xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแจงโครงการพาคนกลับบ้านช่วงเดือนรอมฎอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ยะลา - โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงกรณีโครงการพาคนกลับบ้านช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อกลับมาประกอบศาสนกิจทางศาสนา

วันนี้ (28 พ.ค.) พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า สำหรับโครงการพาคนกลับบ้านเป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะหนุนเสริมขบวนการพูดคุยกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูล และหนุนเสริมต่อการพูดคุย

โดยเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2558 ที่ผ่านมา ทางท่าน พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มีโอกาสพบกับอดีตแนวร่วมกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งปัจจุบันไม่มีพันธะทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น ถูกดำเนินคดีมาเรียบร้อย วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมนั้นต้องการประชาสัมพันธ์ถึงแนวคิดที่จะให้ผู้ที่มีความเห็นต่างกับรัฐที่ยังคงหลบหนีอยู่มี 3 กลุ่ม ด้วยกันคือ 1.กลุ่มที่มีหมาย ป.วิ อาญา ส่วนที่ 2.คือผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนที่ 3.ผู้ที่ไม่มีหมาย แต่คิดว่าตัวเองมีหมายแล้วหลบหนีไปต่างประเทศ

“ในช่วงเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนอันประเสริฐของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกฝ่ายภายใต้การแนะนำขององค์กรทางศาสนา ที่ต้องการให้พี่น้องทุกคนมีโอกาสกลับบ้าน เพื่อกลับมาประกอบศาสนกิจทางศาสนาในช่วงเดือนรอมฎอน ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ยังคงหลบหนีอยู่ได้มีโอกาสกลับมาประกอบศาสนกิจเนื่องในเดือนรอมฎอน สำหรับช่องทางในการกลับมาตอนนี้มีโครงการพาคนกลับบ้าน

ซึ่งพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามารายงานตัวแสดงตน ทางเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตามขั้นตอน เช่น กรณีผู้ที่มีหมาย ป.วิ อาญา ก็จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะอนุญาตให้มีการประกันตัว เป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวก ส่วนผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2555 ขณะนี้สามารถปลอดหมาย พ.ร.ก.แล้วกว่า 700 ราย เมื่อปลดหมายแล้วที่ผ่านมาเกิดปัญหาออกไปต่างประเทศไม่ได้ ทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้ แต่ขณะนี้มีการทำงานกันอย่างเป็นระบบ มีการแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทางตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร เพื่อให้ลบบัญชีออก ส่วนผู้ที่ไม่มีหมายก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว

โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยังกล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการตามโครงการพาคนกลับบ้านจะมีขั้นตอนอยู่ เมื่อเข้ามาแล้วในขั้นตอนแรกทางเจ้าหน้าที่จะอำนวยการตามกรรมมาวิธีตามกฎหมาย จะมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติตามโครงการประชาร่วมใจ ทำความดีเพื่อแผ่นดิน ขั้นที่ 3 จะเข้าสู่กระบวนการอบรมวิชาชีพถ้าเขามีความต้องการ ขณะนี้ 225 คน ที่ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังฝึกอบรมอยู่ภายใต้การสนับสนุนของ ศอ.บต.ฝึก 6 เดือน ช่วงที่ผ่านมา มีการแข่งขันทักษะไปแล้ว ซึ่งบุคคลเหล่านี้เคยมีความคิดเห็นต่าง หลังจากฝึกอาชีพแล้วถ้าไม่มีความมั่นใจว่าจะสามารถกลับไปอยู่ในชุมชนได้ ยังมีโครงการบ้านสันติสุข ตอนนี้กำลังทำโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นโครงการของ ศอ.บต.เช่นเดียวกัน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น