xs
xsm
sm
md
lg

ก.ยุติธรรมร่วมหารือเพิ่มประสิทธิดำเนินการคดีความมั่นคง หลังพบศาลยกฟ้องจำนวนมาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - กระทรวงยุติธรรม ร่วมหารือเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอสงขลา หลังพบศาลยกฟ้องเป็นจำนวนหลายคดี

วันนี้ (15 ส.ค.) ที่โรงแรมซีเอส จ.ปัตตานี ผศ.กรกฏ ทองขะโชค หัวหน้าคณะโครงการวิจัยแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมคณะได้ร่วมประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันกับเจ้าพนักงานทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของสงขลา เพื่อทราบถึงปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความสัมพันธ์ขององค์กร รวมถึงการซักถาม การสอบสวน และการรวบรวมพยานหลักฐานตั้งแต่เริ่มคดีในการทำสำนวนสั่งฟ้อง

 
หลังจากที่ผ่านมา คดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการยกฟ้องเป็นจำนวนมาก โดยสถิติจากศาลชั้นต้นพบว่า คดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้น ยกฟ้องร้อยละ 83.63 คดี ถึงที่สุดในศาลชั้นอุทธรณ์ ยกฟ้องร้อยละ 57.89 และคดีถึงที่สุดในศาลฎีกา ยกฟ้องร้อยละ 21.42 (ที่มาของผลวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงายอัยการภาค 9 กับมูลนิธิเอเชีย ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.55-31 ก.ค.56) ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เพื่อหาแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐานคดีความมั่นคงให้รัดกุมทุกด้าน เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษให้ได้ สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป

 
ผศ.กรกฏ ทองขะโชค หัวหน้าคณะโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ในขณะนี้ทางรัฐบาลเองก็ได้เล็งเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึง 4 อำเภอของสงขลา พบว่า เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ท้ายที่สุดก็มีภาครัฐหลายหน่วยงานที่เข้าไปเกี่ยวข้องต่อผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งศาลก็มีการลงโทษ และยกฟ้อง แต่จากสถิติทางรัฐบาลมองว่า คดีความมั่นคงที่ศาลยกฟ้องมีค่อนข้างเยอะ จึงให้ทาง ม.ทักษิณ เข้ามาศึกษาว่าจะมีแนวทางอย่างไรบ้างที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีความมั่นคง มาดูปัญหาอุปสรรค

 
โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนที่ดูแลเรื่องการดำเนินคดี ที่ผ่านมา มีการสับเปลี่ยนบ่อย ทำให้เจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่อาจจะไม่เข้าใจบริบทในพื้นที่ ซึ่งก็ถือเป็นอุปสรรคส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้มีการยกฟ้องก็คือ การรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งมีอยู่ 2 อย่างก็คือ พยานบุคคล และพยานวัตถุ โดยเฉพาะพยานบุคคล เพราะประชาชนซึ่งส่วนใหญ่ก็รู้ว่าเหตุการณ์เป็นเช่นไร แต่เมื่อคดีเกิดขึ้นก็จะไม่ให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะไม่เชื่อมั่นในการดูแลรักษาความปลอดภัย เพราะท้ายสุดพยานบุคคลเหล่านั้นก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นอุปสรรคอย่างมาก

แต่ในส่วนของพยานวัตถุ ก็ได้มีการพัฒนาในการใช้เครื่องมือพิสูจน์หลักฐานขึ้นจากเดิมมาก ซึ่งแต่ก่อนไม่สามารถระบุที่มาของพยานวัตถุได้จนเป็นที่มาของการยกฟ้อง จึงต้องมาร่วมกันแก้ปัญหา และหาแนวทางในการจัดการในที่เกิดเหตุเพื่อให้ได้ซึ่งพยานหลักฐานที่แท้จริง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น