xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทุนพลังงานรุกเกมข่าว ดันสัมปทานให้ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบรรยง พงษ์พานิช ผู้บริหารธุรกิจการเงิน หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด และที่ปรึกษาด้านพลังงานของนายกรัฐมนตรี
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การปฏิรูปพลังงาน นับเป็นประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่งในการปฏิรูป 11 ด้าน ที่ระบุไว้ในมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ร่างขึ้นภายหลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

แต่จนขณะนี้ เวลาผ่านล่วงเลยมา 1 ปีกว่า การปฏิรูปพลังงาน ก็ยังหาทิศทางที่ชัดเจนไม่ได้ แม้ว่าจะมีการเสนอแนวทางจากภาคประชาชนที่ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างแข็งขันและยาวนานอย่างเครื่อข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางใด

ช่วงเวลามาประจวบเหมาะพอดีกับอายุสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยกำลังจะหมดลงในปี 2565-2566 โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เคยประกาศตั้งแต่ปลายปี 2557 ให้เอกชนยื่นข้อเสนอเข้ามาเพื่อขอสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่เป็นรอบที่ 21

อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสคัดค้านการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ดังขึ้นเรื่อยๆ หลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดสินใจสั่งเลื่อนการเปิดสัมปทานออกไป โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาศึกษารายละเอียด โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน ภาคธุรกิจ และประชาชนเข้าร่วม โดยจะให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียมให้เรียบร้อยก่อน จึงจะพิจารณาการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 อีกครั้ง

แต่ในเวลาเดียวกัน ขณะที่การศึกษาของคณะกรรมการร่วมยังไม่ได้ข้อสรุปและยังไม่ไปถึงไหน กระทรวงพลังงานก็ถือโอกาสเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เข้าสู่ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ซึ่งที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ และส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ต่อไป

ส่วนตัวแทนของกลุ่มทุนอย่างนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และตั้งตัวเป็นแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ก็ออกมาเปรยในเชิงข่มขู่ว่า รัฐบาลจะสูญเสียรายได้ 7.15 แสนล้านบาท รวมถึงค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นหน่วยละ 90 สตางค์ หากสิ้นปี 2558 นี้รัฐบาลไม่มีความชัดเจนเรื่องการต่ออายุสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและแหล่งก๊าซบงกช

ส่วนคณะกรรมการนโยบายพลังงานงานแห่งชาติ (กพช.) ก็มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 เห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช ที่อ่าวไทยที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี 2565-2566 ใน 4 แนวทาง คือ 1.การรักษาความต่อเนื่องระดับการผลิตก๊าซไม่ให้ลดต่ำลง 2.ให้มีการคัดเลือกผู้ดำเนินการต่อเนื่องหลังหมดอายุ โดยจะมีการเปิดกว้างทั้งรายใหม่และรายเก่า 3.ต้องเพิ่มสัดส่วนของรัฐบาลในการดำเนินการของภาคเอกชนเพื่อให้รัฐได้รับประโยชน์มากขี้น และ 4.ศึกษาการเรียกเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐในแต่ละรูปแบบ ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและศึกษารายละเอียดตามกรอบใน 4 แนวทางให้ได้ข้อยุติภายใน 1 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช.วันเดียวกันได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 หรือแผน PDP 2015 ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแผนที่มีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่สูงเกินจริง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพิ่ม และเร่งรัดการเปิดสัมปทานแหล่งพลังงานให้เร็วขึ้น โดยอ้างว่า หากเปิดสัมปทานช้าประเทศไทยจะไม่มีแหล่งพลังงานที่เพียงพอ

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผน PDP 2015 ฉบับใหม่ ที่ประชุม กพช.วันที่ 14 พฤษภาคม ยังมีมติเห็นชอบแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ โครงการลงทุนในระยะที่ 1 ของโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ โดยมอบหมายให้ บมจ.ปตท.เป็นผู้ดำเนินการ จำนวน 3 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 13,900 ล้านบาท

ภาคประชาชนอย่าง คปพ.ได้คัดค้านการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน และแผน PDP 2015 มาโดยตลอด โดยเฉพาะร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมนั้น มีเนื้อหาที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนพลังงาน และโน้มน้าวให้รัฐบาลเลือกใช้ระบบสัมปทานมากกว่าระบบแบ่งปันผลผลิต รวมทั้งเป็นร่างกฎหมายไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง

คปพ.ได้ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานทั้ง 2 ฉบับ ถึง พล.อ.ประยุทธ์หลายครั้ง พร้อมเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการปิโตรเลียมของ คปพ. ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญคือการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมากำกับดูแลเรื่องพลังงานของประเทศ ให้รัฐบาลพิจารณาเปรียบเทียบกับร่างของกระทรวงพลังงาน และทำประชาพิจารณ์ก่อนส่งต่อให้ สนช.เห็นชอบต่อไป

พร้อมทั้งเสนอมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อแก้ไขปีญหาการขาดแคลนพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้ต้องเร่งรีบเปิดสัมปทาน ด้วยการให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เปิดประมูลแข่งขันในการผลิตปิโตรเลียม ที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเฉพาะแปลงที่มีศักยภาพสูง โดยกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องยินยอมปรับปรุงเงื่อนไขของสัญญาเพื่อให้การผลิตดำเนินต่อไปโดยไม่ขาดตอน รวมทั้งต้องมอบอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ และให้รัฐสามารถเข้าพื้นที่เพื่อรับมอบการโอนถ่ายการผลิตปิโตรเลียมก่อนหมดอายุสัมปทาน

ข้อเสนอเรื่องการใช้มาตรา 44 เปิดประมูลแข่งขันในการผลิตปิโตรเลียม ไม่ได้รับการตอบสนองที่ชัดเจนเท่าที่ควร แต่ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับนั้น รัฐบาลได้ให้กระทรวงพลังงานนำกลับไปทบทวนใหม่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง

โดยในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้รองนายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล และกระทรวงพลังงาน ทำความเข้าใจต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยให้เชิญคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ และกลุ่มผู้มีความเห็นต่าง ร่วมรับฟังความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ตลอดจนให้ศึกษาประเด็นข้อร้องเรียนของ คปพ.ด้วย

ขณะที่รัฐบาลมีท่าทีที่จะรับฟังข้อเสนอของภาคประชาชนมากขึ้น แต่ฝ่ายตัวแทนกลุ่มทุนพลังงาน ได้เดินเกมทางด้านข้อมูลข่าวสารเพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่โดยเร็ว

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องการแก้ไขร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน โดยอ้างว่า สนช.ได้ส่งตัวแทนซึ่งบางท่านอยู่ใน คปพ.มาร่วมประชุมร่วมและเห็นว่า ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มอีกจากที่กระทรวงเสนอไป เพียงแต่หากต้องปรับระเบียบอะไร ก็ให้ออกประกาศโดยคณะกรรมการปิโตรเลียมได้ ซึ่งก็ถูกตอบโต้จาก คปพ.ทันที ว่า กรรมาธิการฯ ของ สนช.ที่มี ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ตัวแทนของ คปพ.ร่วมอยู่ด้วย เคยยื่นหนังสือและแถลงในที่ประชุมว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานทั้งสองฉบับ พร้อมทั้งขอให้ผู้แทนกระทรวงพลังงานเซ็นรับทราบหนังสือดังกล่าวด้วย แต่ผู้แทนกระทรวงพลังงานกลับแสดงความไม่พอใจ และปฏิเสธที่จะเซ็นรับหนังสือดังกล่าว โดยมีเทปการประชุมทั้งหมดเอาไว้เป็นหลักฐานแล้วด้วย กรณีนี้จึงเชื่อว่า ตัวแทนของกระทรวงพลังงานได้รายงานเท็จต่อรัฐมนตรี เพื่อนำไปเสนอ ครม.ให้เห็นชอบร่างกฎหมายทั้งสองฉบับหรือไม่

ขณะเดียวกัน นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด และที่ปรึกษาด้านพลังงานของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นสมาชิก ERS ร่วมกับนายปิยสวัสดิ์ ก็ได้เผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาในทำนองดูแคลนและใส่ร้ายป้ายสี คปพ.ว่า ได้เสนอแนวทางที่เป็นสังคมนิยมชาตินิยมที่ล้มเหลว จะพาการพัฒนาประเทศไปสู่หายนะ ซึ่งก็ถูกตอบโต้จาก น.ส.รสนา ดตสิตระกูล อดีต สปช.ด้วยพลังงานว่าเป็นการให้ร้ายป้ายสีเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความต้องการคงการผูกขาดของกลุ่มทุนพลังงานเอาไว้ภายใต้เสื้อคลุมทุนนิยมเสรีนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น