xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

10 คำถามเรื่อง GMO โดยนักเศรษฐศาสตร์ (ที่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์น้อยมาก)

เผยแพร่:   โดย: ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ


1. อะไรคือ GMO? GMO ย่อมาจาก Genetically Modified Organism สิ่งมีชีวิตที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมโดยกระบวนการ Genetic Engineering Techniques ต่างๆ ซึ่งทำได้ทั้งในสัตว์ และพืช ดังนั้น GMO ก็เลยเข้ามาอยู่ในกระบวนการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งนี้ก็ด้วยความหวังดีของนักวิทยาศาสตร์ที่อยากเห็นพืชที่ทนต่อโรค ทนต่อศัตรูพืชต่างๆ ได้ปศุสัตว์ที่แข็งแรงทนต่อโรค เติบโตได้ผลผลิตที่แข็งแรง ในปริมาณมาก โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ต้องใช้ปุ๋ย ไม่ต้องใช้เคมีเกษตรต่างๆ แต่ใช้การตัดต่อยีนในตัวพืชและ/หรือสัตว์แทน

2.ผลผลิตจำนวนมากดีจริงหรือ? ในทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะในสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าที่มีค่าความยืดหยุ่นของอุปทานต่ำ (Inelastic Supply) นั่นหมายความว่า ต่อให้ราคาเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ผู้ผลิตก็ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วเพื่อนำออกขาย ทั้งนี้เพราะสินค้าประเภทนี้ใช้ระยะเวลาในการผลิตยาวนาน เช่น ต่อให้ข้าวราคาสูงขึ้น ชาวนาก็ไม่สามารถเพิ่มการผลิตข้าวได้ทันที เพราะกว่าข้าวจะเก็บเกี่ยวได้ก็ต้องใช้เวลามากกว่า 120 วัน ในทางตรงกันข้าม หากราคาสินค้าลดลง เกษตรกรก็ไม่สามารถเก็บสินค้าเกษตรไว้เพื่อรอขายในระยะเวลาที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นได้เพราะกว่าจะถึงเวลานั้น ข้าวก็เน่าเสียหมดแล้ว ดังนั้นสินค้าเกษตรจึงมีความยืดหยุ่นต่ำ และในสินค้าที่ความยืดหยุ่นต่ำๆ หากสามารถผลิตเพิ่มขึ้นได้มากๆ โดยที่อุปสงค์หรือพฤติกรรมของคนซื้อไม่ได้เปลี่ยนแปลง ภาวะสินค้าล้นตลาดและราคาของสินค้าที่ต่ำลง กลับทำให้รายรับของเกษตรกรลดลงเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นความหวังดีของนักวิทยาศาสตร์ที่อยากเห็นผลผลิตการเกษตรจำนวนมากๆ อาจกลายเป็นฝันร้ายของเกษตรกรก็ได้ เพราะในความเป็นจริง สิ่งที่เกษตรกรต้องการไม่ใช่การปลูกอะไรได้มากๆ จนสินค้าล้นตลาด หากแต่พวกเขาต้องการรายได้จากการทำการเกษตรมากๆ ต่างหาก

3.แล้ว GMO ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงจริงหรือ? ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รายได้ คือรายรับหักลบด้วยต้นทุน ดังนั้นการจะเพิ่มรายได้จึงเกิดจากการเพิ่มรายรับ และ/หรือ ลดต้นทุน หากแต่อย่างที่กล่าวมาแล้วในข้อ 2 ว่า GMO ทำให้รายรับลดลงเนื่องจากผลผลิตมากขึ้น คราวนี้มาดูด้านต้นทุนบ้าง เราพบว่า กว่าจะได้เมล็ดพันธุ์พืช GMO มาแต่ละชนิด ต้องมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ยุ่งยากซับซ้อน ต้องการการลงทุนทั้งในเรื่องของตัวนักวิจัย และห้องปฏิบัติการมูลค่ามหาศาล ดังนั้นผู้ที่จะมีความสามารถในการลงทุนพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช GMO ได้จึงมักจะเป็นบริษัทการเกษตรข้ามชาติขนาดยักษ์ที่มีเงินทุนมหาศาล และเมื่อพัฒนาเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ได้ พวกเขาก็จะเอาสิ่งที่ได้ไปจดสิทธิบัตร เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่พวกเขาลงทุนไป นั่นทำให้บริษัทเกษตรข้ามชาติเหล่านี้สามารถผูกขาดการขายเมล็ดพันธุ์ GMO เหล่านี้ได้ และตามหลักเศรษฐศาสตร์ เราเรียนเรื่อง Monopoly Market หรือตลาดที่ผูกขาดโดยผู้ขาย และผลที่เกิดขึ้นในตลาดลักษณะนี้คือกลไกตลาดจะถูกบิดเบือนทำให้สินค้าที่ขายมีจำนวนลดลงและมีราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นราคาเมล็ดพันธุ์ที่สูงขึ้นก็กลับทำให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนั่นก็จะยิ่งซ้ำเติมเกษตรกรมากขึ้นอีกเนื่องจาก รายรับก็ลดลง แต่ต้นทุนกลับสูงขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ลดลงหรือขาดทุนจากการทำการเกษตรนั่นเอง

4.นักวิทยาศาสตร์อาจจะบอกว่า อ้าว! ถึงจะมีต้นทุนเมล็ดพันธุ์ที่สูงขึ้น แต่เกษตรกรก็ลดการใช้ยาฆ่าแมลง ลดการใช้ฮอร์โมน ลดการใช้ปุ๋ยลงได้ ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนลดลงนี่นา แล้วจะกลัวทำไม? คำตอบก็คือ แล้วเราจำเป็นต้องใช้ GMO เพื่อลดต้นทุนค่ายา ค่าปุ๋ย ค่าฮอร์โมนหรือไม่ ในเมื่อเราสามารถทำเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) ได้ โดยการเก็บเมล็ดพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติ เลี้ยงสัตว์หรือปลูกพืชที่ช่วยในการกำจัดศัตรูพืช ทำปุ๋ยจากน้ำหมักชีวภาพ ใช้การเกษตรแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มผลผลิต โดยที่เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ที่ผูกขาดโดยบริษัทการเกษตรก็ได้นี่ ที่สำคัญพืชผักออร์แกนิคก็ขายได้ราคาดีกว่า และกระบวนการผลิตก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและตัวเกษตรกรเองด้วย

5.นักวิทยาศาสตร์อาจจะบอกว่า งั้นเราแก้เรื่องรายรับลดลง โดยการทำพืชให้โตเร็วขึ้น และไม่เน่าเสียก็ได้โดยการตัดต่อพันธุกรรม ผลิตผลการเกษตรเหล่านั้นจะได้ไม่เป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นสูง คำตอบคือ ลองนึกดูว่าถ้ามีพืชผักที่โตได้ในชั่วข้ามคืน และเก็บไว้ ยังไงก็ไม่เน่า ถ้ามีพืชผักเช่นนั้นจริงๆ เราจะกล้ากินพืชผักเหล่านั้นหรือไม่

6.เมล็ดพันธุ์ GMO ยังอันตรายกว่านั้นเสียอีก เพราะบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ย่อมอยากขายเมล็ดพันธุ์ในทุกรอบการเพาะปลูก และต้องการเพิ่มอำนาจผูกขาดให้ตนเอง ดังนั้นไหนๆ ตัดต่อพันธุกรรมได้แล้ว งั้นเราตัดต่อพันธุกรรมให้พืชเหล่านั้นเป็นหมันไปเลยละกัน นั่นคือ ออกผลได้ใน crop แรก แล้วใน crop ต่อไปหากเกษตรกรเก็บเมล็ดไว้ปลูก เพื่อจะได้ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ในรอบการเพาะปลูกหน้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เมล็ดเหล่านั้นจะงอกออกเป็นต้นครับ แต่มันจะไม่มีผล ไม่มีลูก เพราะมันเป็นหมันตามที่เขาตัดต่อยีนเอาไว้ คำถามคือ แล้วเกษตรกรจะทำอย่างไร ลงทุนลงแรงเพาะปลูกไปแล้ว จ่ายเงินค่าน้ำ ค่าแรง ค่าโน้นนี่นั่นไปแล้ว แต่พืชที่งอกกลับไม่ออกลูก แล้วจะเอาอะไรกิน นี่ยังไม่นับรวมค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ที่เกิดขึ้นจากการที่เขาไม่ได้เพาะปลูกพืชอื่นๆ แทนพืชเป็นหมันที่ยืนต้นแต่ไม่ออกลูกพวกนั้นด้วย แล้วพวกเขาจะไปเรียกร้องจากใคร ในเมื่อข้างซองเมล็ดพันธุ์ บริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ก็เขียนเตือนไว้แล้วว่า สามารถเพาะปลูกได้เพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น เผลอๆ โดยจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายอีกต่างหาก หากเกษตรกรรายย่อยพวกนั้นทำเกษตรแบบพันธะสัญญา (Contract Farming) ที่มีข้อตกลง ข้อกฎหมาย ระบุในการเพาะปลูก การซื้อเมล็ดพันธุ์ การส่งมอบผลผลิตที่อาจจะระบุถึงการห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ใน crop ต่อไป การเก็บไว้ใช้เพื่อหวังลดต้นทุน แล้วไม่สามารถส่งมอบผลผลิตได้ อาจหมายถึงการดำเนินคดีตามกฎหมาย

7.หลายๆ คนกลัวเรื่อง พืช GMO ที่จะทำลายพืชท้องถิ่น และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ผมไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ผมไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ แต่นักเศรษฐศาสตร์อย่างผมรู้จัก Gresham's law ที่บอกว่า “Bad money drives out good money” นั่นคือสภาวะที่หากเงินตรามูลค่าเท่ากันถูกผลิตด้วยโลหะมีค่า 2 ชนิด เช่น เงินมูลค่า 1 ดอลลาร์ถูกผลิตด้วยเหรียญจากทองแดง กับเหรียญจากทองคำ แน่นอนเหรียญจากทองคำมีมูลค่าในตัวมันเองมากกว่าเหรียญจากทองแดง ดังนั้นเหรียญทองคำจึงเป็น Good money (Under Value) ในขณะที่เหรียญทองแดงเป็น Bad money (Over Value) เมื่อเป็นแบบนี้ ในที่สุดทุกคนที่ได้เหรียญทองจะเก็บเหรียญทองเอาไว้ (เพื่อเอาไปใช้ทำอย่างอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่า เช่น หลอมทองไปทำเครื่องประดับ) และใช้กันแต่เหรียญทองแดง จนในที่สุดเหรียญทองคำก็จะหายหมดไปจากท้องตลาด เหลือแต่เหรียญทองแดงหมุนเวียนอยู่ในระบบ นั่นคือ Bad money drives out good money ดังนั้นพืช GMO ที่กล้าแกร่งแต่มูลค่าสูงเกินจริง (Over Value) เพราะถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่อาจจะยังไม่รู้ผลดี-ผลเสียของมันเลยก็ได้ ก็ย่อมจะ Drives out พืชพันธุ์ท้องถิ่นซึ่งมีมูลค่า Under Value ให้สูญพันธุ์ไปได้ก็ได้ (ที่พืชพันธุ์ท้องถิ่นซึ่งมีมูลค่า Under Value หรือเราให้ค่าต่ำกว่าเนื้อแท้ของมัน เพราะมันขายไม่ได้ราคาดีทั้งที่พืชเหล่านั้นถูกจรรโลงขึ้นมาโดยสิ่งที่ค่าสูงที่สุดบนโลกใบนี้ นั่นคือ ธรรมชาติ)

8.นักวิทยาศาสตร์บอก ไม่เป็นไร พืชอันไหนที่สูญพันธุ์ไป เดี๋ยวเราก็ตัดต่อพันธุกรรมสร้างพืชแบบนั้นขึ้นมาก็ได้ ผมไม่รู้ว่าพวกเขาทำได้จริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ผมยังไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์คนไหนเอาสัตว์ เอาพืชที่สูญพันธุ์ไปแล้ว กลับคืนมาบนโลกนี้ได้สักที ของบางอย่างเสียแล้ว เสียเลยนะครับ และการสูญหายของสิ่งเหล่านี้มันส่งผลกระทบภายนอกที่บางที่เราอาจจะไม่ได้คำนึงถึงมูลค่ามหาศาลของมันในลักษณะ Externality Cost หรือ Externality Benefit ก็ได้

9.นักวิทยาศาสตร์บอกว่า GMO ไม่อันตราย กินได้ ปลอดภัย ภาพหนูทดลองมีเนื้องอกพวกนั้น ทำวิจัยไม่ถูกต้อง เพราะใช้หนูผิดสายพันธุ์ เอาหนูที่เป็นเนื้องอกง่ายด้วยตัวมันเองมาทดลอง เลี้ยงหนูนานเกินไป เขาเลี้ยงทดลองกันแค่ 90 วันอันนี้เลี้ยง 2 ปี ผลเลยเกินจริง กลุ่มตัวอย่างเล็กเกินไป เลี้ยงแค่ 10 ตัว จริงๆ ต้อง 50 ตัวจะได้ผลที่เชื่อถือได้ทางสถิติ ขอโทษครับ ผมในฐานะคนกินอาหาร และพอมีความรู้ทางสถิติอยู่บ้างขอโต้แย้งครับ ข้อแรก หนูไม่ใช่คนครับ อะไรที่เกิดขึ้นกับหนูไม่จำเป็นว่าจะเกิดขึ้นกับคนครับ นั่นหมายความถ้าหนูมีเนื้องอก คนอาจจะไม่มีเนื้องอก และในทางตรงข้าม หนูไม่มีเนื้องอก คนอาจจะมีเนื้องอกก็ได้ครับ ร่างกายของหนูอาจจะมีส่วนคล้ายหรือมีคุณสมบัติทางชีววิทยาที่คล้ายคน แต่หนูก็ไม่ใช่คนครับ ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถติดตามผลของการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของ GMO ในมนุษย์ที่ติดตามเฝ้าดูกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ว่ากันเป็น 10 ปี 20 ปี และสามารถควบคุมการกิน การอยู่ และสภาพแวดล้อมของคนเหล่านั้นได้ ตราบนั้น GMO ก็ยังเป็นสิ่งที่หลายๆ ประเทศไม่ไว้วางใจครับ และเมื่อไม่ไว้วางใจ หลายๆ ประเทศก็ใช้มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phyto-Sanitary: SPS) ในการควบคุมหรือแม้กระทั่งกีดกันทางการค้าสำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ปนเปื้อน GMO ครับ เช่น ข้าวสาลีส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ตรวจพบการปนเปื้อนของ GMO ทำให้ข้าวสาลีถูกบรรจุใน Watch List ซึ่งหากตรวจพบอีกอาจนำไปสู่การห้ามนำเข้า เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นหาก GMO ปนเปื้อนเมื่อไหร่ ซึ่งโอกาสเป็นไปได้มากขึ้นในทุกๆ วัน ประเทศไทยต้องระวังและมีโอกาสเผชิญหน้ากับมาตรการทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Measure: NTMs) เหล่านี้มากยิ่งขึ้น และมาตรการเหล่านี้องค์กรการค้าโลกอนุญาตให้ใช้ได้นะครับ เพราะมันไม่ใช่การกีดกันทางการค้าแบบ Non-Tariff Barriers: NTBs หากแต่เป็นการปกป้องประเทศนำเข้าเพื่อรักษาสุขอนามัย

10.ในขณะที่เรายังไม่มีผลการศึกษาเรื่องผลกระทบทางลบของ GMO ต่อสุขภาพของคนที่ศึกษาในระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอโดยวิธีการศึกษาที่เชื่อถือได้ ในขณะที่หลายๆ ประเทศยังกีดกันการค้าสินค้าที่ปนเปื้อน GMO และในขณะที่ยังไม่มีใครสามารถรับประกันผลกระทบที่เกิดจากการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมได้ แล้วทางออกคืออะไร? ทางออกคือ Organic Farming เกษตรอินทรีย์ครับ ผมมีงานวิจัยทั้งทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมผู้บริโภค งานวิจัยทางการตลาด และงานวิจัยทางการแพทย์มากมายครับที่แสดงให้เห็นว่า Clean Food คืออาหารที่ปลอด GMO อาหารที่มาจากเกษตรอินทรีย์ อาหารที่สะอาดปลอดภัย และมีการค้าขายอย่างเป็นธรรม หรือ Fair Trade คือกระแสแห่งอนาคต คืออาหารที่ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนขาย คนปรุง และคนกิน คืออาหารที่ดีต่อสุขภาพ คืออาหารที่ผู้บริโภคยินดีจ่ายในราคาที่สูงขึ้นแม้จะซื้อได้ในปริมาณที่ลดลง คือการเพาะปลูกที่ในระยะยาวให้ผลผลิตดีขึ้นด้วยต้นทุนที่ลดลง รวมทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาวะของเกษตรกรอีกด้วย ลองนึกภาพดูนะครับว่าถ้าประเทศไทยสามารถประกาศได้ว่า ต่อไปนี้ผลิตผลทางการเกษตรและอาหารทุกชนิดที่ผลิตจากจังหวัดศรีสะเกษ (สมมติ) เป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เป็นอาหารออร์แกนิค เป็น Clean Food ผมคิดว่า คนซื้อจากทั้งโลกจะแห่มาซื้อสินค้าเกษตรจากศรีสะเกษ ไม่ใช่เพียงให้ราคาสูงเท่านั้น แต่ยังซื้อล่วงหน้าชนิดมีเท่าไหร่ก็เหมาหมด ทั้งนี้เพราะปัจจุบัน Supply ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังมีไม่เพียงพอกับ Demand ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องครับ นักวิทยาศาสตร์อาจจะบ่นว่า ประเทศไทยจะขาดโอกาสในการทำวิจัยและพัฒนาในเรื่องพันธุกรรม พวกคุณก็มาวิจัยปรับปรุงวิธีการผลิตสินค้าเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์แทนซิครับ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ลดการพึ่งพาเมล็ดพันธุ์และเคมีเกษตรจากต่างชาติ จากบริษัทยักษ์ใหญ่ ใช้ธรรมชาติส่งเสริมเกิ้อกูลธรรมชาติ มีโจทย์วิจัยให้สร้างองค์ความรู้ได้อีกมากมาย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอีกด้วย

และถ้าทำทั้งหมดนี้ได้ นั่นแหละครับ แนวทางเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ และเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริขององค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงสอนให้เราพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ใช้ความรู้คู่คุณธรรมเพื่อพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ของชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม อย่างมั่นคง สมดุล และยั่งยืน ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่า แนวทางเกษตรอินทรีย์ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ในขณะที่แนวทาง GMO ไม่ใช่คำตอบครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น