ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การคัดค้านพืช GMOs* ในประเทศไทยยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ภาคประชาชนลุกฮือแสดงพลังออกมายับยั้งด้วยการยื่นหนังสือคัดค้าน แสดงเจตจำนงให้รัฐบาลทบทวนเนื้อหา 'พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. ... ' หรือ 'พ.ร.บ. GMOs' ซึ่งมีเนื้อหาแอบแฝงผลประโยชน์แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. ) เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
9 ธ.ค. 2558 ความเคลื่อนไหวล่าสุด ของเครือข่ายภาคประชาชนและผู้ประกอบการเกษตรและอาหารกว่า 100 องค์กร ทั่วประเทศร่วมแสดงเจตจำนงยื่นหนังสือคัดค้าน 'ร่าง พ.ร.บ. GMOs' เรียกร้องให้มีการทบทวนปรับปรุงเนื้อหาให้มีความสมบูรณ์ก่อนเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเฉพาะในประเด็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และผลกระทบด้านสุขภาพ ย้อนแย้งกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรและเศรษฐกิจของชาติที่มุ่งเน้นเรื่องของความยั่งยืน
แนวโน้มของพลเมืองทั่วโลกปฏิเสธพืชดัดแปลงพันธุกรรม GMOs กันเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ตามข้อมูลเป็นที่ทราบกันว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของแปลงข้าวโพดแปลงถั่วเหลืองทั่วสหรัฐอเมริกานั้นเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ฉะนั้น เนื้อ นม ไข่ ที่ขายตามท้องตลาด รวมทั้งน้ำมันถั่วเหลืองและแป้งข้าวโพดใน อุตสาหกรรมอาหารข้องเกี่ยวกับการดัดแปลงพันธุกรรมแทบทั้งสิ้น ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก
ยกตัวอย่าง การสำรวจความคิดเห็นจากชาวอเมริกัน ในฐานะพลเมืองของสหรัฐฯ ประเทศต้นกำเนิดของ GMOs พบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ได้ออกมาเรียกร้องรัฐบาลของตนมีการติดฉลากกำกับว่าผลิตภัณฑ์ใดบ้างเป็น GMOs เพื่อบอกว่าพวกเขาจะไม่เลือกผลิตภัณฑ์ที่มาจากวิธีการดังกล่าวอีกต่อไป
ขณะเดียวกัน จากการสำรวจของคณะกรรมการยุโรป เปิดเผยถึงการลดความนิยมของพืช GMOs อาทิ พลเมืองประเทศสเปน ปี 2539 เคยสนับสนุน GMOs ถึง 66 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปี 2553 กลับลดเหลือเพียง 35เปอร์เซ็นต์ พลเมืองประเทศเยอรมณี เคยสนับสนุน GMOs ถึง 47 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ลดลงเหลือ 22 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ กลุ่มประเทศสมาชิก EU ประกาศแบนอย่างเป็นทางการ 16 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปแลนด์ ออสเตรีย กรีซ ลิธัวเนีย ลัตเวีย สโลเวเนีย ไซปรัส บัลแกเรีย ลักเซมเบอร์ก ฮังการี และโครเอเชีย
หรืออย่าง ฮาวาย ที่เคยปลูกพืช GMOs ประชาชนต่างต่อต้านจนรัฐบาลออกนโยบายห้ามปลูกเพิ่มพืชGMOs ขึ้นอีกนอกเหนือจากที่ปลูกไปแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก มูลนิธิชีววิถี แม้กระทั่งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง ในนามเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป (The European Network of Scientists for Social and Environmental Responsibility- ENNSSER) ได้ออกมาประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับคำที่ว่า 'ประชาคมวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าจีเอ็มโอปลอดภัย' โดยให้เหตุผลสนับสนุน ดังนี้
1. ยังไม่มีข้อยุติว่าอาหาร GM ปลอดภัย งานศึกษาจำนวนมากทำโดยผู้ผลิต GM รวมทั้งมีงานวิจัยจำนวนมากที่ขัดแย้งกันเอง
2. ยังไม่มีงานศึกษาเชิงระบาดวิทยา (epidemiological studies) เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากการบริโภคอาหารจีเอ็ม ดังนั้นการอ้างว่ามีผู้บริโภคในอเมริกาเหนือบริโภคจีเอ็มโอมาเป็นเวลานานนับสิบปีแต่ก็ไม่เห็นปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นเพียงการพูดลอยๆ โดยไร้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์รองรับ
3. มีงานวิจัยหลายร้อยรายงานที่ไม่ยืนยันเรื่องความปลอดภัย
4. มีงานศึกษาที่ระบุอย่างชัดเจนว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่น ผลกระทบของพืช BT ต่อแมลงที่ไม่ใช่ศัตรูพืช การเพิ่มขึ้นของการใช้สารเคมีปราบวัชพืช แมลงและวัชพืชดื้อยา เป็นต้น
วิฑูรย์ เลี่ยนจํารูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Biothai) ผู้ติดตามประเด็นเรื่อง GMOs อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด อธิบายทิศทางของทั่วโลกว่าปฏิเสธพืช GMOs เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระแสการต่อต้านในช่วงแรกนั้นเกิดขึ้นในยุโรปและลุกลามขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2539 ที่เริ่มมีการปลูกพืช GMOsเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในสหรัฐฯแต่เดิมมีแนวคิดจากบางกลุ่มซึ่งคาดการณ์ว่า เมื่อเวลาผ่านไปพืชดัดแปลงพันธุกรรมจะได้รับการยอมรับเมื่อมันได้พิสูจน์ตัวเองว่าไม่มีอันตรายต่อสุขภาพระยะยาวและสิ่งแวดล้อม แต่ตรงกันข้ามเพราะในปัจจุบันยังไม่ผลการวิจัยยืนยันว่า GMOs ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันมีความกังวลต่อผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาวของมนุษย์ อย่างเช่น สารก่อภูมิแพ้, สารก่อมะเร็ง ฯลฯ รวมทั้งปัญหาการปนเปื้อนในภาคเกษตรกรรมซึ่งสร้างความเสียหายมหาศาล
แม้แนวโน้มทั่วโลกจะยอมรับพืช GMOs ลดลงฮวบฮาบ แต่กลุ่มทุนไม่วายเดินเกมแทรกแทรงเชิงนโยบาย อย่างกรณีการเรียกของชาวอเมริกันเรื่องการติดฉลากกำกับที่กล่าวไปข้างต้น บริษัท มอนซานโต้ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ ก็ดำเนินการโฆษณาล็อบบี้นโยบายสารพัดเพื่อให้รัฐบาลล้มเลิกกฎหมาย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีมีอิทธิพลมากในการเมืองสหรัฐฯ เหตุนี้คนอเมริกันจึงลุกฮือขึ้นมาต่อต้านวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของตนว่าไม่มีประชาธิปไตยไม่มีความโปร่งใสอย่างที่ควรจะเป็น
“สถานการณ์บริษัท GMOs พยายามขยายผลักดันเพื่อไปขยายโอกาสในประเทศกำลังพัฒนา ในอุตสาหกรรมคนในต่อต้านมากขึ้น มอนซานโต้ หุ้นตก 26 เปอร์เซ็นต์ ไล่พนักงานออกหลายพันคน ในทางตรงกันข้ามตลาดออแกนิกเติบโตอย่างก้าวกระโดดเนื่องจากคนต้องการทางเลือก ฉะนั้น จึงเกิดการผลักดันในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ให้ปลูกพืช GMOs มากขึ้น ถ้าพูดถึงเชิงการเมืองรัฐบาลสหรัฐฯ พยายามรักษายุทธศาสตร์ผู้นำด้านอาหาร กำหนดทิศทางระบบทรัพยากรอาหารของโลกในยุคหน้าที่โลกจะต้องเผชิญกับวิกฤติอาหารอย่างเลี่ยงไม่ได้ มอนซานโต้ ต้องรักษาฐานรักษาผลกำไรของตนเองต่อไป ประเทศพัฒนาแล้วเกิดการต่อต้านก็พึ่งมายังประเทศที่กำลังพัฒนา”
ข้อมูลในปี 2557 เผยว่า พื้นที่เกษตรทั่วโลกที่เป็น มีอยู่เพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และมีการเผยข้อเท็จจริงต่อไปว่า พืช GMOs ไม่ได้เสริมศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต ไม่สามารถลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ และทั่วโลกมีแนวโน้มการไม่ยอมรับอาหาร GMOsมากขึ้นเรื่อยๆ
กลับมาที่ประเทศไทย พื้นฐานเกษตรกรรมของประเทศไทยมีความหลากหลาย การเปิดรับพืช GMOs เข้ามาจะนำวิถีเกษตรกรรมเข้าสู่การผูกขาดโดยบริษัททุนข้ามชาติ และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยโดยเฉพาะในประเด็นสิทธิบัตรซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นกันมาแล้ว
ยกตัวอย่าง บริษัทมอนซานโต้ ฟ้องร้อง ชไมเซอร์ ชาวนาชาวแคนาดา ฐานละเมิดสิทธิบัตร โดยเมื่อปี 2540 เขาพบว่าต้นคาโนลาปนเปื้อนละอองเกสรจากต้นคาโนลาของมอนซานโต้ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรว่ามีคุณสมบัติในการต่อต้านวัชพืช มีการต่อสู้ในชั้นศาลยาวนานแต่สุดท้ายศาลตัดสินให้ชไมเซอร์แพ้คดีและต้องชดใช้จากการละเมิดสิทธิบัตรของมอนซานโต้
กรณีของ ชไมเซอร์ ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่เครือข่ายภาคประชาชนที่จับตาประเด็น GMOs มีความกังวลใจอย่างยิ่ง เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย กล่าวคือ GMOs ทุกตัวมีสิทธิบัตรควบคุมอยู่ ซึ่งอยู่ในมือของบริษัทเอกชนข้ามชาติ เมื่อเกิดการปนเปื้อนในแปลงเกษตรรายย่อย พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบโดยบริษัทดังกล่าวฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้เลย
“ถ้าประเทศไทยเปลี่ยนเป็น GMOs หมายถึงว่าเราปล่อยให้บริษัมข้ามชาติมาผูกขาดตัวพันธุ์พืช เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์มันอยู่ในมือของบริษัทเดียวแล้ว เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องร้ายแรงมาก และเมื่อปลูกพืช GMOs แล้ว เราจะหันไปหาทางเลือกอื่นก็จะทำยากมาก พื้นที่เกษตรของเราซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพก็จะถูกปนเปื้อนถูกบังคับให้ปลูกพืช GMOs ตรงนี้มันคือการผลักดันให้มีการกลืนเกษตรกรรายย่อยโดยการเปลี่ยนฐานพันธุกรรมให้เป็นของบริษัทและเขาก็จะสามารถยึดครองได้ทั้งหมด” วิฑูรย์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการปนเปื้อนที่ไม่สามารถควบคุมได้ กรณี ข้าวโพดสตาร์ลิงค์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไม่อนุญาตให้เป็นอาหารของมนุษย์แต่กลับไปปะปนอยู่ในอาหารต่างๆ ซึ่งโปรตีน Cry9C ที่ถูกผลิตจากยีนแบคทีเรียในข้าวโพดส่งผลให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ แม้มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์หลายร้อยชนิดซึ่งมีการปนเปื้อนดังกล่าว ถือเป็นบทเรียนของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องการควบคุมการปนเปื้อนที่เหลวไม่เป็นท่า
ทั้ง กรณีการทดสอบข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมสายพันธุ์ NK 603ในแปลงทดลอง ของมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยการสนับสนุนของ บริษัท มอนซานโต้ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยว่า ข้าวโพด NK603 นั้นหลังนำมาใช้กับหนูทดลอง พบว่า ระยะเวลา 2 ปี อวัยวะภายในของหนูทอดลองเกิดการเติบโตผิดปกตินำไปสู่การเป็นมะเร็ง
สำหรับประเทศไทย ปี 2538 ถือเป็นปีแรก การทดลองปลูกพืช GMOs โดย กรมวิชาการเกษตร อนุญาตให้ บริษัท มอนซานโต้ เข้ามาปลูกทดลองฝ้ายจีเอ็มโอ (ฝ้าย BT) และฝ่ายสนับสนุนมีความพยายามขับเคลื่อนเสรี GMOs มาโดยตลอด ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ต.ค. ปีก่อน มีผู้พยายามสนับสนุนให้เกิดการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรมในแปลงเปิดเพื่อเปิดทางสู่การปลูกเพื่อการค้า ขณะที่เครือข่ายที่ติดตามประเด็น GMOs ซึ่งเล็งเห็นโทษมหันต์และคัดค้านอย่างหนัก ด้านกลุ่มสนับสนุน GMOs พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. ... แต่ไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทว่า ไม่กี่เดือนให้หลัง ร่าง GMOs ถูกนำเข้าสู่ ครม. ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์อย่างหนัก เพราะมีความเห็นไม่ต่างกันหลังอ่านเนื้อสาระของฯ ฉบับนี้ เอื้อประโยชน์แก่ทุนข้ามชาติเสียกระไร ยิ่งกว่านั้นยังมีช่องโหว่ที่ดูมีพิรุธส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์อีกต่างหาก
โจน จันได นักสะสมเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้าน ผู้ก่อตั้ง 'ศูนย์พันพรรณ' ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน จ.เชียงใหม่ กล่าวแสดงความห่วงใยหากเกิดการปนเปื้อนหลังเปิดเสรี GMOs ในประเทศโดยที่กฎหมายยังไม่สมบูรณ์ รวมทั้งมาตรการดูแลจัดการต่างๆ
“ผลข้างเคียงของมันเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งความไม่แน่นอนตรงนี้ทำให้คนหลายคนไม่ไว้วางใจเริ่มสงสัยมากขึ้น พอไม่แน่ใจ ทำไมเราต้องเสี่ยง มีคนตั้งคำถามมากขึ้นว่าไม่แน่ใจทำไมต้องเสี่ยงในเมื่อมันเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตเรื่องสุขภาพเรื่องของลูกหลานเรา เพราะว่า GMOs ถ้ามันผิดพลาดขึ้นมาปุ๊บเราเรียกคืนไม่ได้นะ เพราะว่ามันเป็นการปนเปื้อนสิ่งที่เล็กที่สุดของชีวิตที่เรียกว่ายีน ปกติแล้วการปนเปื้อนบนพื้นดินบนโลกใบนี้ ถ้าสารเคมีที่ร้ายแรงที่สุดปนเปื้อนที่ไหนเราก็สามารถทำความสะอาดมันได้ หรือไม่จุลินทรีย์บางพันธุ์จะวิวัฒน์ตัวเองมาทำความสะอาดได้ แต่การปนเปื้อนที่ยีนเป็นสิ่งที่ทำความสะอาดไม่ได้ ควบคุมไม่ได้”
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. GMOs ที่ภาคประชาชนแสดงเจตจำนงคัดค้าน ประเด็นที่เป็นกังวลอย่างยิ่งคือการเอื้อประโยชน์แก่บริษัททุนข้ามชาติ ซึ่งก่อผลกระทบต่อเกษตรรายย่อยอย่างใหญ่หลวง
“ประเด็นที่เป็นห่วง เป็นกฎหมายที่อกมาเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทเป็นหลัก คือบริษัทไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นเลย ซึ่งตรงนี้เราก็เห็นบทเรียนมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งออกกฎหมายลักษณะนี้มา ทีนี้คนที่ปลูกพืช GMOs มันไปปนเปื้อนของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านเขาอาจจะไม่ต้องการมันเลย แต่ว่าเกสรมันไปปนเปื้อน กฎหมายไม่ได้คุ้มครองตรงนี้
“ถ้าเราออกกฎหมายยอมรับปั๊บ เขาก็จะรีบเข้ามาพัฒนา คิดว่าเขาพัฒนาไปแล้วแต่พัฒนาแบบลับๆ ถ้ากฎหมายออกมาเขาจดสิทธิบัตรปั๊บ เราเสียประโยชน์ทันที เพราะว่าคนไทยจะมีใครบ้างที่มีปัญญาไปทำ GMOs เพราะว่าการทำGMOs ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้บริษัทมอนซานโต้ก่อน ต้องเช่าอุปกรณ์ต่างๆ เอาเทคโนโลยี เอาการเรียนรู้มาจากเขาทั้งหมด ต้องพึ่งเขาทั้งหมด ทีนี้เขามีการพัฒนาก่อนเรา เขานำหน้าเราไม่รู้เท่าไหร่ เราเพิ่งมาเริ่มต้นยังไงเราก็ไม่ทันเขาอยู่ดีและที่สำคัญทำไมเราต้องตามเขา
“ในเมื่อโลกนี้คนที่ปฏิเสธ GMOs มีตั้งครึ่งโลก ทำไมเราต้องไปทำอาหาร GMOs มาขายแข่งกัน ในเมื่อคนครึ่งโลกไม่ต้องการเลย หมายความว่าตลาดเราแคบมาก แต่ว่าเรามาพัฒนาอินทรีย์ปุ๊บมีใครบ้างปฏิเสธอาหารอินทรีย์บนโลกนี้ ฉะนั้น ถ้าเราพัฒนาอินทรีย์เราก็จะมีลูกค้าเต็มโลก ก็ดีกว่า การพัฒนาอินทรีย์ทำได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีต่างประเทศ ไม่ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตร เรามีทุนเดิมของเราเยอะอยู่แล้วเพราะว่าในเมืองไทยมีพันธุ์สัตว์ พันธุ์จุลินทรีย์ หลากหลายติดอันดับโลกเหมือนกัน ฉะนั้น ทรัพยากรที่ดีๆ เยอะมาก ทำไมเราไม่คิดเอาทรัพยากรเหล่านี้มาพัฒนาในแนวทางของเราแล้วนำสู่ตลาดโลก ถ้าเราทำอย่างนี้เราก็มีองค์ความรู้ของเรามีเทคโนโลยีของเรา”
โจน จันได กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเหมาะสมกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือไม่ เกษตรกรรมของเราเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมาแต่ไหนแต่ไร มีเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านหลากหลาย เต็มเปี่ยมด้วยความอุดมสมบูรณ์ นั่นจึงเป็นคำตอบว่าพืช GMOs ไม่จำเป็นต่อภาคเกษตรของไทย
“ไม่จำเป็นเลย เพราะว่าเหตุผลที่เขาอ้างมันจะช่วยเพิ่มผลผลิตขึ้น และก็ป้องกันโรคได้ แต่ว่าพืชพันธุ์ที่เรามีอยู่ทุกวันนี้เราให้ผลผลิตสูงมากอยู่แล้ว ฉะนั้น ปัญหาที่เรามี ชาวนาทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าเราผลิตได้น้อยนะ ราคามันต่ำเพราะว่าเราผลิตได้มากแต่ขายไม่ได้ จนหลายๆ ครั้งเราเอาอ้อย เอาข้าว ไปเทประท้วงเรื่องราคา ต้องแก้ปัญหาระบบตลาดกลไกตรงนี้เพื่อให้ชาวนาอยู่ได้ แต่การแก้ปัญหาเพื่อให้ผลิตมากขึ้นๆ มันก็ไม่ทำให้ชาวนาเป็นหนี้ลดลงเพราะว่าราคาก็ยิ่งต่ำลงๆ ตามกลไกตลาดถ้าของมากราคายิ่งต่ำลง ฉะนั้น มันไม่เกิดการช่วยเหลือเกษตรกรเลย แล้วข้ออ้างที่ว่ามันจะมาช่วยเกษตรกรมีรายได้มากขึ้นร่ำรวยมากขึ้น เป็นคำพูดที่แย้งกับความเป็นจริงมาก ในภาพที่เราเห็นมาที่เราเผชิญมาเราพบชัดเจนว่าปัญหาไม่ใช่ผลิตได้น้อย ปัญหาอยู่ที่ราคาไม่ส่งเสริมเกษตรกรเลย”
ขณะที่ประชากรทั่วโลกออกมาปฏิเสธพืชดัดแปลงพันธุกรรม ฝ่ายบริหารของประเทศไทยพยายามผลักดัน GMOs ขณะที่ประเด็นความปลอดภัยทางด้านสุขภาพยังคลุมเครือ โจน จันได มองว่ารัฐบาลควรประวิงเวลาไปก่อน
“ความปลอดภัยยังไม่มีใครรับรองตรงนี้ เราก็ยังไม่รู้ว่ากิน GMOs ไปสัก 30 ปีมนุษย์จะกลายพันธุ์เป็นอะไรบ้าง เพราะว่าตอนนี้เราไม่มีการพิสูจน์จริงๆ ว่ามันปลอดภัยนะ การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เล็กที่สุดคือยีนของอาหาร เราทำให้อาหารผิดปกติ การทดสอบ 5 ปี 10 ปี เรายังไม่รู้ผล มันอาจจะต้องใช้เวลา 50 - 60 ปี ถึงวันนั้นคนทั้งโลกก็อาจจะแพ้อาหารทั้งหมด หรือคนทั้งโลกก็อาจจะพิกลพิการทั้งหมด หรือเป็นโรคภูมิแพ้กันทั้งหมด มันอาจจะเกิดขึ้นได้มันเป็นไปได้ เพราะว่าคนเพิ่งกิน GMOs มา 10 กว่าปีเท่านั้นเองที่กินกันมากๆ แต่ว่ามันออกสู่ตลาดมา 20 กว่าปี และ10 กว่าปีที่ผ่านมาสิ่งที่เห็น คนอเมริกันที่กิน GMOs มานานที่สุดบนโลกบนนี้ เริ่มแพ้อาหารมากกว่าทุกประเทศบนสุดบนโลกใบนี้นะครับถั่วลิสง ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฯลฯ
“เมื่อคนเริ่มระแวง ก็รู้สึกว่าทำไมเราต้องเสี่ยง คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าในเมื่อสุขภาพเราเป็นสิ่งสำคัญที่สุด มีเหตุผลหรือมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเอาสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเราไปเป็นหนูทดลองเพื่อความร่ำรวยของบริษัมแค่ไม่กี่บริษัท ในเมื่อเรามีอาหารเต็มบ้าน ข้าวเรามีเป็น 200 กว่าสายพันธุ์ พืชผักเรามีนับไม่ถ้วนเรามีเต็มไปหมดเลย ทำไมเราต้องกระเสือกกระสนที่จะกิน GMOs
“พืช GMOs คือการเอาชีวิตที่ต่างกันมาผสมกันซึ่งปกติแล้วมันไม่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแม้ว่านักวิชาการจะบอกว่ามันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่เขาเรียกว่า มิวเตชั่น (Mutation - การกลายพันธุ์) ใน 1,000 ปี จะมีสักชีวิตที่เกิดมิวเตชั่นขึ้นมามีกี่ครั้งที่พืชกับสัตว์ไปผสมกันได้ ผมคิดว่าตรงนี้แหละเป็นการสร้างชีวิตที่ผิดปกติขึ้นมา GMOs คือชีวิตที่ไม่ปกติ GMOs มันคืออาวุธของจักรวรรดินิยมยุคใหม่ อาวุธของการล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่มันทับซ้อนจนเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่อาวุธ จนเรารู้สึกว่าอาวุธเหล่านี้คือดอกไม้เป็นสิ่งที่มาช่วยเหลือเรา แต่จริงๆ แล้วมันคือสิ่งที่เขามายึดชีวิตของเราไป”โจน จันไดกล่าว
ขณะที่เกษตรอินทรีย์เป็นที่ยอมรับในตลาดผู้บริโภคทั่วโลกในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อาจจะพูดได้เต็มปากเต็มคำเสียด้วยซ้ำว่าไม่มีใครเคยบอกว่าไม่เอาเกษตร อินทรีย์ เหมือนกับที่ออกมาต่อต้านพืชดัดแปลงพันธุกรรมอย่าง GMOs ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ซึ่งถูกบรรจุในแผนพัฒนาประเทศด้วย แต่กลับทุ่มงบประมาณปี 2559หนุนเกษตรอินทรีย์แค่เพียง 0.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง
ทิ้งท้ายด้วย ท่าทีของ 'บิ๊กตู่' พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมายืนยันภายหลังเครือข่ายกว่า 100 องค์กรทั่วประเทศ อาทิ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, เครือข่ายภาคธุรกิจ, องค์กรท้องถิ่น, องค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ, องค์กรท้องถิ่น รวมตัวยื่นหนังสือคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. GMOs ความว่า 'ไม่เค๊ย..ไม่เคย คิดให้มี GMOs ในประเทศไทย'