xs
xsm
sm
md
lg

นศ.-ปชช.นับพันร่วมอ่านคำแถลงการณ์ จี้ “ประยุทธ์” สั่งหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เวทีคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จัดโดยนักศึกษาชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ม.อ.ปัตตานี เครือข่ายคนปัตตานี-สงขลาไม่เอาถ่านหิน พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชน มีผู้เข้าร่วมเวทีกว่า 1,000 คนแล้ว ขณะที่เครือข่ายนักศึกษา และประชาชนอ่านแถลงการณ์ 2 ฉบับ เรียกร้องนายกรัฐมนตรี สั่งยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

วันนี้ (22 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่เวทีคัดค้านถ่านหินซึ่งจัดโดยนักศึกษาชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ม.อ.ปัตตานี ขณะนี้มีเครือข่ายภาคประชาชน และนักศึกษาเข้าร่วมเวทีเพิ่มเป็นกว่า 1,000 คนแล้ว ในขณะที่บรรยากาศภายในเวที ณ ห้องประชุมใหญ่ ตึก 58 อาคารเรียนรวม ม.อ.ปัตตานี บรรยากาศการอภิปรายของผู้เข้าร่วมเวทียังคงเป็นไปอย่างคึกคัก

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง แกนนำภาคประชาชน บอกว่า ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาสร้างได้ วิถีวัฒนธรรมในพื้นที่จะถูกทำลาย สันติภาพ และความสงบก็จะมีเงื่อนไขต่อการสร้างสันติภาพได้ เหตุความไม่สงบก็เครียดมากแล้ว ทำไมยังส่งควันพิษ หมอกควัน มลพิษ น้ำเสีย จากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาให้คนปัตตานีเทพาอีก โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะปล่อยมลพิษมาก ไม่เลือกฝ่าย ไม่ใช่กระทบคนหลักสิบหลักร้อย แต่กระทบคนเป็นแสน ซึ่งจะหนักหนาสาหัสกว่าเหตุความไม่สงบมาก

“แม้มีเทคโนโลยีที่พูดไว้ก็ตาม แต่ก็มักกรองได้ไม่เกิน 90% ส่วนที่เหลือก็ยังทำให้เป็นมะเร็งในระยะยาว อีกเงื่อนไขคือ อำนาจรัฐให้ พ.ร.บ.ความมั่นคงควบคุมสถานการณ์ไม่พอ ประชาชนจะคัดค้านมาก เชื่อว่าในที่สุดก็ต้องนำ พ.ร.บ.ฉุกเฉินกลับมาใช้ กรณีการเกิดระเบิดที่เทพาเมื่อไม่กี่วันนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณให้แก่ฝ่ายความมั่นคงก็เป็นได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพเลย”

ด้านนักศึกษา อิห์ซาน นิปิ จากมหาวิทยาฟาฏอนี กล่าวว่า นักศึกษาฟาฏอนีได้ออกค่ายที่เทพา ได้พบว่า ที่นั่นสมบูรณ์มาก ลงไปในคลอง สามารถจับปลากระบอกด้วยมือเปล่าได้ เพราะมีปลาเยอะมาก มีป่าชายเลนที่สมบูรณ์มาก มีสวนยาง มีทะเลที่สวยงาม และสมบูรณ์ แต่ กฟผ.และฝ่ายหนุนกลับบิดเบือนใก้ข้อมูลสังคมว่าเทพาเหมือนทะลทราย แห้งแล้ง และยากจน ซึ่งเป็นการกล่าวเท็จอย่าวน่ารังเกียจ หากโรงไฟฟ้ามาตั้ง สุขภาพจะแย่ สิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรม และการปกป้องชุมชนเป็นหน้าที่ของเรา ยิ่งคนมุสลิม ยิ่งต้องปกป้องสังคมไม่ให้ถูกทำลายจากถ่านหินสกปรก
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกัน เครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกับนักศึกษาออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 โดยเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม มีเนื้อหาว่า “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง” จากปณิธานข้างต้น ข้าพเจ้า และนักศึกษาได้ตระหนัก และถือปฏิบัติมา

ซึ่งจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัตต์ ต้องเผาถ่านหินวันละ 23 ล้านกิโลกรัม และใช้น้ำจากน้ำทะเลถึงวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร มีเนื้อที่โครงการ 2,960 ไร่ ซึ่งมีระยะห่างจากปัตตานีเพียง 3 กิโลเมตร และมีป่าชายเลนที่มีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จนถึงอำเภอหนองจิก อำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีทะเลผืนเดียวกันสำหรับการทำมาหากินที่มีมาแต่บรรพบุรุษ

โครงการดังกล่าวได้ทำลายฐานทรัพยากรชีวิตของคนสงขลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีวัฒนธรรมการดำรงชีวิตที่ข้องเกี่ยวต่อทะเลเป็นหลัก และส่งผลกระทบต่อประชาชน ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหารโดยรวมทั้งหมด จากการปนเปื้อนของโลหะหนัก รวมทั้งมลพิษที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งมีขนาดฝุ่นละออง 2.5 ไมครอน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาท หลอดเลือด หัวใจ อีกทั้งยังเป็นมลพิษข้ามแดนที่ไปไกลถึง 1,000 กิโลเมตร และคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน

การแสดงจุดยืนครั้งนี้ไม่ได้เป็นการขัดขวางการพัฒนา แต่เพียงอยากให้การพัฒนาอยู่บนพื้นฐาน วัฒนธรรม และสิ่งดีงามที่มีมาแต่บรรพบุรุษจะเป็นอย่างไร ถ้าอนาคตข้างหน้า สงขลา เทพา จะนะ และปาตานี แผ่นดินที่มีจิตวิญญาณถูกทับถมด้วยปูนซีเมนต์ ปล่องท่อ และหมอกควัน

“ทำไมแผ่นดินที่เราร่วมกันรักษาจะต้องมีคนมาเอาไปเพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย ในขณะที่คนยากคนจนต้องเป็นคนเสียสละ”
 

 
ในนามเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พิจารณาให้ประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ได้มีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ส่วนแถลงการณ์ฉบับที่ 2 อ่านโดยตัวแทนเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เรื่อง จุดยืนของประชาชนในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล ต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ด้วยการดำเนินการตามโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ผ่านมานั้น ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เรียกว่า ค.1 ค.2 และ ค.3 ซึ่งมีลักษณะที่เกณฑ์คนเข้ามาร่วมในเวทีเพื่อให้ได้เห็นภาพว่ามีจำนวนคนที่สนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นจำนวนมากอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

โดยที่ผู้จัดนั้นพยายามเบี่ยงเบนยัดเยียดข้อมูลที่ไม่ครอบคลุมความเป็นจริงทั้งหมดให้แก่ประชาชนที่ถูกเกณฑ์ดังกล่าว และมีเจตนาอย่างชัดเจนในการกีดกันไม่ให้ประชาชนที่มีชุดข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมหันตภัยของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1-ค.3
 

 
โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งห่างจากพื้นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกลับไม่ได้ถูกนับรวมในกลุ่มเป้าหมายที่จะทำการศึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมหันตภัยโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งๆ ที่ข้อมูลจากการศึกษาของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ และในต่างประเทศต่างชี้ให้เห็นว่า ระยะของผลกระทบจากมหันตภัยของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่เผาถ่านหินปริมาณมหาศาลถึง 23 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

การมีปล่องควันที่สูงไม่ต่ำกว่า 200 เมตร การยื่นสะพานลงไปในทะเลระยะไม่ต่ำกว่า 3 กิโลเมตร มีเสาสะพานไม่ต่ำกว่า 1,000 ต้น และการขนส่งถ่านหินทางเรือไปมาในระยะ 15 กิโลเมตรนั้น ระยะของผลกระทบนั้นไม่ใช่แค่เพียงรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ในทางกลับกันมวลสารที่มาจากควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ฝนกรด ขี้เถ้าลอย และหนัก และการกัดเซาะชายฝั่งของโครงโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น

นอกจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และสงขลาเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนในจังหวัดนราธิวาส ยะลา และสตูล ตลอดจนทางทิศเหนือของประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) จึงมีจุดยืนต่อกรณีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ค.1 ค.2 และค.3 ที่ผ่านมานั้น ดังต่อไปนี้

1.เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ค.1 ค. 2 และค.3 ที่ผ่านมานั้นไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่เปิดโอกาสให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งรวมถึงจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลได้นำเสนอความเห็นด้วย

2.ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้นที่ต้องมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะลำพังสถานการณ์ความขัดแย้งถึงตายด้วยอาวุธตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษกว่าที่ผ่านมา ก็หนักหนาสาหัสมากพอแล้ว และถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขึ้นมาเชื่อว่า จะเป็นการยิ่งโหมไฟใต้มากกว่าการพัฒนาอย่างแน่นอน

3.ทางเครือข่ายประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล จะร่วมกับเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ในการพยายามถึงที่สุดตามแนวทางสันติวิธีเพื่อหยุดการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้ได้

4.ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน. ) ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องนำกรณีปัญหาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บรรจุเป็นวาระเพื่อคลี่คลายป้องกันปัญหาความไม่พอใจของประชาชนต่อกลไกอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น จะกลายเป็นน้ำผึ้งเพียงหยดเดียวทำลายบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ เพียงแค่สนองความโลภของคนไม่กี่คน ด้วยจิตรักษ์สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น