"คปพ."ยกระดับจัดตั้งมูลนิธิเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานและทรัพยากรไทย(SERF) เพื่อดำเนินงานเชิงรุกด้านปฏิรูปพลังงาน ระดมเงินช่วยเหลือคดีประชาชนหลังถูกกระทรวงพลังงานและปตท.ดาหน้าฟ้องหวังปิดปาก เตรียมฟ้องกลับตอบหวังพิสูจน์ความจริง พร้อมยื่นนายกฯปลดผู้บริหารกระทรวงพลังงานและบอร์ดปตท.โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ยึดแนวทางปรองดอง
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เปิดเผยหลังการเปิดแถลงข่าว "ประเด็นร้อนพลังงานไทยและก้าวต่อไปของภาคประชาชน"เมื่อวันที่ 22พ.ย.58ว่า เพื่อเป็นการยกระดับการทำหน้าที่ของภาคประชาชนให้มีประสิทธิภาพในด้านปฏิรูปพลังงานไทยคปพ.จึงจัดตั้งมูลนิธิเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานและทรัพยากรไทย(SERF)ให้เป็นองค์กรนิติบุคคลและเตรียมระดมทุนเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือคดีความให้กับประชาชนที่ถูกหน่วยงานรัฐและบมจ.ปตท.โดยเฉพาะคนบางกลุ่มฟ้องร้องเพื่อปิดกั้นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน พร้อมกับจะดำเนินการฟ้องกลับหน่วยงานดังกล่าวควบคู่ไปด้วย
"ประชาชนจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวด้านพลังงานแต่ถูกรังแกจากการฟ้องร้องของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่มในกระทรวงพลังงานและบมจ.ปตท.เพื่อหวังจำกัดความเคลื่อนไหว เราเห็นความจำเป็นที่จะต้องไปช่วยเหลือในทางคดีความการประกันตัวและฟ้องกลับทั้งกล่าวหาเท็จ หมิ่นประมาทตอบโต้เพื่อพิสูจน์ความจริงและเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เราจึงเปิดบัญชีรับบริจาคเงินจากพี่น้องประชาชนเพื่อดำเนินการและวางรากฐานในการต่อสู้เพื่อปฏิรูปพลังงานช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ซึ่งทุกท่านสามารถสนับสนุนก่อตั้งมูลนิธิ SERF ซึ่งแปลว่าข้าของแผ่นดินมา ได้โดยโอนเงินบัญชีไปยังบัญชีมาที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายประการ ก่อเกียรติจรูญ และน.ส.ณิชาภา พิศสุวรรณ ธ.กสิกรไทย สาขาอาคารซันทาวเวอร์ส เลขที่บัญชี 696-2-09141-3"นายปานเทพกล่าว
ปัจจุบันพบว่ากระทรวงพลังงานและปตท.ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนในข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ทั้งที่หน่วยงานรัฐเหล่านี้ไม่สามารถตอบคำถามที่ชัดเจนให้ประชนได้อย่างสมบูรณ์และยังขัดต่อคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหลายด้านโดยเฉพาะกรณีครม.เมื่อ 21ก.ค.58ที่มอบหมายให้กระทรวงพลังงานทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายเกี่ยวกับประเด็นกฏหมายปิโตรเลียมตลอดจนศึกษาข้อเรียกร้องของคปพ.ด้วย แต่กระทรวงพลังงานกลับไม่ส่งผู้แทนที่มีอำนาจมาหาทางออกร่วมกันและไม่ตอบคำถามใดๆที่ทางคปพ.โต้แย้งไปเลยแต่กลับไปดำเนินคดีฟ้องร้องแทน ดังนั้นจึงขอให้นายกรัฐมนตรีมีนโยบายเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในกระทรวงพลังงานและกรรมการบมจ.ปตท.โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกกรรมที่ไม่นำไปสู่ความปรองดองและเป็นปรปักษ์ต่อการตรวจสอบของประชาชน
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำคปพ.กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามที่จะเร่งรัดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2015 และเกี่ยวเนื่องกับการเร่งรัดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 หากพิจารณาข้อเท็จจริงจะพบว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าตลอดแผนนั้นสูงเกินกว่ามาตรฐาน 15% ปัญหาไฟฟ้าจะขาดแคลนเหมือนที่กระทรวงกล่าวอ้างหากไม่เร่งรัดโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่จริง ขณะเดียวกันท่ามกลางราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังคงเป็นขาลงเช่นปัจจุบันการเปิดสัมปทานฯยิ่งไม่ทำให้เกิดการแข่งขันไม่ว่าจะใช้ระบบการเปิดสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต (PSC ) ก็ตาม
"ราคาก๊าซฯตลาดโลกลดลงต่อเนื่องเฉลี่ยเทียบกับอดีตที่เคยสูงลงไปกว่า 50% แต่ราคาก๊าซฯจากการเปิดสัมปทานในอ่าวไทยก็ยังคงไม่ได้ลดลงแต่อย่างใดโดยสูงกว่าตลาดโลกเกือบ 3เท่าชี้ให้เห็นว่าการเปิดสัมปทานไม่ได้เอื้อประโยชน์กับประชาชนดังนั้นเวลานี้จึงควรจะปฏิรูปกฎหมายพลังงานให้ทันสมัยเสียก่อนเพื่อให้โปร่งใสและเป็นธรรม ผลประโยชน์ตกแก่ชาติอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมามีการศึกษาแนวทางปฏิรูปพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจากกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีประเด็นที่ต้องแก้ไขถึง 40 ประเด็นแต่กระทรวงพลังงานกลับเสนอร่างกม.พลังงานของตนเองที่มีเพียง 3 หน้าแทน"ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว
นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ แกนนำคปพ. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย.นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงผ่านเว็บไซต์ศูนย์บริการร่วมว่า จะรักษาระดับปริมาณสำรองไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ระยะยาวไม่เกิน 15% ในช่วงปลายแผนและแจงว่าระหว่างปี 2562-2567สำรองไฟที่สูงจะสามารถส่งออกขายไผให้เพื่อนบ้านแบบ Grid to Grid ให้กับเมียนมา ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากระทรวงยอมรับแล้วว่ามีกำลังไฟสำรองเกิน 15% จึงไม่ได้วิกฤติจริงอย่างที่พูด และวันที่ 16 พ.ย.ยังระบุว่าหากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เกิดตามแผนจะมีผลต่อค่าไฟฟ้าที่สูงเพราะต้องนำเข้าLNGแทนดังนั้นเมื่อสำรองไฟสูงก็ไม่จำเป็นต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าใหม่แต่อย่างใดเพราะส่วนเกินคือภาระที่ประชาชนต้องแบกรับในรูปของค่าไฟ