xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียน 4 ศพ ณ ทุ่งยางแดงโมเดล “คำขอโทษ” ไม่มีค่าเท่านโยบาย “การเมืองนำการทหาร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 
หลังจากที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุปะทะและวิสามัญ 4 ศพ และมีการจับผู้อยู่ในเหตุการณ์ 22 ราย ณ บ้านโต๊ะชูดต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ตั้งโต๊ะแถลงผลสอบเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมปาร์ควิวปัตตานี ซุ่มเสียงของบุคคลระดับบิ๊กที่ถือตัวแทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลที่ผู้บริหารบ้านเมืองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งได้ตอบคำถามสื่อมวลชนในเรื่องนี้ทำนองว่า ให้ถือเป็นบทเรียนสำคัญของสังคม ส่วนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นความผิดพลาดหรือไม่นั้น ยังดูเป็นไปแบบแบ่งรับแบ่งสู้ แต่โทนเสียงกลับมากมายไปด้วยความเชื่อมั่นในฝ่ายกองกำลังของรัฐ
 
“เมื่อผลสอบสวนออกมาเป็นเช่นไรก็เป็นไปตามนั้น เชื่อว่าเจ้าหน้าที่พยายามทำดีที่สุดแล้ว และไม่ได้ตั้งใจให้เกิดความสูญเสีย ช่วงนั้นเป็นเวลากลางคืนอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ก็ต้องถือเป็นบทเรียน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไป”


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า เป็นเรื่องรายละเอียดในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ต่อไปคงต้องตรวจสอบข้อมูลมากขึ้น แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตั้งใจให้เกิดสันติสุขขึ้น
 
สำหรับการเยียวยาให้แก่ครอบครัวของผู้สูญเสียนั้น ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดูแลอยู่แล้ว โดยรัฐบาล และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ยืนยันในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป
 
“ในส่วนของทุ่งยางแดงโมเดลนั้น คงไม่ต้องปรับปรุงอะไร เพราะดีอยู่แล้วในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม” พล.อ.ประวิตร ตอกย้ำ
 
ทั้งนี้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มี จำนวน 13 คน ประกอบขึ้นจากทั้งผู้นำฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง และตัวแทนจากภาคประชาชน ได้แถลงสรุปผลการตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าวต่อหน้า พล.ท.ปราการ ชลยุทธ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน. นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. นายวีรพงศ์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีพล.ต.ต.กฤษกร พลีธัญญวงค์ ผบก.ภจว.ปัตตานี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีญาติ และครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงสื่อมวลชนไว้ดังนี้
 
คณะกรรมการได้พิจารณาถ้อยคำและหลักฐานจากฝ่ายต่างๆ แล้ว ฟังความได้ว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2558 ที่บ้านโต๊ะชูด ก่อนเกิดเหตุครั้งนี้ได้มีคน 3 กลุ่มไปที่บ้านที่กำลังก่อสร้างที่เป็นจุดเกิดเหตุ ได้แก่ กลุ่มคนงานก่อสร้างบ้าน กลุ่มที่เข้าเจรจาค่าเสียหายเรื่องรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุ และกลุ่มคนที่เข้าไปมั่วสุมเสพน้ำต้มใบกระท่อม เวลาประมาณ 17.00 น. ได้มีกองกำลังของเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษช่วยส่วนรวม (นปพ.ช่วยส่วนรวม) เข้าปิดล้อมตรวจค้น และควบคุมบุคคลทั้ง 3 กลุ่มได้ 22 คน โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกโดยสงสัยว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง

ขณะปิดล้อมตรวจค้นได้มีกลุ่มคนในที่เกิดเหตุ 5 คน วิ่งหลบหนีการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ไปด้านหลังของบ้านที่กำลังก่อสร้าง โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่บางส่วนโอบล้อมไล่ติดตาม และได้มีการใช้อาวุธปืนฆ่ากันตายที่บริเวณสวนยางพารา ห่างจากบ้านที่กำลังก่อสร้างที่เกิดเหตุประมาณ 300 เมตร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน ประกอบด้วย นายคอลิด สาเม็ง นายมะดารี แมเราะ นายซัดดำ วานุ และนายซูไฮมี เซ็นและ

โดยได้ตรวจพบอาวุธปืน และวัตถุระเบิดจำนวนหลายรายการตกอยู่บริเวณศพผู้ตายทั้ง 4 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่ากระทำวิสามัญฆาตกรรมผู้ตายทั้ง 4 คน คณะกรรมการมีความเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีความต่อเนื่องที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงที่ 1 การปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่บริเวณบ้านที่กำลังก่อสร้าง และช่วงที่ 2 เหตุการณ์วิสามัญบริเวณสวนยางพาราห่างจากจุดแรกประมาณ 300 เมตร 
 
ต่อประเด็นที่ว่าผู้ตายทั้ง 4 คน เป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา หรือเป็นกลุ่มก่อเหตุรุนแรง หรือแนวร่วมขบวนการก่อการร้ายหรือไม่ คณะกรรมการได้ตรวจสอบจากพยานหลักฐานทั้งคำให้การยืนยันของผู้นำชุมชน อาจารย์มหาวิทยาลัยฟาฏอนี รวมทั้งตรวจสอบด้านการข่าว พบว่า ไม่ปรากฏว่า ผู้ตายทั้ง 4 คนมีพฤติกรรมเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือเป็นแนวร่วมมาก่อน จะมีเพียงผู้ตายบางคนมีส่วนเกี่ยวข้อง และเคยถูกจับกุมคดียาเสพติดเสพน้ำกระท่อม
 
มีข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลยืนยันว่า ก่อนที่จะเกิดเหตุถึงแก่ความตาย และขณะวิ่งหลบหนีการควบคุมของเจ้าหน้าที่ ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง 4 คน ครอบครองอาวุธปืนแต่อย่างใด และผลการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่พบใกล้ศพผู้ตายก็ไม่ปรากฏประวัติการก่อเหตุรุนแรงในคดีอื่น ในชั้นนี้กรรมการมีความเห็นว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คนไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรง และไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มก่อเหตุรุนแรงแต่อย่างใด
 

 
นายแวดือราแม ที่เป็น 1 ในคณะกรรมการตรวจสอบชุดนี้ด้วย กล่าวว่า จากการประมวลและวิเคราะห์สาเหตุของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กรรมการมีความเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเยียวยา รวมถึงมาตรการในการแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซ้อนในลักษณะเดียวกันนี้อีก รวมทั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกัน สร้างความสมานฉันท์ และนำไปสู่การร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้เกิดความสันติสุข ได้แก่
 
ประการแรก เนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหาย และเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชน ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการกระทำต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และหากมีความจำเป็นต้องคุ้มครองพยานในคดีนี้ ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญต่อการดำเนินการให้ความคุ้มครองพยานดังกล่าว
 
ประการที่สอง กรณีที่เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย จำนวน 4 คน เนื่องจากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้บริสุทธิ์ และเป็นเหตุสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเข้าองค์ประกอบการช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย และผู้ได้รับผลกระทบอับเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555 จึงเห็นสมควรเสนอให้มีการเยียวยาตามระเบียบดังกล่าวโดยเร็ว
 
และประการสุดท้าย เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ 1.ต้องมีการปรับปรุงระบบงานข่าวกรองให้มีความแม่นยำ รวมทั้งการเข้าปิดล้อมตรวจค้น ควรประสานผู้นำในพื้นที่เข้าร่วมด้วยทุกครั้ง 2.ในการปฏิบัติการควรมีกลไกในการควบคุม และบังคับบัญชาในลักษณะกองบัญชาการร่วมระหว่างผู้บัญชาการเหตุการณ์ กับผู้บังคับบัญชาในระดับเหนือขึ้นไป เพื่อให้มีการตัดสินในร่วมกันในการปฏิบัติก่อน ระหว่าง และหลังปฏิบัติการอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ เมื่อปฏิบัติการเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องมีการทบทวน และสรุปบทเรียนทุกครั้ง
 
3.กรณีเกิดเหตุส่งผลกระทบต่อประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยให้มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงของหน่วยปฏิบัติโดยเร็ว หากพบว่ามีการปฏิบัติผิดพลาดในสาระสำคัญ ต้องดำเนินการทางการบริหาร และทางอาญาด้วยทุกกรณี 4.รายงานการสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง ควรเผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสในการทำงาน และการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐ 5.ในการปฏิบัติการทางยุทธวิธีของหน่วยกำลัง ควรคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อแนวทางการเมืองนำการทหาร และการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อกระบวนการสันติภาพที่มุ่งแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี
 
นายวีรพงศ์ ให้ความเห็นว่า คณะกรรมการได้ร่วมกันทำงานอย่างหนักเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงที่รอบด้าน ทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ รวบรวมหลักฐานเอกสารจากทุกหน่วยงาน พร้อมทั้งวิเคราะห์ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ผู้ตายทั้ง 4 คนเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา หรือเป็นกลุ่มก่อเหตุรุนแรง หรือแนวร่วมหรือไม่ 2.การริเริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ถูกต้อง และสมเหตุผลหรือไม่ 3.การวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาวุธปืนรวมทั้งวัตถุระเบิดของกลางเป็นของผู้ตายหรือไม่ ซึ่งก็มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ดังกล่าว
 
พล.ต.ต.กฤษกรกล่าวถึงคดีความว่า เนื่องจากเป็นคดีสำคัญและประชาชนให้ความสนใจ จึงมีตั้งกรรมการสอบชุดหนึ่งเพื่อคลี่คลายคดี หลังเกิดเหตุก็ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน ตรวจพิสูจน์ และสอบปากคำไปกว่า 20 ปาก และได้เรียกผู้กระทำความผิดมารับทราบข้อกล่าวหาฆ่าผู้อื่นแล้ว หลังจากนี้ก็จะเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป ทุกอย่างให้จบที่ศาล โดยรายชื่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวข้องต่อการใช้อาวุธในวันเกิดเหตุเบื้องต้นมี 7 ราย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ 
 
ขณะที่ พล.ท.ปราการ ให้ความเห็นว่า ทุกฝ่ายมีจุดมุ่งหมายที่จะแสวงหาสันติสุขโดยสันติวิธี วันนี้เกิดวิกฤตพวกเราต้องช่วยกันก้าวข้ามปัญหาให้ได้ และพร้อมน้อมรับข้อวิจารณ์ ข้อเสนอแนะของคระกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และจะนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลดีต่อพื้นที่ต่อไป
 
ส่วนการดำเนินการทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ที่ได้ร่วมการกระทำดังกล่าว พล.ท.ปราการกล่าวว่า ถือเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อนโยบายของผู้บังคับบัญชา เพราะการปฏิบัติหน้าที่ต้องใช้ความคิด ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ใช้แต่กำลัง
 
แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวด้วยว่า ความรุนแรงเกิดจาก 2 ส่วนคือ เกิดจากผู้ก่อเหตุรุนแรง และเกิดจากผู้ถืออาวุธที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งต้องดูว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ความหวาดระแวง ความหวาดกลัว จึงขอความเป็นธรรมด้วย และให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม
 
“ต้องขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไม่สามารถนำไปสู่แนวทางที่ผมได้ให้นโยบายไว้ ขออภัยต่อพี่น้องประชาชน ขออภัยต่อครอบครัวผู้สูญเสีย ผมน้อมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และจะไปแก้ไข ขอให้ทุกฝ่ายก้าวข้ามวิกฤต จับมือกันเชื่อและมั่นใจกัน”
 
อย่างไรก็ตาม แม้เวลานี้จะมีคำกล่าวขอโทษ และการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบจากตัวแทนฝ่ายรัฐ มีคำสั่งการให้นำดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเริ่มต้นขึ้นของกระบวนการเยียวยาแล้วก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า แผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังจะเดินหน้าเข้าสู่สันติสุข ไฟใต้ระลอกใหม่ที่คุกรุ่นมานานเกิน 10 ปีจะถูกทำให้มอดดับในเร็ววันนี้เสียเมื่อไหร่
 
ทว่า เหตุการณ์อันอุบัติขึ้น ณ แผ่นดิน “ทุ่งยางแดงโมเดล” จนเป็นข่าวครึกโครมต่อเนื่องกว่า 2 สัปดาห์ กลับมีทีท่าว่าจะทำให้ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ยืนตรงข้ามรัฐ ได้มีโอกาสฉวยเอาไปใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดม และสร้างเงื่อนไขก่อการร้ายได้อีกนานทีเดียว
 
กรณี 4 ศพ ณ ทุ่งยางแดงโมเดลครานี้แทบไม่ต่างจากเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันทั้งที่เคยเป็นข่าวครึกโครม และไม่เป็นข่าว เช่น กรณีทหารพรานยิงชาวบ้าน 4 ศพ และบาดเจ็บ5 คน ที่ ม.1 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อ 29 ม.ค.2555 กรณีนายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดหมู่บ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถูกทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 และตำรวจสภ.รือเสาะ ปิดล้อมตรวจค้นแล้วควบคุมตัวเมื่อ 19 มี.ค.2551 แต่ต่อมาถูกซ้อมและทรมานจนเสียชีวิตในเช้าวันที่ 21 มี.ค.หรือกรณีเด็ก 12 ปี เสียชีวิตริมถนนขณะที่เจ้าหน้าที่ปะทะกลุ่มก่อการ แต่แล้วกลับมีการจัดฉากยัดปืนสั้นใส่มือศพเด็ก อีกทั้งกรณีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านแล้วแตะสกัดเด็กซิ่งล้มหัวฟาดพื้นเสียชีวิตที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เป็นต้น
 
นับตั้งแต่ไฟใต้ระลอกใหม่โชนเปลวในปี 2547 ฝ่ายทหารถูกดึงให้เข้าไปเป็นกำลังหลักในการดูแล และแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งในห้วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ความพยายามของกองทัพในการคืบคลานเข้าควบคุมอำนาจบริหารจัดการแผ่นดินไฟใต้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ประสบผล ซึ่งอาจด้วยรัฐบาลพลเรือนอ่อนแอ และเกิดความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองอย่างหนัก แถมภายหลังเกิดการยึดอำนาจโดยคณะนายทหาร จากนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” เวลานี้จึงพลิกผันกลับหัวกลับหางกลายเป็นนโยบาย “การทำหารนำการเมือง” โดยปริยาย
 
จึงไม่แปลที่วันนี้กองทัพภาคที่ 4 ในนาม กอ.รมน.ภาค 4 สน. จึงคือองค์กรในการบริหารจัดการอำนาจรัฐบนแผ่นแผ่นดินปลายด้ามขวานทอง ซึ่งเข้ามาแทนที่ ศอ.บต.ที่เคยแสดงบทบาทนี้มาก่อน หนำซ้ำในปี 2535 ก็ยังมี พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่มักเรียกกันว่า พ.ร.บ.ศอ.บต.ถูกทำคลอดออกมารับรอง แต่เวลานี้กับถูกยึดอำนาจเหล่านั้นไปไว้ที่ฝ่ายทหารแล้ว พร้อมๆ กับงบประมาณหลักๆ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ ที่เคยส่งผ่านมือหน่วยงานพลเรือน ก็ถูกถ่ายเทไปไว้ที่หน่วยงานทหารด้วยเช่นกัน อย่างงบประมาณปีนี้ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้ไปกว่า 7 พันล้าน ขณะที่ ศอ.บต.ได้รับเพียงประมาณ 2 พันล้าน และ ศชต.ของฝ่ายตำรวจ ได้ประมาณ 1.6 พันล้าน
 
หลายปีมานี้เคยมีเสียงสะท้อนดังลั่นจนเหล่าปัญญาชน นักการเมือง นักเคลื่อนไหว ผู้นำศาสนา รวมทั้งภาคประชาสังคม โดยเฉพาะจากคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องขอให้ผู้กุมบังเหียนอำนาจรัฐปรับเปลี่ยนจากที่มุงเน้นนโยบายการทหารนำการเมือง ให้กลับสู่นโยบายการเมืองนำการทหาร เพียงแต่ว่าในวันนี้เสียงดังกล่าวอาจแผ่นเบาลงตามสถานการณ์ที่คนของกองทัพขึ้นกุมอำนาจรัฐ
 
บทเรียน 4 ศพ ณ ทุ่งยางแดงโมเดล ซึ่งเพิ่งเป็นเหตุการณ์เชิงประจักษ์ที่สังคมรับรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น เชื่อกันว่าความเคลื่อนไหวที่ต้องการจะเห็นการปรับเปลี่ยนนโยบายแก้วิกฤตไฟใต้จากการทหารนำการเมือง ให้ไปสู่นโยบายการเมืองนำการทหารนั้น คงต้องมีระลอกคลื่นใต้น้ำเกิดขึ้นแน่ แต่ว่าแหล่งกำเนิดเสียงอาจจะกดทับไม่ให้ดังจนทั่วทั้งสังคมได้ยินเท่านั้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น