xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ร้องนายกฯ ทบทวนร่าง กม.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ-ห้าม รมว.พลังงานเสนอข้อมูลเท็จ ครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟนเพจ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ทบทวนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงานที่ยังไม่ตอบข้อสงสัยของภาคประชาชน และหยุดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ทั้ง 29 แปลง พร้อมสั่ง รมว.พลังงานอย่านำข้อมูลเท็จเสนอ ครม. พร้อมเปิดโอกาส คปพ.เข้าพบนำเสนอความเห็นการปฏิรูปพลังงานโดยตรง ก่อนร่าง กม.ปิโตรเลี่ยมทั้งสองฉบับจะเข้าสู่ ครม.อีกครั้ง

วันนี้(25 พ.ย.) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กพร. (ฝั่งตรงกันข้ามกับประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้เข้ายื่นหนังสือ ที่ คปพ. 030/2558 ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรี ทบทวนการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่ยังไม่ตอบข้อสงสัยของภาคประชาชน และหยุดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จำนวน 29 แปลง และสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มิให้นำข้อมูลที่เป็นเท็จเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเปิดโอกาสให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เข้าพบเพื่อนำเสนอและให้ความเห็นการปฏิรูปพลังงานโดยตรง ก่อนที่จะนำเสนอร่างแก้ไข เพิ่มเติม พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ.เสนอโดยกระทรวงพลังงาน เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

หนังสือดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ลงข่าวพาดหัวว่า “คาดเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่เร็วสุดกลางปี ๕๙” ปรากฏคำสัมภาษณ์ของพล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ความตอนหนึ่งว่า

“โดยที่ผ่านมา ครม.สั่งให้ไปหารือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าควรจะแก้ไขกฎหมายอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา สนช.ส่งตัวแทนส่งที่ปรึกษาซึ่งบางท่านอยู่ใน คปพ.มาประชุมร่วมและเห็นว่า ไม่ต้องแก้ไขกฏหมายเพิ่มอีกจากที่กระทรวงฯ เสนอไป เพียงแต่หากต้องปรับระเบียบอะไร ก็ให้ออกประกาศโดยคณะกรรมการปิโตรเลียมได้

ช่วงที่ผ่านมาได้หารือกับภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญพลังงาน และข้าราชการ ซึ่งจะมองถึงความมั่นคงพลังงาน และทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ซึ่งกรณีเปิดสำรวจปิโตรเลียม ดูแล้วก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มจากที่เสนอไปแล้ว เพียงแต่คณะกรรมการปิโตรเลียมสามารถออกประกาศตามข้อเสนอภาคประชาชนให้กำหนดแหล่งว่าให้ใช้พีเอสซีหรือสัมปทานก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่ ครม.ว่าจะเห็นชอบอย่างไร”

พล.อ. อนันตพร ยอมรับว่ามีความกังวลเกี่ยวกับการเปิดสำรวจรอบนี้ว่าจะมีนักลงทุนสนใจมากน้อยเพียงใด เพราะจากราคาน้ำมันดิบที่ลดต่ำลงมาถึงระดับ ๔๐ ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และมีการคาดว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีก ๒ ปี มีความกังวลว่าภาคเอกชนอาจไม่สนใจเข้าร่วมยื่นขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากอาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน”


หากคำสัมภาษณ์ของพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีความถูกต้อง เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีความเห็นว่า คำสัมภาษณ์ดังกล่าวมีข้อความที่เป็นเท็จและรวมถึงมีประเด็นที่ต้องโต้แย้งในสาระสำคัญดังต่อไปนี้

คำสัมภาษณ์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่ากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีสั่งการแล้ว โดยได้ประชุมหารือกับผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และรวมถึงตัวแทนของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และที่ประชุมเห็นว่า ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มอีกจากที่กระทรวงฯ เสนอไป เพียงแต่หากต้องปรับระเบียบอะไร ก็ให้ออกประกาศโดยคณะกรรมการปิโตรเลียมได้นั้น

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอยืนยันว่าคำสัมภาษณ์ดังกล่าวนั้นเป็นเท็จอยู่หลายประการ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ภายใต้คำสั่งของคณะกรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ ท.กมธ. ๒ (๑)/๒๕๕๘ เรื่องตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ได้แต่งตั้งคณะทำงานจำนวน ๑๐ คน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับ พร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อกรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานคณะทำงาน พร้อมกับข้าราชการจากกระทรวงพลังงานฝ่ายหนึ่ง และมี พล.อ.ท. ธรรมนิตย์ สิงห์คะสะ นายคุณานันท์ ทยายุทธ นายประภาส คงเอียด หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี เป็นผู้แทนจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่ง หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี ก็เป็นกรรมการในเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ด้วย

ทั้งนี้คณะทำงานได้มีการประชุมและเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินการตามคำสั่ง ระหว่างวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมีการประชุมคณะทำงานจำนวน ๖ ครั้ง สรุปผลการประชุมดังนี้

๑.คณะทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่เห็นด้วย กับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยขอให้นำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมาบรรจุในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย

๒.คณะทำงานของกระทรวงพลังงาน แจ้งว่าไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯศึกษาได้ เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นชอบแล้ว แต่จะนำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯในประเด็นที่สามารถนำไประบุไว้ในกฎกระทรวงหรือประกาศเชิญชวนผู้เข้าร่วมประมูล

ซึ่งผลการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมชั้น ๒๕ อาคารสุขประพฤติ ได้ถูกบันทึกเสียงปรากฏในซีดีตามสิ่งที่ส่งมาด้วย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอนำผลสรุปตามการถอดเทปในเวลานาทีที่ ๒๗.๔๘ เป็นต้นไปดังนี้

(นาทีที่ ๒๗.๔๘) เลขาฯที่ประชุมที่ได้นำเสนอมติของคณะทำงานฯฝ่ายสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมและร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่กระทรวงพลังงานเสนอดังนี้

“ผมขออนุญาตนำในส่วนที่เป็นข้อสรุปเลยนะครับ หลังจากที่ได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสองคณะทำงานของกระทรวงพลังงานและของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ฉบับที่ พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ฉบับที่ พ.ศ..... ต่อคณะทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อหารือและพิจารณาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งสองฉบับ และให้ได้ข้อสรุป ดังนั้นภายหลังจากการประชุมร่วมกันดังกล่าว จึงได้ข้อสรุปดังนี้

๑. เห็นควรให้คณะทำงานทั้งสองฝ่ายไปดำเนินการตามแนวทางการเสนอร่างพระราชบัญญัติของทั้งสองฝ่าย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗ ตามอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีต่อไป อันนี้ก็คือว่า เหมือนกับแต่ละฝ่ายก็ไปดำเนินการในส่วนของอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายต่อไป ตามอำนาจหน้าที่นะครับ

๒. คณะทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งสองฉบับของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเห็นควรยืนยันให้นำความเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาศึกษาอย่างรอบด้านทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การจูงใจนักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ให้เข้าร่วมลงทุนในการบริหารจัดการปิโตรเลียมของประเทศ และประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติในการจัดเก็บรายได้เข้าสู่รัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน มาประกอบในการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียม และกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของคณะรัฐมนตรี”


(นาทีที่ ๒๙.๕๒) พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ประธานที่ประชุมคณะทำงานฝ่ายกระทรวงพลังงานกล่าวว่า

“ผมว่าจะบอกไม่เห็นด้วยเนี่ย มันไม่ได้น่ะ
คือว่าไม่เห็นด้วย เราไม่มีหน้าที่ในการพิจารณาว่าไม่เห็นด้วย ถูกไม๊ครับ คือขณะนี้เราน่าจะมองอย่างที่ผมพูดให้ฟังว่า เราควรที่จะมองว่ามติครม.ให้เรามาพูดคุยมาชี้แจงกัน ประเด็นคือมาชี้แจงแล้ว เมื่อชี้แจงแล้ว การชี้แจงของเราก็มีการทำความเข้าใจกัน แต่มีบางมาตราหรือบางประเด็น ที่มันไม่สามารถที่จะตกลงได้ ที่ยังมีข้อห่วงใยหรือข้อต่างๆที่ยังแก้ไม่ได้ เพราะระบบมันแก้ไม่ได้ ผมว่าเป็นอย่างนี้มากกว่า ไม่ใช่ท่านไม่เห็นด้วย ท่านเห็นด้วย แต่บังเอิญสิ่งที่ท่านเห็นด้วยเนี่ย มันยังไม่ครบถ้วนกระบวนความ”

(นาทีที่ ๓๑.๐๓) พล.อ.ท.ธรรรมนิตย์ สิงห์คะสะ ประธานที่ประชุมคณะทำงานฝ่าย สนช. กล่าวในที่ประชุมต่อว่า

ยืนยันครับ ไม่เห็นด้วยครับ เพราะว่าในสิ่งที่กระทรวงร่างมานั้นไม่ได้เข้ากับสิ่งที่เราศึกษาครับ

(นาทีที่ ๓๑.๑๗) พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ประธานที่ประชุมคณะทำงานฝ่ายกระทรวงพลังงานกล่าวตอบว่า:

“ก็ไม่เป็นไร ถ้าท่านว่าอย่างนั้น มันเป็นสิทธิของท่าน ไม่เป็นไร ผมก็เรียนท่านรัฐมนตรี

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเป็นการยืนยันว่าคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ทำให้เข้าใจได้ว่าผลการหารือกับผู้แทนกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ต่างเห็นด้วยกับกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับที่เสนอโดยกระทรวงพลังงานนั้นเป็นความเท็จอย่างสิ้นเชิง และหากนำผลของการประชุมอันเป็นเท็จมาใช้ในการอ้างอิงเพื่อสร้างความชอบธรรมหรือขอความเห็นชอบโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกรัฐมนตรี หรือ คณะรัฐมนตรี ก็จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายในการใช้ข้อมูลเท็จดังกล่าวด้วย


การแอบอ้างใช้ข้อมูลเท็จดังกล่าวที่อาจทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกรัฐมนตรี ตลอดจนคณะรัฐมนตรีหลงผิดในข้อมูล ซึ่งอาจทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดหรือเสียหายต่อประเทศชาตินั้น ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก หากแต่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วถึง ๒ ครั้งก่อนหน้านี้ ได้แก่

ครั้งที่หนึ่งนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือกระทรวงพลังงาน เลขที่ พน ๐๓๐๗/๔๔๔ ลงวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ โดยอ้างความตอนหนึ่งว่า

“...อนึ่ง ประเด็นข้อร้องเรียนเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มผู้เห็นต่างหรือเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยนั้น กระทรวงพลังงานได้เคยชี้แจงจนได้ข้อยุติแล้ว ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดียาธร เทวกุล) ได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งด้วยแล้วเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ถึงความจำเป็นและเร่งด่วนของพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ เพื่อรองรับการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของไทย...”

ครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ลงข่าวหัวข้อ “กระทรวงพลังงาน เตรียมลงทุน ๖๕๐,๐๐๐ ล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ๒ ฉบับเข้า ครม.เดือนนี้”(ตามสิ่งอ้างถึง ๒) ปรากฏคำสัมภาษณ์ของพล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ความตอนหนึ่งว่า

“กระทรวงพลังงานแก้ไขรายละเอียดบางมาตราตามที่ได้หารือร่วมกับตัวแทนของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย อาทิ เรื่องการจัดภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง เพื่อให้ภาครัฐได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

ซึ่งในข้อเท็จจริงปรากฏว่า กระทรวงพลังงานไม่เคยส่งตัวแทนผู้มีอำนาจในการเจรจาหรือตัดสินใจอย่างแท้จริงเข้าร่วมประชุมกับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) แม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะมีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หรือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และการพูดคุยทุกครั้ง ไม่เคยได้ข้อยุติ เพราะผู้แทนกระทรวงพลังงานไม่เคยตอบโต้ หรือโต้แย้งในประเด็นข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และไม่เคยตอบเหตุผล ว่าเหตุใดจึงไม่แก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยก็ไม่เคยเห็นด้วยกับร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง ๒ ฉบับที่ร่างโดยกระทรวงพลังงาน เช่นเดียวกับกรรมาธิการวิสามัญฯของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กฎหมายของกระทรวงพลังงานที่ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงระบบการจ้างผลิต ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสที่จะนำแหล่งปิโตรเลียมของสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุลงให้กลับมาเป็นของรัฐ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งจะไม่สามารถตอบสนองข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ ได้ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๕๐๕/ว ๑๔๑ ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ เรื่อง ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ว่า

“ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (๒๐ เมษายน ๒๕๕๘) ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ ๒๑ และแนวทางการบริหารจัดการสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุ แล้วรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป นั้น ให้กระทรวงพลังงานศึกษาความเป็นไปได้และพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุลงแล้วในกรณีที่รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวแทนเอกชนรายเดิมต่อไป

จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่าจากบทสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน “หลายครั้ง” แสดงถึงความเข้าใจที่ยังมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอยู่เป็นอันมาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานควรจะได้รับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงจากการประชุมร่วมกับคณะกรรมธิการวิสามัญฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) โดยตรง เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนจากการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายพลังงานที่สำคัญระดับชาติเช่นนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับคำบัญชาของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกฎหมายที่มีความขัดแย้ง เพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างสร้างสรรค์และจริงใจต่อประชาชน จึงขอให้นายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาให้ความเห็นชอบดังนี้

๑.สั่งการหรือมีนโยบายให้หยุดร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ (ฉบับที่..) พ.ศ.... ของกระทรวงพลังงาน ที่ยังไม่ตอบข้อสงสัยของภาคประชาชนหรือคำถามของภาคประชาชนในทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายให้ครบถ้วนตามรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

๒.ให้หยุดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ ในครั้งเดียวจำนวน ๒๙ แปลง ซึ่งมีจำนวนแปลงปิโตรเลียมมากเกินไป ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันการประมูลเสนอผลตอบแทนแก่รัฐได้สูงสุดจริงในทางปฏิบัติ และราคาปิโตรเลียมลดลงอย่างต่อเนื่องไม่เอื้ออำนวยต่อบรรยากาศการแข่งขันการเสนอผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดได้จริง

๓.สั่งการหรือมีนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดโอกาสให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เข้าพบเพื่อนำเสนอและให้ความเห็นการปฏิรูปพลังงานโดยตรง ก่อนที่จะนำเสนอร่างแก้ไข เพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ของกระทรวงพลังงาน ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อป้องกันการตัดตอน บิดเบือนข้อมูล ดังที่เกิดมาแล้วหลายครั้ง ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นจนได้ข้อยุติ สิ้นกระแสสงสัย อันจะนำไปสู่แนวทางการปฏิรูปพลังงานอย่างสร้างสรรค์ จริงใจ และโปร่งใส


ทั้งนี้ เพื่อแสดงความจริงใจต่อการที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เคยเกษียนหนังสือถึงเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๘ ว่า “ทราบ/เห็นชอบ/ให้ ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใส/เป็นธรรม” ปรากฏตามภาพด้านล่างนี้

จึงขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาสั่งการตามข้อเรียกร้อง ๑, ๒ และ ๓ ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)

ภาพจากแฟนเพจ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
ภาพจากแฟนเพจ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น