xs
xsm
sm
md
lg

“ซีเอสซีดีโพล” ม.อ.ปัตตานีชี้คนชายแดนใต้ยังหนุน “กระบวนการสันติภาพ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ซีเอสซีดีโพล” ชี้ชัดคนชายแดนใต้ยังยอมรับ 3 ฝ่ายในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แม้จะไม่คืบหน้า ด้านความเชื่อมั่นต่อ “รัฐบาลประยุทธ์” ก็สูงโด่ง ขณะที่ผู้นำศาสนายังเป็นกลุ่มที่ครองความไว้วางใจ แนะใช้กลไกยุติธรรมทางเลือก และอยากเห็นทั้งรัฐ และขบวนการแก้ปัญหายาเสพติดร่วมกัน
 
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี หรือ “ซีเอสซีดีโพล” ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในงานวิจัยชื่อ “การสำรวจแนวโน้มทัศนคติของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ, ความยุติธรรม, ปัญหาสังคม และการสร้างสันติภาพ” โดยทำการสุ่มตัวอย่างประชากร จำนวน 2,104 ตัวอย่าง จากพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศหญิงร้อยละ 45.1 เป็นเพศชายร้อยละ 54.9 ซึ่งอายุเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ที่ 42.8 ปีโดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 75.1 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 24.9 การสำรวจครั้งนี้ดำเนินการภายใต้ทุนในการดำเนินโครงการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยลงเก็บข้อมูลในห้วงวันที่ 13 มิถุนายน-10 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ในเดือนรอมฎอนตามปฏิทินอิสลาม
 
*** ภาพรวมความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพ
 
การสอบถามความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพได้มีการกำหนดเกณฑ์ หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพ ผ่านตัวเลือกในการให้คะแนน โดยประเมินจาก 0-10 ซึ่งหากผู้ประเมินให้คะแนนตั้งแต่ 5-10 ถือว่าผ่านเกณฑ์ หรือยอมรับ และให้ความเชื่อมั่น หรือเกณฑ์ผ่านมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าให้คะแนนต่ำกว่านี้ให้ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ หรือไม่ให้การยอมรับเชื่อมั่นกระบวนการสันติภาพ

ผลการศึกษาเบื้องต้นในประเด็นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข นั้น พบว่า ประชาชนร้อยละ 76.9 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์ หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ต่อกลุ่มที่มีความเห็น และอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ (เช่น กลุ่มบีอาร์เอ็น) โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 5.50 และประชาชนร้อยละ 80.2 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์ หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุขที่กำลังดำเนินการอยู่จะมีความต่อเนื่อง และสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 5.71
 
ข้อค้นพบที่น่าสนใจก็คือ เมื่อนำผลการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ไปเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของ CSCD ในประเด็นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อ 2 ปีก่อน ในช่วงเดือนมีนาคม 2556 และเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในรัฐบาลชุดที่แล้วพบว่า การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ต่อกลุ่มผู้มีความเห็น และอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐมีแนวโน้มสูงขึ้น กล่าวคือ ขณะที่ในครั้งนี้มีประชาชนร้อยละ 76.9 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งสูงกว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2556 ที่มีประชาชนร้อยละ 67.1 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ต่อกลุ่มเห็นต่างในขณะนั้น และยังสูงกว่าผลการสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายน 2556 ก็พบว่า มีประชาชนร้อยละ 76.6 ที่ให้คะแนนผ่านเกณฑ์
 
แผนภาพที่ 1 – ผลการให้คะแนนต่อการยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
 
การสำรวจความคิดเห็นในเดือนมีนาคม 2556 นั้นดำเนินการหลังจากที่มีการลงนามในเอกสารฉันทมติว่ากระบวนการสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์ ระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ในขณะที่การสำรวจในเดือนมิถุนายน 2556 นั้น ดำเนินการขึ้นภายหลังจากที่มีการพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการระหว่างสองฝ่ายภายใต้การอำนวยความสะดวกโดยทางการมาเลเซียมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง กระบวนการพูดคุยเมื่อ 2 ปีที่แล้วนั้นเป็นที่สนใจติดตามในสายตาของสาธารณชน เนื่องจากมีการสื่อสารจากกลุ่ม และฝ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง น่าสนใจว่าแม้ “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข” ในรัฐบาลปัจจุบันจะดำเนินไปอย่างค่อนข้างปิดลับ และระมัดระวังต่อการสื่อสารต่อสาธารณะ แต่ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพของประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ได้ลดต่ำลง กลับมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยซ้ำไป
 
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 81.2 มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของฝ่ายรัฐในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 6.05 ในขณะที่มีประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 74.8 ให้ความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของกลุ่มบุคคลที่มีความเห็น และอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 5.43 นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 80.6 มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของประเทศมาเลเซีย ในบทบาทผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 5.70
 
น่าสนใจว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ต่อตัวแสดงสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อ “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ที่มีอยู่ค่อนข้างสูงนั้นอาจนมีส่วนสอดคล้องต่อความเชื่อมั่น และความพึงพอใจต่อนโยบายและการทำงานของรัฐบาลปัจจุบันที่พบว่า มีประชาชนถึงร้อยละ 81.4 มีความพึงพอใจต่อนโยบายและการทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินความพึงพอใจคือ 6.14
 
แผนภาพที่ 2 – ผลการให้คะแนนความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข ของ รัฐบาลไทย  กลุ่มบุคคลที่มีความเห็น และอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ และประเทศมาเลเซีย
 
*** ความไว้วางใจต่อกลุ่มคน หรือองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ 
 
ประเด็นต่อมาเป็นการประเมินความเชื่อมั่นไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อกลุ่มบุคคล และกลุ่มองค์กรทั้งเอกชน และรัฐ โดยการสำรวจความเชื่อมั่นไว้วางใจจะพิจารณาจากภารกิจงานใน 2 ประเภท คือ ในงานด้านการพัฒนา และในงานด้านการสร้างสันติภาพ เมื่อถามเกี่ยวกับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคน หรือองค์กรในด้านการพัฒนา ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามวางลำดับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคน 5 อันดับ ดังนี้ คือ 1) ผู้นำศาสนาในชุมชน เช่น โต๊ะอิหม่าม 2) คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และผู้นำศาสนา (อิหม่าม หรือพระ) 3) คือ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน 4) คือ รัฐบาลปัจจุบัน และ 5) คือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อนามัย อสม.เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุดในด้านความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อการพัฒนา คือ ทหารพราน
 
เมื่อถามความเชื่อมั่นไว้วางใจเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย และการสร้างสันติภาพ กลุ่มที่ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคน 5 ลำดับแรก ดังนี้ 1) คือ ผู้นำศาสนาในชุมชน เช่น โต๊ะอิหม่าม 2) คือ รัฐบาลปัจจุบัน 3) คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และผู้นำศาสนา เช่น เจ้าคณะจังหวัด 4) คือ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน 5) คือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อนามัย อสม. ส่วนกลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุดคือ เจ้าหน้าที่ทหารพราน
 
*** ข้อเสนอในเส้นทางกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืน 
 
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ศึกษาประเด็นความคิดเห็นต่อข้อเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ รวมทั้งประชาชนที่มีต่อการพูดคุยสันติภาพ ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามมีข้อเสนอสำคัญในลำดับต้นๆ ดังนี้ 1) ต้องมีการลดความรุนแรงจากทุกฝ่ายโดยการหลีกเลี่ยงการก่อเหตุความรุนแรง หรือปฏิบัติการต่อเป้าหมายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ 2) การผลักดันให้เกิดกลไกยุติธรรมทางเลือกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัย และมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเป็นต้น 3) การร่วมมือกันระหว่างทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่ห่วงกังวล และมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอที่ต้องการให้มีการแก้ปัญหายาเสพติดร่วมกัน
 
ข้อค้นพบดังกล่าวนี้เป็นเพียงผลการสำรวจเบื้องต้นสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เท่านั้น สำหรับการนำเสนอผลการสำรวจฉบับเต็มทาง CSCD จะกำหนดให้มีการเผยแพร่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2559 นี้  ซึ่งจะมีรายละเอียดครอบคลุมประเด็นสำคัญหลายประการ เช่น ทัศนะของประชาชนต่อกลไกในกระบวนการยุติธรรม ทัศนะต่อข้อเสนอทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนความคิดเห็นต่อประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอ และการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข เป็นต้น
 
แม้ว่าการพูดคุยสันติภาพ/การพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้เห็นต่างกำลังได้รับการรื้อฟื้นอย่างจริงจัง แต่ก็ยังมีเรื่องท้าทายอยู่อีกไม่น้อย ที่สำคัญการสร้างสันติภาพที่จำกัดการใช้ความรุนแรงนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง การจะทำให้กระบวนการสันติภาพสามารถแสวงหาทางออกที่ยั่งยืนนั้นจำต้องแผ่ร่มเงาออกไปให้มากที่สุดและดึงผู้คนให้ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ด้วยเหตุนี้ การให้ความสนใจเสียงของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งสะท้อนความคิดเห็น ความต้องการ และความกังวลใจจะมีส่วนในการประเมินสถานการณ์ และความเป็นไปได้ในการสถาปนาเครือข่ายนิรภัยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ หรือ “safety net” ที่จะคอยค้ำจุนในกระบวนการเดินหน้าไปอย่างมีความหมายต่อคนทุกกลุ่ม ตลอดจนสร้างแรงเหวี่ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สอดรับต่อความต้องการ และความเป็นจริงมากที่สุด

อ่านผลการสำรวจครั้งก่อน
- ผลสำรวจมีนาคม 2556 - มุมมองของประชาชนชายแดนใต้: ‘ความหวัง’ ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยืดเยื้อใต้ร่มเงาแห่ง ‘สันติภาพ’
- ผลสำรวจมิถุนายน 2556 - เปิดผลโพลชายแดนใต้รอบสอง หนุนการพูดคุยสันติภาพเพิ่มขึ้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น