ยะลา - โฆษก กอ.รมน.เผยสถิติเหตุไม่สงบลดลงจากปัจจัยการเดินหน้าพุดคุยสันติสุขกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ประกอบกับกระแสประชาชนในพื้นที่ต้องการความสงบสุขกลับคืน
วันนี้ (4 ก.ย.) ที่ห้องแถลงข่าวศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วยผู้แทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหน้า และกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
ได้ร่วมกันชี้แจงสรุปผลการปฏิบัติที่สำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในห้วงตั้งแต่ 27 ส.ค.-2 ก.ย.2558 สรุปภาพรวมสถานการณ์ และผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ในรอบสัปดาห์ไม่มีเหตุการณ์ความมั่นคงเกิดขึ้นในพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ฝ่ายแนวร่วมยังคงขับเคลื่อนงานการเมืองผ่านองค์กรเครือข่ายในพื้นที่ ชี้นำทางความคิด บิดเบือนข้อเท็จจริงในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอแนวทางการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ
รวมทั้งการออกมาแสดงทัศนคติ และตั้งข้อสังเกตต่อกลุ่มมารา ปาตานี ที่ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลในการพูดคุยเพื่อสันติสุข อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐจะยังคงเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินการตามโครงการบ้านสันติสุข ที่กำลังดำเนินการอยู่ ขณะนี้มีผู้ออกมาแสดงตนแล้วกว่า 1,600 คน ตามโครงการพาคนกลับบ้าน สามารถดำเนินการปลดผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วกว่า 700 คน ในส่วนที่เหลือก็จะรีบดำเนินการ
โครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่จะส่งเสริมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพื่อสันติสุขที่คณะกรรมการพูดคุยอย่างเป็นทางการ ภายใต้การนำของ พล.อ.อัษรา เกิดผล ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบันเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมในพื้นที่
“ส่วนกรณีที่เหตุความรุนแรงลดลงน่าจะมาสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ถ้าดูสถิติเหตุการณ์จากเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา พบว่า ในช่วง 20 วันแรกของเดือนรอมฎอน มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเพียง 11เหตุการณ์เท่านั้น หลังจากนั้นพอเข้าสู่ 10 วันสุดท้าย สถิติพุ่งขึ้นถึง 22 ครั้ง รวมแล้วมีเหตุเพียง 33 เหตุการณ์
ซึ่งถ้าเทียบกับ 11 ปีที่ผ่านมาถือว่าน้อยที่สุด ประกอบกับกระแสความต้องการของพี่น้องประชาชนที่ต้องการให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ด้วยการพุดคุยก็มีส่วน ในเมื่อพี่น้องประชาชนไม่ให้การสนับสนุน กลุ่มขบวนการก็จะก่อเหตุได้ยาก
ปัจจัยต่อมาก็คือ มาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยที่ใช้ยุทศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วม ที่ประชาชนมีส่วนในการออกมาดูแลพื้นที่เฉลี่ยวันละ 26,000 คน ก็ทำให้สามารถที่จะจำกัดเสรีปฏิบัติของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้” พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ กล่าว