xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” กังขา PDP 2015 คาดการณ์ใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริงเพิ่มภาระ ปชช.-จี้ทบทวนใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แกนนำ คปพ.ตั้งข้อสังเกต PDP 2015 กระทรวงพลังงาน คาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินอัตราเติบโตจีดีพีที่แบงก์ชาติคำนวณ ส่งผลตัวเลขความต้องการไฟฟ้าตลอดแผน 20 ปีสูงเกินจริง จนต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มภาระค่าไฟให้ประชาชน จี้ทบทวนใหม่ ระบุหากคำนวณจากฐานความเป็นจริง ถึงปีสุดท้ายจะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกือบ 3 พันเมกะวัตต์ เทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 3.5 โรง

วันนี้ (20 ต.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 10.55 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ตั้งข้อสังเกตต่อแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) ของกระทรวงพลังงาน ที่มีการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเกินความเป็นจริง จนนำไปสู่การเร่งสร้างโรงไฟฟ้า ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น และรัฐบาลนำไปเป็นข้ออ้างในการเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมจนขาดความรัดกุมรอบคอบ ดังนี้

“1. กระทรวงพลังงานอ้างว่า การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดแต่ละปีมาจากการสมมติฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ 20 ปี เฉลี่ยปีละ 3.94% ส่งผลทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด จากปี 2557 (ที่รู้ข้อมูลจริงแล้ว) ไปสู่การคาดการณ์ถึง ปี 2579 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2.83% ต่อปี

2. เมื่อการคาดการณ์ค่าเฉลี่ยความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 2.83% ต่อปี เหตุใดจึงใช้วิธีถ่วงน้ำหนักให้ 6 ปีแรก (พ.ศ. 2558-2563) เกินค่าเฉลี่ยสูงเกินกว่าปีละ 2.83% ไปอย่างมาก (ตั้งแต่ 3.49-5.13%) ส่งผลทำให้ "ต้องเร่ง"สร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นหรือเร่งสร้างโรงไฟฟ้าก่อนเวลาอันควรไปอย่างมากด้วยเช่นกัน จริงหรือไม่?

3. ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2558 อยู่ที่ 2.7%-3.0% เท่านั้น (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3.94% ต่อปี) แต่แผน PDP 2015 กลับคาดการณ์ว่าปี 2558 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มขึ้นกว่าปี 2557 ถึง 5.13%!!! ซึ่งไม่สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเลย คำถามคือตัวเลขนี้มาได้อย่างไร?

แต่ในความเป็นจริง ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2558 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 (ผ่านฤดูร้อนที่ใช้ไฟสูงสุดไปแล้ว) อยู่เพียงแค่ 27,346 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าแผน PDP 2015 ที่ตั้งเอาไว้ที่ 29,015 เมกะวัตต์ นั่นหมายถึงการคาดการณ์สูงเกินความเป็นจริงไปถึง 1,705 เมกะวัตต์ (มากเกินจริงเทียบเท่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ 2 โรงกว่าๆ)

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าจะมองในมิติความแม่นยำในการคาดการณ์ของแผน PDP 2015 พบว่า : “การคาดการณ์ปี 2558 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด “เพิ่มขึ้น” กว่าปี 2557 ถึง 5.13% แต่ในความเป็นจริง ปี 2558 กลับ “ลดลง” 1.04%”

การคาดการณ์สามารถคลาดเคลื่อนได้ แต่แผนพัฒนาผลิตไฟฟ้า PDP 2015 นี้เพิ่งปรับปรุงทำเสร็จเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 นี้เอง แต่การคาดเคลื่อนถึงขั้นไม่สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และไม่สอดคล้องกับตัวเลขที่รู้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นจริงในครึ่งปีแรกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 ตรงนี้ต่างหากที่น่าจะตั้งคำถามกับกระทรวงพลังงานว่าเกิดอะไรขึ้น?

และฐานคำนวณปี 2558 นี้เองที่สูงเกินจริงได้ส่งผลทำให้แผน PDP 2015 สูงเกินจริงตลอด 20 ปีด้วย โดยจากฐานคำนวณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2558 ที่เกินความเป็นจริงเช่นนี้ หากจะลองสมมุติแก้เฉพาะปี 2558 ให้เป็นไปตามความเป็นจริง แล้วดำเนินรอยตาม % อัตราการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดตามแผน PDP 2015 ในปีที่เหลือจะพบว่าเมื่อถึงปี 2579 หรือปีที่ 20 ของแผนนี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะลดลงไปถึง 2,915 เมกกะวัตต์ หรือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ประมาณ 3.5 โรง หรือเทียบเท่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประมาณ 3 โรง

การที่เรามีแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้าที่ใช้ฐานคำนวณจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกินความเป็นจริงนั้น ย่อมทำให้ประเทศไทยต้องทำแผนเร่งสร้างโรงไฟฟ้าเกินความต้องการไปอย่างมาก ส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าทุกครัวเรือนต้องสูงเกินความเป็นจริงไปด้วย อีกทั้งยังทำให้รัฐบาลตื่นตระหนกกลัวไฟฟ้าไม่พอใช้ จนนำไปสู่การเร่งสัมปทานปิโตรเลียม เพื่อเร่งหาก๊าซธรรมชาติเพื่อมาผลิตไฟฟ้าจนมองข้ามความรัดกุม และรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติไปด้วย จริงหรือไม่?

“ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานอาจต้องทบทวนแผนผลิตไฟฟ้า PDP 2015 อีกครั้ง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน” นายปานเทพระบุ

กำลังโหลดความคิดเห็น