่เห็นต่างนั้น มีทั้งการเสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการต่อสู้จากการทหาร ไปเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี การยอมรับแนวทางการแก้ปัญหาด้วยวิธีการพูดคุยเจรจา ตลอดจนการยุติความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้มีการแก้ไขปัญหาด้วยความจริงใจ และจริงจัง เช่นเดียวกับการเสนอต่อรัฐบาลไทยอีกด้วย

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อมั่นไว้วางใจ ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนถึงร้อยละ 76.9 ที่ให้คะแนนผ่านเกณฑ์ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกระบวนการสันติภาพ ที่รัฐบาลกำลังดาเนินการอยู่กับกลุ่มเห็นต่าง ซึ่งมีคะแนนที่สูงกว่าการสำรวจในช่วงระหว่างที่มีการพูดคุยสันติภาพในปี 2556 ทั้งๆ ที่มีการดำเนินการที่ไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะมากนัก นอกจากนี้ ยังมีประชาชนถึงร้อยละ 80.2 ที่เชื่อมั่นว่า กระบวนการในครั้งนี้จะมีความต่อเนื่อง และสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ผลการศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของฝ่ายต่างๆ ในการพูดคุยเพื่อสันติสุขนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากพบว่า ประชาชนในพื้นที่ถึงร้อยละ 81.2 มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของฝ่ายรัฐ ในขณะที่มีถึงร้อยละ 74.8 ที่เชื่อมั่นต่อกลุ่มบุคคลที่มีความเห็น และอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 80.6 มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของประเทศมาเลเซียในบทบาทผู้อำนวยความสะดวก


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น